
ปิดตำนาน...'ประกวดพระที่พันธุ์ทิพย์'
ปิดตำนาน..."ประกวดพระที่พันธุ์ทิพย์" : โดย เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู
"ต่อไปนี้ที่ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน จะไม่มีการจัดงานประกวดพระอีกแล้ว หน่วยงานใดจะจัดงานต้องหาที่จัดประกวดเอง" นี่เป็นคำยืนยันของนายชัยณรงค์ เรืองประโคน หรือ แป๋ว มรดกไทย ผู้ช่วยเลขานุการสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย ซึ่งเป็นผู้ลงตารางงานประกวดพระ โดยปกติแล้วทุกๆ ปี การจองงานประกวดพระที่ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วานปลายเดือนธันวาคมจะยาวไปถึงประมาณ ๓ เดือน แต่ปีนี้ไม่มีเลยสักงาน แม้แต่งานของสมาคมเอง
อย่างไรก็ตาม เดิมทีนั้น สมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย จะปิดตำนานงานประกวดพระที่ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน โดยได้กำหนดงานไว้ วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๔ แต่ด้วยปัญหาน้ำท่วมใหญ่จึงต้องเลื่อนและย้ายสถานที่จัดงานไปจัดในที่ ๑๐-๑๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ต้องย้ายไปจัดที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม อาคาร ๙ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตำนานการประกวดพระครั้งสุดท้ายที่ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน จึงกลายเป็นงานของคณะกรรมการเตรียมทหาร ๑๗๓๓ ซึ่งจัดไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๔
แม้ว่าจะไม่สามารถจัดงานที่พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วานได้ แต่คิวจองงานประกวดพระขณะนี้ยาวถึงสิ้นปี โดยผู้จัดได้หาสถานที่เอาเอง เช่น วันที่ ๖ พฤษภาคม สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส จัดที่หอประชุมกองทัพเรือ เป็นต้น
การประกวดพระที่ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน กลายเป็นตำนาน มีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน เมื่อบริษัทเบียร์ช้างได้ซื้อศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ซึ่งเดิมทียังไม่มีแผนพัฒนาอะไรที่เด่นชัด จนกระทั่งกลางปี ๒๕๕๔ มีแผนออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า ๒,๕๐๐ ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนส่วนหนึ่งไปปรับปรุงพื้นที่ชั้น ๖, ๗ และ ๘ รวมพื้นที่ต้องปรับปรุง ๒๑,๐๐๐ ตารางเมตร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะเพิ่มความหลากหลายของร้านค้าและสินค้า ที่เข้ามาขายภายในศูนย์มากขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะสินค้าไอที ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ชั้น ๘ ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดงานประกวดพระไม่สามารถทำได้ ในขณะที่พื้นที่ชั้น ๗ เคยเป็นลานจอดรถกลายเป็นร้านค้า ทำให้พื้นที่จอดรถซึ่งน้อยอยู่แล้วกลับน้อยลงไปอีก
"ผมไม่คิดมาก่อนว่า การประกวดพระที่ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วานกลายเป็นอีก ๑ ตำนานของวงการพระเครื่องไปแล้ว งานประกวดพระที่นี่เริ่มตั้งแต่เป็นห้างบางลำภู งามวงศ์วาน เมื่อ ๑๐ ปีก่อน เมื่อเปลี่ยนมาเป็นพันธุ์ทิพย์ก็ไม่มีผลกระทบใดๆ จนกระทั่งกลางปี ๒๕๕๔ ก็มีการพูดคุยกับผู้บริหารห้าง เบื้องต้นมีการพูดคุยกันว่า ปี ๒๕๕๕ ทางห้างจะให้ใช้พื้นที่ได้เดือนละครั้ง แต่ด้วยข้อจำกัดให้ใช้พื้นที่ชั้น ๘ เพียงครึ่งเดียว ซึ่งปกติเต็มทั้งชั้นไม่พออยู่แล้ว ในที่สุดงานประกวดพระที่นี่จึงกลายเป็นตำนาน" นี่เป็นคำบอกเล่าของนายพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
พร้อมกันนี้ นายพยัพ ยังบอกด้วยว่า ในอดีตนั้นหากหน่วยงานใดๆ ในกรุงเทพฯ จะจัดงานประกวดพระเครื่อง ต้องเลือกห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน เป็นอันดับแรก จัดอย่างไรก็ได้กำไร เพราะคนในวงการพระรู้จักเป็นอย่างดี เดินทางไปมาสะดวก เฉพาะค่าผ่านประตูและค่าเช่าแผงพระก็ครอบคลุมค่าเช่าสถานที่ นอกนั้นเป็นกำไรล้วนๆ แต่นับจากนี้เป็นต้นไป ใครที่คิดจะจัดงานประกวดพระในอนาคตต้องคิดให้มากกว่าเดิม อย่าคิดว่าจะจัดแล้วได้กำไรเสมอไป สถานที่จะเป็นตัวแปรสำคัญของกำไรขาดทุน
สำหรับงานประกวดพระที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย คืองานประกวดพระในต่างจังหวัด และน่าจะมีกำไรมากขึ้นโดยเฉพาะจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ เช่น นครปฐม สุพรรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สมุทรปราการ เพราะนับตั้งแต่ต้นปีหน่วยงานราชการในกรุงเทพฯ ยังไม่มีการจองงานประกวดพระเครื่องมายังสมาคม ส่วนใหญ่จะเป็นงานในต่างจังหวัดทั้งสิ้น
ทั้งนี้ นายพยัพ พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "ตอนอยู่พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำนั้น ผมช้ำมาครั้งหนึ่งแล้ว จากห้างที่เคยร้าง เมื่อศูนย์พระไปอยู่ก็กลายเป็นห้างที่มีคนเดิน ตอนแรกอยู่ชั้นล่างทำเลดีที่สุด จากนั้นย้ายไปอยู่ชั้น ๒ ย้ายไปย้ายมาก็อยู่ไม่ได้ ในที่สุดต้องย้ายมาอยู่ที่ห้างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน แรกๆ ก็โอบอุ้มคนวงการพระให้เลือกชั้นที่อยู่ได้ แต่เมื่อเขาขอคืนพื้นที่ไม่ต่อสัญญาเราก็ไร้ความหมาย สุดท้ายก็ย้ายมาที่บางลำภู งามวงศ์วาน ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพันธุ์ทิพย์ ซึ่งขณะนี้ในส่วนของศูนย์พระเครื่องชั้น ๓ ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ถ้าวันหนึ่งวันใดเป็นเหมือนพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ผมก็ต้องลาจากวงการพระเครื่องอย่างถาวร"
ตำนานศูนย์พระก่อนเข้าห้าง
วงการพระ เริ่มก่อสร้างตัวเองมานานมาก โดยในสมัยก่อนก็จะนิยมสะสมกันในหมู่ผู้คุ้นเคยตามแต่ละท้องที่ ส่วนการเริ่มต้นที่เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างของวงการพระเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๔๙๐ โดยเริ่มจากกลุ่มคนผู้มีฐานะดีในสังคม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของความต้องการเสาะแสวงหาและสะสม โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพมหานคร ตามใต้ต้นมะขาม ที่รายล้อมรอบสนามหลวง
ต่อมาเพื่อไม่ให้เป็นที่กีดขวางแก่ผู้สัญจรอื่นๆ เหล่าบรรดาผู้นิยมสะสมพระจึงพร้อมใจมารวมตัวกันที่ใต้ถุนศาลอาญา ในราว พ.ศ.๒๕๐๐ โดยกลุ่มคนผู้มีฐานะดีจะนั่งคุยแลกเปลี่ยนกันที่ร้านกาแฟ บริเวณใต้ถุนศาลอาญา ที่เรียกกันในหมู่นักสะสมพระว่า "บาร์มหาผัน" ซึ่งเป็นชื่อร้านกาแฟ ที่เจ้าของร้านชื่อ นายผัน ปัจจุบันร้านกาแฟนี้ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ แต่ไม่มีการรวมกลุ่มกันแล้ว ส่วนการที่เรียกร้านกาแฟว่า บาร์ ก็เป็นการเรียกสัพยอกให้ดูโก้หรู มิใช่สถานเริงรมย์ดังที่หลายท่านเข้าใจ
เมื่อผู้คนมากมายมารวมตัวกันบริเวณใต้ถุนศาลอาญา จนเกิดความพลุกพล่าน ดูไม่เหมาะสมกับสถานที่ราชการ จนเห็นสมควรที่จะพร้อมใจกันขยับขยายไปรวมกลุ่มกันที่วัดมหาธาตุ ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๔
นายสมศักดิ์ ศกุนตนาฏ บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์คเณศ์พร และประธานชมรมผู้สื่อข่าวและช่างภาพพระเครื่อง บอกว่า สนามพระวัดมหาธาตุ สนามพระวัดราชนัดดา และสนามพระท่าพระจันทร์ จึงนับเป็นรูปธรรมของวงการพระในยุคแรก แม้สนามพระบางแห่งจะสูญหายไป แต่ก็มีสนามพระบางแห่งอยู่ยง เป็นศูนย์กลางของวงการพระมาโดยตลอด จนกระทั่งวงการพระมีการขยายตัวอย่างมาก ไม่เพียงพอรองรับปริมาณผู้สนใจในเรื่องพระจำนวนมาก ทั้งทวีคูณขึ้นทุกขณะ จนกระทั่งเริ่มมีการขยาย "สนามพระ" หรือที่เรียกกันใหม่ในครั้งนั้นว่า "ศูนย์พระ" ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่มีศูนย์พระ คือ ห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ประมาณ พ.ศ.๒๕๒๑ จากนั้นก็มีการขยายตัวไปตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด