
สุรพล กำพลานนท์วัฒน์ดับทุกข์ด้วย"พระธรรมในพระเครื่อง"
สุรพล กำพลานนท์วัฒน์ดับทุกข์ด้วย "พระธรรมในพระเครื่อง" : สรณะคนดัง โดย เรื่อง/ภาพ สุพิชฌาย์ รัตนะ ศูนย์ข่าวภาคใต้
การเดินไปสู่จุดหมายปลายทางโดยมีคำว่า “สำเร็จ” เป็นรางวัลรออยู่ที่เส้นชัย ย่อมเป็นเป้าหลักที่สำคัญของทุกคน แต่จะมีสักกี่รายได้มีโอกาสได้ชื่นชมและสัมผัสกับการก้าวย่างไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของชีวิตดั่งที่หวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนทำธุรกิจ ย่อมต้องเผชิญกับอุปสรรคและขวากหนามที่ขวางทางอยู่มากมาย
แต่สำหรับ “สุรพล กำพลานนท์วัฒน์” หรือที่ชาวหาดใหญ่คุ้นหูในนาม “เฮียเพ้ง” นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท หาดใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ จำกัด ในพื้นที่ ๕ จังหวัดภาคใต้ (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) กลับยิ้มเยาะใส่ปัญหาที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิตและเส้นทางธุรกิจว่าเป็นเพียง “บทเรียน” ที่ทุกชีวิตต้องเจอ และต้อง”สอบ”ให้ผ่าน
“ไม่มีใครรู้หรอกว่าแต่ละคนจะได้บทเรียนชีวิตอย่างไรบ้าง แต่เราเก็งข้อสอบเหล่านั้นได้ไม่ยาก อยู่ที่ทุกคนเตรียมตัวไว้หรือไม่เท่านั้น ส่วนผมนั้นบอกได้คำเดียวว่ามีพระเครื่องเป็นกุญแจในการผ่านข้อสอบชีวิต” สุรพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม กว่าจะก้าวมาถึงจุดที่ยืนทุกวันนี้ “เฮียเพ้ง”เล่าว่า ทำธุรกิจมาหลากหลายประเภท มีทั้งล้มเหลว และประสบความสำเร็จ เริ่มตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาปักหลักที่หาดใหญ่เมื่อปี ๒๕๐๓ ได้ช่วยพ่อแม่ขายของอยู่ที่สนามหลวง ตั้งแต่วัยเด็ก ต่อมาจึงมาอยู่กับน้าชายซึ่งทำธุรกิจกระจก ซึ่งชาวหาดใหญ่รู้จักดีคือร้านกระจก "นำเอก"
จากนั้นเมื่อมีอายุเข้าสู่วัยรุ่นได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ตั้ง "กลุ่ม ๗๔” ขึ้นมาในปี ค.ศ.๑๙๗๔ โดยมีสมาชิกเป็นลูกหลานคนทำธุรกิจในพื้นที่ ด้วยจุดประสงค์เพื่อระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองการทำธุรกิจก่อนจะร่วมกันเปิดศูนย์การค้า ๗๔ พลาซ่าติดแอร์แห่งแรกของหาดใหญ่ โดยปัจจุบันบริเวณนั้นคือโรงแรมรีเจนท์ ที่วางตัวอยู่ในย่านกลางเมือง
“ศูนย์การค้าติดแอร์ในต่างจังหวัดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กลุ่มเราไปเที่ยวกรุงเทพฯ ไปดูห้างไดมารู แล้วศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจทำด้วยพลังคนหนุ่ม ๗ คนเท่านั้น แต่ปัจจุบันต่างคนต่างวางมือไปหมดแล้ว" เฮียเพ้ง รื้อฟื้นหน้าตำนานสำคัญของเมืองหาดใหญ่
ไม่เพียงเท่านั้น “สุรพล” ยังร่วมก่อตั้งกลุ่มโอเดียน เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๔ ด้วยการลงทุนทำ “ห้างโอเดียน ช้อปปิ้งมอลล์ หาดใหญ่” โดยบริหารอยู่พักใหญ่ ก่อนหันมาจับธุรกิจกระดาษ พร้อมกับวางมือธุรกิจให้คนรุ่นใหม่รับช่วงต่อ ต่อมาได้รับภาระหลักในการดูแลธุรกิจการกระดาษอย่างจริงจัง
“ผมล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ทั้งภาวะทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาลดค่าเงินบาท หรือช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตก และกระทั่งพิษน้ำท่วมหาดใหญ่ครั้งสำคัญเมื่อพ.ศ.๒๕๓๐ แต่ผมก็ผ่านมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยสิ่งที่ช่วยให้คิดได้ คือ พระเครื่อง” เฮียเพ้ง เล่าพลางน้ำตาคลอ
ในช่วงที่ชีวิตบาดเจ็บที่สุด อันเนื่องมาจากพิษเศรษฐกิจ นักธุรกิจจำนวนไม่น้อยเลือกหนทางด้วยการคิดสั้น เพื่อหนีปัญหา แต่สำหรับ “สุรพล” นาทีนั้นก้าวเดินพ้นจากจุดวิกฤติด้วย “พระหลวงพ่อทวด วัดพะโคะ เนื้อว่าน รุ่นแรก พ.ศ ๒๕๐๖” ที่คล้องคอเพียงองค์เดียวเท่านั้น
“ผมเครียดมาก แล้วหยิบพระที่ค้องคอมานั่งดู แล้วจู่ๆ ก็ลืมความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากความฟุ้งซ่านได้กลายเป็นความสงบ และได้ไม่นานสมาธิก็บังเกิด ทำให้คิดหาหนทางออกจากปัญหาได้อย่างน่าอัศจรรย์” เขากล่าว
นับแต่นั้นมา ชีวิตก็ไม่เคยให้พระเครื่องห่างกายได้เลย รู้สึกว่าแขวนพระแล้วรู้สึกสบายใจ เพราะเสมือนมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยว หรืออยู่เพียงลำพัง ที่สำคัญเมื่ออาราธนาพระเครื่องขึ้นคล้องคอแล้ว หากเราคิดนอกลู่นอกทาง จะรู้สึกได้ว่าเหมือนมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งคอยกระตุกให้ฉุกคิดและหยุดชะงัก ไม่หลงไปในทางไม่ถูกไม่ควร
“สุรพล” บอกว่า เหตุผลที่ขาดพระเครื่องไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงในการดำเนินชีวิตและบริหารธุรกิจ รวมทั้งดูแลงานสังคมด้านการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบ คือ ยามใดเหนื่อยล้า หรือท้อแท้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัว ปัญหาการงาน เมื่อหยิบพระเครื่องที่ศรัทธา รวมถึงพระที่คล้องคอขึ้นมาดูอย่างพินิจพิเคราะห์ จะทำให้เรารู้สึกสงบ ก่อนเกิดสมาธิ และนำพาซึ่งแรงบันดาลใจให้ก้าวลุกขึ้นจากหล่มปัญหาแล้วสามารถเดินหน้าสู้ต่อไปได้อีกครั้ง หรือพูดง่ายๆ คือ “พระเครื่อง” ทำให้ “จิตสงบ มีสมาธิ ตั้งหลักชีวิตใหม่ได้”
ปัจจุบันมีพระเครื่องหลายชุด มีสร้อยหลายเส้น โดยจะขึ้นอยู่กับความรู้สึกส่วนตัวว่า แต่ละวันจะนิมนต์ชุดไหนขึ้นคล้องคอ แต่ที่ติดตัวบ่อยที่สุด คือ พระพุทธสิหิงค์ พ.ศ.๒๕๓๐ หลวงพ่อทวด เนื้อว่าน พ.ศ. ๒๕๐๖ วัดพะโคะ และ พระเนื้อผงพ่อท่านคล้าย หลัง สข.๑
“พระชุดนี้นอกจากมีประสบการณ์ช่วยให้รอดพ้นอุบัติเหตุบนท้องถนนมานับหนไม่ถ้วนแล้ว ยังเป็นชุดที่ช่วยดลใจให้ชีวิตคิดถึงธรรมะ และนำพาไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควรได้เสมอ ที่สำคัญสำหรับผมพระเครื่องคือหลักทางใจ ที่ช่วยให้วงจรชีวิตหมุนไปตามครรลองที่ถูกที่ควร นำมาซึ่งความเจิรญในการดำเนินชีวิตประจำวัน” สุรพล กล่าวทิ้งท้าย
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองหาดใหญ่
"สุรพล" บอกว่าในฐานะนายสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ขอฝากผู้มาเยือนเมืองหาดใหญ่ สถานที่ซึ่งขาดไม่ได้คือ “เขาคอหงส์” ซึ่งเป็นจุดสำคัญอันเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ประกอบด้วย “พระพุทธมงคลมหาราช” โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพระพุทธรูปประจำเมืองหาดใหญ่ ตามหนังสือที่ รล ๐๐๐๓/๑๕๓๕๙ พระราชทาน ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๒ โดยมี สมเด็จพระญารสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังคปรินายกเสด็จเป็นองค์ประธาน
พิธีเททองพระหัตถ์ พระพุทธมงคลมหาราช ณ มณฑลพิธีพุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๓ ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระเกตุมาลา เมื่อวันพฤหัสที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
นอกจากนี้ยังมี "องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม” ปางประทานพรขนาดใหญ่ ซึ่งทำจาก "หยกขาว” จากประเทศจีน แกะสลักโดยช่างชาวจีน มณฑลเห่ยเป่ย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งองค์แบ่งเป็นหินหยกขาว จำนวน ๘ ท่อน ขนาดความสูง ๙.๙ เมตร น้ำหนักโดยรวมประมาณ ๘๐ ตัน และภายใต้ที่ประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม จัดทำเป็นห้องโถง ๘ เหลี่ยม ซึ่งแต่ละมุมจะเป็นที่ประดิษฐานของรูปปั้นของเซียนทั้ง ๘ องค์ ตรงกลางของห้องโถงจัดทำเป็นเสาขนาดใหญ่ ซึ่งมีองค์ พระโพธิสัตว์กวนอิมปางประทานพร ขนาดความสูงประมาณ ๑๙.๙ นิ้ว เป็นจำนวนมาก วางอยู่รอบเสา และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ “ท้าวมหาพรหม ๔ หน้า” ซึ่งประดิษฐานบนยอดเขาคอหงส์ คู่เมืองหาดใหญ่