
มหา-เปรียญ
มหา-เปรียญ : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
การสอบพระปริยัติธรรม ถือเป็นการวัดความรู้ชั้นสูงของคณะสงฆ์ไทย สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตราบจนถึงปัจจุบัน การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี มี ๘ ระดับ คือ การศึกษาระดับประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓ ประโยค เรียกว่า เปรียญตรี คือ ผู้ที่จะมีสิทธิสอบประโยค ๑-๒ ขึ้นไปจะต้องสอบได้นักธรรมชั้นตรีก่อน
ระดับเปรียญธรรม ๔-๖ ประโยค เรียกว่า เปรียญโท คือ ผู้ที่จะมีสิทธิสอบเปรียญธรรม ๔ ประโยค ขึ้นไปจะต้องสอบได้นักธรรมชั้นโทก่อน
ระดับเปรียญธรรม ๗-๙ ประโยค เรียกว่า เปรียญเอก คือ ผู้ที่จะมีสิทธิสอบเปรียญธรรม ๗ ประโยคขึ้นไปจะต้องสอบได้นักธรรมชั้นเอกก่อน
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "เปรียญ" (อ่านว่า ปะเรียน) บาเรียน ก็เรียก เป็นคำใช้เรียกภิกษุสามเณรผู้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีและสอบไล่ได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ ๓ ประโยค ขึ้นไปจนถึง ๙ ประโยค เรียกว่า พระเปรียญ หรือพระเปรียญธรรม สามเณรเปรียญ หรือสามเณรเปรียญธรรม มีอักษรย่อว่า ป. หรือ ป.ธ.
สันนิษฐานว่ามาจากการผสมคำว่า บาลี + เรียน = บาเรียน หมายถึง “พระที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมบาลี” หรือ “พระนักเรียนบาลี” นั่นเอง
ต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนคำว่า บาเรียน เป็น เปรียญ ปัจจุบันจึงใช้เรียกหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยว่า "หลักสูตรเปรียญ"
การเป็นเปรียญนั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดแต่งตั้ง จึงเรียกพระเปรียญอีกอย่างหนึ่งว่า พระมหา โบราณเรียกว่า พระมหาเปรียญ คำว่า มหา ใช้เรียกเฉพาะภิกษุเท่านั้น มิได้ใช้เรียกสามเณรเปรียญด้วย
ปัจจุบันเรียกพระภิกษุสามเณรที่สอบได้พระปริยัติธรรมตั้งแต่ เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไปว่า "พระมหาเปรียญ" หรือ "สามเณรเปรียญ" ภิกษุสามเณรเปรียญมีสิทธิใส่วุฒิการศึกษาต่อท้ายชื่อได้ เช่น พระมหาวุฒิ ป.๖ หรือ ป.ธ.๖ (อ่านเต็มว่า เปรียญ ๖ ประโยค หรือเปรียญธรรม ๖ ประโยค)
ศาลาที่ใช้สำหรับทำการเรียนการสอนว่า ศาลาการเปรียญ คือ ศาลาหรืออาคารที่พระภิกษุใช้เป็นที่เล่าเรียน
ส่วนคำว่า "มหา" แปลว่า ใหญ่, ยิ่งใหญ่, มาก
มหาทั่วไปใช้เป็นคำนำหน้าคำอื่น เพื่อแสดงว่าคนหรือสิ่งนั้นมีความสำคัญ มีความยิ่งใหญ่ หรือมีจำนวนมาก เช่น ใช้ว่า มหากฐิน มหาชาติ มหาชน มหาราช เป็นต้น บางครั้งลดรูปเป็น มห แต่ความหมายคงเดิม เช่น มหรรณพ มหัศจรรย์
มหา ในคำวัดหมายถึง สมณศักดิ์ที่ใช้นำหน้าชื่อภิกษุที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไป เป็นคำพระราชทาน เพราะทรงโปรดแต่งตั้งที่เรียกว่า ทรงตั้งเปรียญ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาเปรียญ และเรียกภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งว่า พระมหาเปรียญ เช่น พระมหาไว พระมหาวุฒิ