พระเครื่อง

พระทวารวดีพิมพ์ 'พุทธคยา'
พระท่ากระดานน้อย กรุท่าเสา

พระทวารวดีพิมพ์ 'พุทธคยา' พระท่ากระดานน้อย กรุท่าเสา

07 พ.ค. 2552

กาญจนบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่า มีทั้งป่าโปร่งและป่าดงดิบ มีแม่น้ำสำคัญ ๒ สาย คือ แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแควน้อย ซึ่งไหลมาบรรจบรวมกันเป็น แม่น้ำแม่กลอง ที่บริเวณ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

  เมืองกาญจนบุรี มีผู้คนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว เนื่องจากเมืองนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจ เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของ สะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

 นอกจากนี้เมืองกาญจนบุรี ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก ไม่ว่าจะเป็นป่าเขาลำเนาไพร ถ้ำ หรือน้ำตก ก็มีอยู่อย่างมากมายหลายแห่ง

 และที่น่าสนใจมาก คือ เมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทุกยุคสมัย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นยุคสมัยตามหลักฐานที่พบได้ดังนี้

 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่สมัยเริ่มกำเนิดมีมนุษย์ขึ้นในโลก หลักฐานที่ขุดพบ อาทิ เครื่อมือหินกะเทาะ เครื่องมือสมัยหินใหม่ เครื่องมือสมัยโลหะ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับ ภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ โลงศพ ฯลฯ

 สมัยทวารวดี เมื่ออินเดียได้เดินทางเข้ามาค้าขาย และเผยแพร่พุทธศาสนา ยังแคว้นสุวรรณภูมิ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ พบหลักฐานศิลปะอินเดีย สมัยคุปตะ ในสมัยทวารวดี ตามลำน้ำแควน้อยแควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลอง ที่บ้านวังปะโท่ บ้านท่าหวี บ้านวังตะเคียน และพงตึก

 โบราณวัตถุสถานที่พบ เช่น ซากเจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป พระพิมพ์ เสมาธรรมจักร ระฆังหิน เครื่องประดับ ภาชนะดินเผา และตะเกียงโรมันสัมฤทธิ์ที่มีอายุราว พ.ศ. ๖๐๐ นับเป็นโบราณวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดของไทย

 สมัยอิทธิพลขอม จากหลักฐานทางเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเมืองกาญจนบุรี คือ พงศาวดารเหนือ กล่าวว่า "กาญจนบุรีเป็นเมืองพญากง พระราชทานบิดาของพระยาพาน เป็นเมืองสำคัญของแคว้นอู่ทอง หรือสุวรรณภูมิ มีผู้สันนิษฐานว่า พญากงสร้างขึ้นราว พ.ศ.๑๓๕๐"

 ต่อมาขอมได้แผ่อิทธิพล นำเอาศาสนาพุทธมหายานเข้ามาประดิษฐานในเมืองกาญจนบุรี ปรากฏหลักฐาน คือ ปราสาทเมืองสิงห์ เมืองครุฑ เมืองกลอนโด จนมาถึงสมัยที่อำนาจอิทธิพลขอมได้เสื่อมลงไป

 พระพิมพ์ที่ขุดพบใน จ.กาญจนบุรี มีพระกรุยุคสมัยทวารวดี อายุเก่าแก่ร่วมพันปีรวมอยู่ด้วย พระกรุอายุเก่าที่ขุดพบได้แก่ พระทวาราวดี พิมพ์พุทธคยา กรุบ้านท่าหวี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง และเนื้อดิน

 พระทวารวดี พิมพ์พุทธคยา กรุบ้านท่าหวี เป็นพระที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีความหนาพอสมควร (หนาประมาณ ๐.๗๐ ซม.) องค์พระกว้างประมาณ ๕.๕ ซม. สูงประมาณ ๙.๕ ซม.

 พุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานบัว ๒ ชั้น ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ข้างซุ้มเรือนแก้วทำเป็นองค์พระสถูปสังเวชนียสถาน มีลวดลายลักษณะสถูปประดับอยู่ทั้ง ๒ ข้างของซุ้ม บางองค์มีข้างละ ๒ ชั้น เรียงเหลื่อมซ้อนกัน บางองค์มีข้างละ ๓ ชั้น เรียงเหลื่อมซ้อนกันก็มี แลดูสวยงามอลังการมาก

 บางพิมพ์เป็นพระปางนั่งยกพระหัตถ์ทั้ง ๒ เสมอพระอุระ ห้อยพระบาททั้งคู่อยู่บนฐานบัว ๒ ชั้น ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว แบบองค์พระสถูป เช่นกัน พระทุกพิมพ์ของกรุบ้านท่าหวี นี้มีพุทธศิลป์ที่สวยงามมาก แลดูบึกบึน ทะมึนเข้มขลัง ตามแบบคนยุคเก่าแก่โบราณ เหมือนยุคสมัยหิน

 ลักษณะของเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ครอบคลุมด้วยไขขาวเหลืองอมส้ม ไขค่อนข้างหนา คลุมตามผิวทั่วองค์พระ เนื้อตะกั่วไม่แดง เข้าใจว่าเกิดจากส่วนผสมมากน้อยของเนื้อโลหะตอนเททองหล่อพระ ซึ่งเกิดจากการแปรสภาพจากเนื้อตะกั่วเดิม

 ลักษณะสนิมสีที่เกิดขึ้นมา เป็นพื้นผิวสีเทาอ่อนๆ อมฟ้า ไม่ออกทางสนิมสีแดงเลย
 สนนราคาเช่าหาอยู่หลักหมื่นต้น ถ้าองค์ไหนสภาพสวยสมบูรณ์ก็จะมีราคาสูงถึงหลักหมื่นกลาง

 พุทธคุณ เป็นสำหรับบูชาที่มีจุดมุ่งหมายในการสืบทอดพระพุทธศาสนา และให้เกิดความเป็นสิริมงคล ตลอดจนแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ

 นอกจากนี้ เมืองกาญจนบุรี ยังมีพระกรุที่มีอายุการสร้างลดหลั่นลงมา และเป็นที่นิยมของวงการพระอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระท่ากระดาน สนิมแดง ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง"  และยังได้รับการบรรจุเอาไว้ใน ชุดสุดยอดพระเบญจภาคีเนื้อชินยอดนิยม อันโด่งดัง อีกด้วย

 พระท่ากระดาน มีการขุดพบทั้งกรุเก่า และกรุใหม่ มีขนาดปานกลาง พร้อมทั้งยังมีการขุดพบ พระท่ากระดานน้อย ซึ่งมีขนาดเล็กกะทัดรัด เท่าปลายนิ้วก้อย รวมอยู่ด้วย พระชุดเล็กที่กล่าวถึงนี้ คือ พระท่ากระดานน้อย กรุวัดท่าเสา จ.กาญจนบุรี เนื้อสนิมแดง โดยขุดพบในบริเวณ ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมทั้งที่ กรุวัดเขาชนไก่ อีกด้วย 

 พระกรุวัดท่าเสา เป็นวัดพื้นที่ ต.ลาดหญ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ มีการขุดฐานพระเจดีย์องค์หนึ่ง พบพระท่ากระดานจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีไม่มากนัก รวมทั้งยังพบพระพิมพ์อื่นๆ อีกหลายพิมพ์ ที่มีมากสุดคือ พระท่ากระดานน้อย

 พุทธลักษณะ พระท่ากระดานน้อย กรุท่าเสา เป็นพระปางมารวิชัย ประทับนั่งลอยองค์ โดยไม่มีเส้นฐานรองรับแต่อย่างใด รายละเอียดบนพระพักตร์ปรากฏชัดเจนทุกอย่าง ทั้งพระเนตร พระขนง พระโอษฐ์ และพระนาสิก นอกจากนี้ขอบองค์พระยังปรากฏปีกด้านข้างทุกองค์ ทั้งประเภทปีกกว้าง  และปีกชิด เป็นพระเนื้อชินสนิมแดง คล้ายกับ พระกรุศาลเจ้า จ.ราชบุรี แต่ลักษณะสนิมแดงของพระกรุวัดท่าเสา จะดูแดงเข้มจัด และไขมันกว่าของวัดศาลเจ้า

 ตามหลักฐานที่ขุดพบสันนิษฐานว่า พระท่ากระดานน้อย เป็นพระที่สร้างขึ้นภายหลัง พระท่ากระดาน พิมพ์ใหญ่

 พระกรุท่าเสา นอกจากขุดพบพระท่ากระดาน พระท่ากระดานน้อย แล้ว ยังพบพระพิมพ์อื่นๆ อีกหลายพิมพ์ อาทิ พระพิมพ์อู่ทอง พระท่ากระดานหูช้าง เป็นต้น แต่ละพิมพ์ล้วนมีศิลปะแบบอู่ทอง ทั้งสิ้น

 ขนาดของ พระท่ากระดานน้อย กรุท่าเสา กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. สูง ๒.๒ ซม.
 พุทธคุณ ยอดเยี่ยมทางแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี สนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักหมื่นต้น ถ้าสภาพสวยแชมป์ อาจจะสูงถึงหลักหมื่นกลาง

 พระท่ากระดานน้อย กรุท่าเสา เป็นพระที่มีจำนวนมากพอสมควร ในท้องตลาดถือเป็นพระชุดเล็ก เนื้อสนิมแดง ที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือยังพอหาเช่าบูชาได้ได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านเดิมของเมืองกาญจนบุรี

"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"