พระเครื่อง

เหรียญเสาร์๕หลวงพ่อมุ่ยเหรียญชัยมงคล แจกงานทอดผ้าป่าวัดดอนไร่

เหรียญเสาร์๕หลวงพ่อมุ่ยเหรียญชัยมงคล แจกงานทอดผ้าป่าวัดดอนไร่

27 ธ.ค. 2554

เหรียญเสาร์๕หลวงพ่อมุ่ยเหรียญชัยมงคล แจกงานทอดผ้าป่าวัดดอนไร่ : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู

               พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ หรือ หลวงพ่อมุ่ย พุทฺธรักฺขิโต อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนไร่ ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี อุปสมบทตามธรรมเนียมประเพณีของคนไทย เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๕๒ ณ พัทธสีมาวัดท่าช้าง ต.ท่าช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โดยมี พระครูศีลกิติ (หลวงพ่อกฤษณ์) วัดท่าช้าง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในช่วงนี้ท่านได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์ต่างๆ อยู่พอสมควร
 
                ท่านอุปสมบทได้ประมาณ ๑๐ พรรษา ก็ได้ลาสิกขาเพื่อมาช่วยบิดามารดาซึ่งชราภาพทำไร่นา ในช่วงนี้ท่านได้เกิดล้มป่วยแทบเอาชีวิตไม่รอด ยากจะดูแลรักษาให้หายได้ จึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้ว่า หากหายจากอาการเจ็บป่วย จะฝากกายถวายชีวิตในพระพุทธศาสนาตลอดไป เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ต่อมาอาการเจ็บป่วยของท่านได้หายไป จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก "เชื่อม" มาเป็น "มุ่ย"
 
                หลังจากอุปสมบทครั้งใหม่แล้ว ท่านได้ไปอยู่วัดหนองสะเดา ต.หนองสะเดา อ.สามชุก ประมาณ ๖ เดือน จึงกลับมาประจำอยู่ที่วัดดอนไร่ ได้ ๖ พรรษา จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ วัดหัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ. สุพรรณบุรีและได้ย้ายมาอยู่ วัดปู่บัว อ.เมือง ได้ ๑ พรรษา ต่อจากนั้น ได้กลับมาอยู่วัดดอนไร่ ตลอดมา
 
                ชื่อเสียงของหลวงพ่อมุ่ย เป็นที่รู้จักเลื่องลือขจรไกลและเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยถ้วนทั่ว เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะ ต.หนองสะเดา พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นตรีที่ "พระครูสุวรรณวุฒาจารย์" จนถึง พ.ศ.๒๕๑๗ ท่านก็ได้มรณภาพ สิริอายุ ๘๖ ปี พรรษา ๔๕
 
                สำหรับภาพพระองค์ครู เหรียญเสาร์ ๕ หลวงพ่อมุ่ย เนื้อนวโลหะ เป็นของ นายวิเชียร อินทะพันธ์ นักธุรกิจหนุ่มทำธุรกิจเหล็ก และเจ้าของร้านพรหลวงปู่สี
 
                นายวิเชียร บอกว่า เหรียญเสาร์ ๕ หลวงพ่อมุ่ย  หรือเหรียญชัยมงคล เป็นเหรียญที่สร้างเมื่อ ๒๕๑๖ ออกในงานทอดผ้าป่าของวัด โดยคณะศิษย์ชาวสมุทรปราการ ทั้งนี้ หลวงพ่อได้มอบเหรียญรุ่นนี้ให้เป็นที่ระลึกกับผู้ร่วมบุญทอดผ้าป่าในครั้งนั้น และได้เกิดปาฏิหาริย์กับคณะผ้าป่าด้วย
 
                เหรียญรุ่นนี้สร้างทั้งหมด ๔ เนื้อ คือ ๑.เนื้อทองคำ ค่านิยมหลักแสนกลางๆ ๒.เนื้อเงิน ค่านิยมหลักแสนต้นๆ ๓.เนื้อนวโลหะ ค่านิยมหลักมื่นกลาง และ ๔.เนื้อทองแดง ค่านิยมหลักมื่นต้นๆ
 
                หลวงพ่อมุ่ย ท่านมีเมตตาธรรม สงเคราะห์แก่ผู้มาพึ่งบารมีท่านมากเกินพรรณนา วัตถุมงคลท่านที่ได้ปลุกเสกไว้ ยังเปี่ยมล้นด้วยพุทธคุณเกื้อหนุนผู้ที่นำไปบูชา มีประสบการณ์มากมายนับไม่ถ้วน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า วัตถุมงคลของท่านทุกรุ่นทุกพิมพ์จึงสูงส่งไปด้วยพุทธคุณและค่านิยมอยู่ทุกวันนี้