
เหรียญหลวงปู่เพิ่ม เนื้อทองคำค่านิยมเฉียดล้านพุทธคุณเด่นเมตตามหานิยม : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
เหรียญหลวงปู่เพิ่ม เนื้อทองคำค่านิยมเฉียดล้านพุทธคุณเด่นเมตตามหานิยม : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
พระพุทธวิถีนายก หรือหลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๒๙ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะมีอายุได้ ๘ ขวบ ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ บวชเป็นสามเณรมาอยู่จนถึงอายุบวชเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๕๐ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศนฯ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากท่านได้อุปสมบทแล้วได้เล่าเรียนธรรมวินัยอยู่ที่วัดกลางบางแก้วตลอดมา และท่านก็เป็นลูกศิษย์เอกของ หลวงปู่บุญ ขันธโชติ ท่านได้อยู่รับใช้หลวงปู่บุญ จนกระทั่งหลวงปู่บุญมรณภาพลงใน พ.ศ.๒๔๗๘ จากนั้นก็มีเจ้าอาวาสรักษาการอยู่ประมาณ ๔ ปี
หลวงปู่เพิ่ม ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้วสืบต่อมา และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญมีราชทินนามว่า พระพุทธวิถีนายก ท่านมรณภาพด้วยโรคชราด้วยอาการสงบ วันที่ ๖ ม.ค. ๒๕๒๖ เวลา ๐๕.๕๐ น. รวมสิริอายุ ๙๗ ปี พรรษาที่ ๗๗
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำรงสมณเพศอย่างเคร่งครัดด้วยศีลาจารวัตรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ประชาชนทั่วไป เสียสละตนเพื่อประโยชน์แก่สังคม สร้างคุณอเนกแก่กุลบุตร กุลธิดา ด้วยการก่อสร้างและทำนุบำรุงการศึกษาให้เจริญงอกงามไพบูลย์ นับว่าท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้ไพศาลยิ่ง เมื่อกาลที่ท่านต้องจากไปก็ยังความเศร้าสลดแก่บรรดาสานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือท่านอย่างยิ่ง
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม ท่านได้สร้างวัตถุมงคงเอาไว้มากมายหลายชนิดด้วยกัน รวมถึงเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ที่เป็นที่นิยมแพร่หลาย คือ เบี้ยแก้ ซึ่งสร้างเป็นแบบฉบับโดดเด่นของวัดโดยเฉพาะ
ส่วนภาพพระองค์ครูวันนี้เป็นภาพพระเหรียญหลวงปู่เพิ่ม ปล้องอ้ออยเล็ก เนื้อทองคำ ของคุณวิเชียร อินทะพันธ์ เหรียญรุ่นนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ พระรุ่นนี้มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ กับพิมพ์เล็ก โดยทั้ง ๒ พิมพ์ มีทั้งหมด ๔ เนื้อ คือ ๑.เนื้อทองคำ ค่านิยมหลักแสนปลายๆ ทั้งนี้พิมพ์เล็กจะแพงกว่าพิมพ์ใหญ่ทั้งที่น้ำทองคำมากกว่า ส่วนเนื้ออื่นพิมพ์ใหญ่จะแพงกว่าทั้งหมด ๒.เนื้อเงินค่านิยมอยู่ในหลักแสนต้นๆ ๓.เนื้อนวโลหะค่านิยมอยู่ในหลักหมื่นกลางๆ และ ๔.เนื้อทองแดง ค่านิยมอยู่ในหลักพันปลายๆ
เหรียญรุ่นนี้มีพระเกจิอาจารย์ร่วมยุคปลุกเสกหลายรูป เช่น หลวงปู่เขียว วัดหรงบน พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา พุทธคุณในเหรียญรุ่นนี้เด่นทางเมตตามหานิยม