พระเครื่อง

พระร่วงนั่งกรุทุ่งยั้งพิมพ์เกศ๓ชั้นเนื้อชินเงินจ.อุตรดิตถ์

พระร่วงนั่งกรุทุ่งยั้งพิมพ์เกศ๓ชั้นเนื้อชินเงินจ.อุตรดิตถ์

22 ธ.ค. 2554

พระร่วงนั่งกรุทุ่งยั้งพิมพ์เกศ๓ชั้นเนื้อชินเงินจ.อุตรดิตถ์ : สาระสังเขปพระเนื้อเงิน โดย ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ

              เมืองลับแล หรือ เมืองพิชัย นับเป็นเมืองของวีรบุรุษผู้กล้า ใน พ.ศ.๒๓๑๔ รัชสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า พระยาพิชัย ได้สู้รบกับพม่าจนดาบในมือหัก จนมีชื่อกล่าวขานกันโดยทั่วไปว่า พระยาพิชัยดาบหัก
 
               เมืองพิชัย แห่งนี้ มีราษฎรอาศัยอยู่จำนวนมาก เพื่อเป็นด่านหน้าคอยต้านศึกจากพม่า ที่ชอบรุกรานเรื่อยมา ในเขตเมืองพิชัยมีเมืองเก่าๆ หลายเมืองมารวมกัน เช่น เมืองทุ่งยั้ง เมืองฝาง และเมืองลับแล เมืองต่างๆเหล่านี้มารวมกันเป็น เมืองอุตรดิตถ์
 
               ตำนานเมืองอุตรดิตถ์ มีดินแดนลี้ลับที่ชื่อว่า เมืองลับแล เล่าขานว่า สมัยโบราณกาล หนุ่มจาก เมืองทุ่งยั้ง หลงเข้าไปใน เมืองลับแล เกิดรักใคร่กับหญิงในเมืองนั้น และได้อยู่กินจนมีบุตร
 
               แต่เมืองนี้เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ คนในเมืองจะต้องซื่อสัตย์ และถือสัจจะเป็นใหญ่ ต่อมาหนุ่มผู้นี้เกิดทำผิดกฎ พูดเท็จ จึงถูกไล่ให้ออกจากเมือง ภรรยาให้ขมิ้นติดตัวมาเต็มย่ามใหญ่ หนุ่มทุ่งยั้งขณะเดินทางออกจากเมือง เห็นว่าหนักมาก จึงทิ้งไปจำนวนมาก หลังจากออกจากเมืองศักดิ์สิทธิ์แล้ว ขมิ้นที่เหลือในย่ามนั้นกลับกลายเป็นทอง ตำนานนี้ทำให้เมืองลับแลเป็นที่เสาะแสวงหาของนักแสวงโชคต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
 
               เมืองทุ่งยั้ง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า กำโพชนคร มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ ในการทำสงครามต่อสู้กับพม่า จนได้ชื่อว่า ทุ่งยั้ง หมายถึง การหยุดยั้งพม่าไม่ให้รุกคืบหน้าเข้ามาถึงตัวเมืองนั่นเอง
 
               ปัจจุบัน ทุ่งยั้ง เป็นเพียงตำบล อยู่ที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และจะคงเหลืออยู่ก็แต่เพียงกำแพงเมืองเก่า มีอารามหลวงแต่ครั้งโบราณกาล คือ วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่า และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด ที่ยังคงมีวัตถุโบราณล้ำค่า รวมทั้งพระพุทธรูป และพระเครื่องซ่อนเร้นอีกมาก ที่สร้างไว้แต่ครั้งสมัย "ทุ่งยั้ง” ยังเป็นเมืองหน้าด่าน ที่เคยรุ่งโรจน์มาแล้วร่วม ๗๐๐ ปีที่ผ่านมา
 
               พระเครื่องที่มีชื่อเสียง และน่าหาไว้สักการบูชาของเมืองอุตรดิตถ์ ส่วนมากจึงเป็นพระเครื่องที่มีพุทธคุณทางด้านคงกระพันชาตรี เน้นโดยเฉพาะพระของเมืองทุ่งยั้ง ทุ่งแห่งการทำสงครามสู้รบกับพม่า เพื่อรักษาเอกราชของชาติ มีการพบพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ของสมัยอยุธยา และในสมัยสุโขทัย
 
               พระเครื่องที่พบจากกรุ “ทุ่งยั้ง” ส่วนใหญ่ได้มาจากกรุวัดพระบรมธาตุฯ และมักจะสร้างด้วยเนื้อชิน, รองลงมาคือเนื้อดิน, เนื้อตะกั่ว, และเนื้อชินเขียว ก็มี
 
               พุทธศิลป์ของพระเครื่องกรุทุ่งยั้ง มักสร้างล้อแบบลพบุรี, สุโขทัย, และอู่ทอง ที่พบกันแบบพุทธศิลป์บริสุทธิ์จริงๆ คือ แบบอยุธยา
 
               พระเครื่องอุตรดิตถ์จากกรุทุ่งยั้ง มีทั้งแบบยืน, นั่ง, เดิน, และนอน พระส่วนมากผิวเป็นสนิมดำตีนกา ที่ออกสีดำอมเทามักจะผุกร่อน และมีเป็นผิวปรอทขาวแกมดำเป็นบางจุดบางตอน พระเครื่องกรุทุ่งยั้งมีความเด่นดังในด้านพุทธคุณซึ่งปรากฏมาแต่ครั้งโบราณ
 
               มีพระพิมพ์นั่งของเมืองนี้อยู่พิมพ์หนึ่ง ราคาไม่สูงมากนัก พระอื่นๆ ที่มีราคาเป็นแสนพุทธคุณบางองค์ยังสู้พระเมืองนี้ไม่ได้  ถ้าเป็นนักสะสมพระคนรุ่นเก่าแนวบู๊ประชิดตัว ที่หา พระหูยาน ลพบุรี มาขึ้นคอไม่ได้ เพราะราคาสูงเกินเอื้อม ก็จะใช้พระพิมพ์นี้บูชาแทน คือ พระร่วงนั่ง กรุทุ่งยั้ง พิมพ์เกศ ๓ ชั้น 
           
               พระร่วงนั่ง กรุทุ่งยั้ง พิมพ์นี้ที่พบจากกรุมีเพียง เนื้อชินเงิน อย่างเดียว องค์พระมีขนาดปานกลาง ใกล้เคียงกับพระหูยานของเมืองลพบุรี คือกว้าง ๒.๘ ซม. สูง ๖.๕ ซม. องค์พระประทับนั่งแบบมารวิชัย อยู่บนฐานสูงคล้ายฐานบัวแบบ ๒ ชั้น
  
               พระวรกายสมส่วน ปรากฏเส้นสังฆาฏิเป็นแถบลายผ้าใหญ่ชัดเจน พระพักตร์ชัดเจนครบทั้งพระเนตร พระขนง พระนาสิก และพระโอษฐ์ เพียงแต่ไม่มีพระกรรณทั้ง ๒ ข้างให้เห็น
  
               พระพิมพ์นี้ดูคล้ายกำลังแย้มพระสรวล พระเศียรสวมมงกุฎแบบ ๓ ชั้น จึงเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้ว่า พิมพ์เกศ ๓ ชั้น รอบองค์พระมีเส้นนูนแบบหนาใหญ่ เป็นเส้นซุ้มโค้งดัดอ่อนๆ รูปลายกนกครอบองค์พระอีกชั้นหนึ่งอย่างลงตัวสวยงาม
  
               ด้านหลังเป็นแบบหลังลายผ้าลายเล็กๆ ปรากฏอยู่เต็ม องค์พระทั้ง ๒ ด้านมีดินขี้กรุแห้งเก่าสนิทสีออกเหลืองอ่อน อีกทั้งสนิมตีนกา รอยระเบิดชนิดผุกร่อนมีครบ ให้จุดพิจารณาได้อย่างแน่นอนถึงความเก่าแท้ ในอายุหลายร้อยปีของพระกรุนี้
       
               พระร่วงนั่ง กรุทุ่งยั้ง พิมพ์เกศ ๓ ชั้น มีพุทธลักษณะคล้ายกับ พระอู่ทองซุ้มเรือนแก้ว กรุวัดเขาพนมเพลิง จ.สุโขทัย ทั้งเนื้อพระ รูปทรงองค์พระ พระพักตร์ และซุ้มครอบแบบเดียวกัน ต่างกันที่ขนาดของส่วนสูง  เพราะพระของกรุทุ่งยั้ง องค์พระยาวสูงกว่าเล็กน้อย เนื่องจากประทับบนฐาน ๒ ชั้น มิใช่แบบชั้นเดียวเช่นของกรุวัดเขาพนมเพลิง
  
               มีบางท่านเข้าใจผิด ไม่แม่นพิมพ์ จึงเช่าบูชามาผิดราคา เพราะ พระร่วงนั่ง กรุทุ่งยั้ง พิมพ์เกศ ๓ ชั้น ราคาอยู่ที่ ๒ หมื่นกว่าขึ้นไป ถึงหมื่นกลาง ส่วน พระอู่ทองซุ้มเรือนแก้ว กรุวัดเขาพนมเพลิง ราคาประมาณหมื่นกว่าๆ ขึ้นไป ไม่เกิน ๒ หมื่นบาท
  
               ราคาพระ ๒ เมืองที่ต่างกันมากนี้ เหตุเพราะนักสะสมศรัทธาพระเนื้อชิน ที่ชอบพระเครื่องประเภทแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ทราบกันดีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า...พระทุ่งยั้ง เป็นพระกรุที่สุดยอดด้านคงกระพันชาตรี มหาอุด และแคล้วคลาด อย่างแท้จริง