พระเครื่อง

สมณศักดิ์-ฐานานุกรม

สมณศักดิ์-ฐานานุกรม

13 ม.ค. 2555

สมณศักดิ์-ฐานานุกรม : คำวัด โดย พระธรรมกิตติวงศ์

              ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หมายความของคำว่า "สมณศักดิ์" หมายถึง ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด อาจกล่าวได้ว่า สมณศักดิ์ คือบรรดาศักดิ์ หรือยศที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบให้ดำรงมั่นอยู่ในสมณเพศ เพื่อเป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย เพราะการที่พระสงฆ์รูปใดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ย่อมได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะแห่งสงฆ์ไปพร้อมกันด้วย
 
              พระราชาคณะเป็นสมณศักดิ์ชั้นผู้ปกครองสงฆ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่าพระสังฆราชาคณะ หมายความว่า เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เปลี่ยนเป็นพระราชาคณะ ความหมายยังคงเดิม  มีคำนำหน้าราชทินนามว่า พระ แต่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า เจ้าคุณ หรือท่านเจ้าคุณ พระราชาคณะสามารถแต่งตั้งฐานานุกรมได้ ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาบัตร
 
              "สมเด็จพระราชาคณะ" เป็นสมณศักดิ์ของพระสงฆ์รองลงมาจากสมเด็จพระสังฆราช เรียกสมณศักดิ์ชั้นนี้ว่า "สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ" มีคำนำหน้าราชทินนามว่า "สมเด็จพระ" เดิมทีสมเด็จพระราชาคณะเป็นตำแหน่งพระสังฆาธิการชั้นเจ้าคณะใหญ่มาตลอด จนกระทั่งมีการแยกออกมาเมื่อมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔
 
              ปัจจุบันสมเด็จพระราชาคณะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เพียง ๕ รูป และสมเด็จพระราชาคณะทุกรูปดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม สมเด็จพระราชาคณะในปัจจุบันมีทั้งหมด ๘ ตำแหน่ง แบ่งเป็นธรรมยุติ ๔ ตำแหน่ง มหานิกาย ๔ ตำแหน่ง 
 
              ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "ฐานานุกรม" หมายถึง ลำดับตำแหน่งสมณศักดิ์พระสงฆ์ซึ่งภิกษุมีตำแหน่งทางการปกครองหรือมีสมณศักดิ์มีสิทธิ์ตั้งพระรูปอื่นได้ตามศักดิ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต เช่น ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอตั้งฐานานุกรมได้ ๓ ตำแหน่ง พระราชาคณะชั้นสามัญตั้งฐานานุกรมได้ ๓ ตำแหน่ง เป็นต้นไปจนกระทั่งถึงสมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งฐานานุกรมได้ ๑๕ ตำแหน่ง
 
              ภิกษุได้รับแต่งตั้งในลักษณะนี้เรียกว่า พระฐานานุกรม ทุกรูปจัดเป็นพระมีสมณศักดิ์เหมือนพระสมณศักดิ์ที่ทรงแต่งตั้ง
 
              ตำแหน่งฐานานุกรมเริ่มต้นที่ พระใบฎีกา พระสมุห์ พระปลัด พระครูใบฎีกา พระครูสมุห์ พระครูสังฆรักษ์ พระครูปลัด เป็นต้นไปจนถึง
 
              พระราชาคณะซึ่งเรียกว่า พระราชาคณะปลัดซ้าย พระราชาคณะปลัดขวา