อคติ-ลำเอียง
อคติ-ลำเอียง : คำวัด
"การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือสามารถในการใช้วิชาความรู้อย่างหนึ่ง สามารถในการประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองประการนี้ ต้องดำเนินคู่กันไป และจำเป็นต้องกระทำด้วยความสุจริตกาย สุจริตใจ ด้วยความคิดความเห็นที่เป็นอิสระปราศจากอคติ และด้วยความถูกต้องตามเหตุตามผลด้วย จึงจะช่วยให้งานบรรลุจุดหมายและประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วยแท้จริง"
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นบางส่วนของพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "อคติ" ไว้ว่า ความลำเอียง ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นกลาง ความไม่เป็นหลัก
"อคติ" แปลอีกอย่างหนึ่งว่า การดำเนินไปในแนวทางที่ไม่สมควร ไม่ควรไป หรือไปไม่ได้ หมายถึง แนวทางที่ไม่ควรปฏิบัติ เพราะเมื่อปฏิบัติแล้วย่อมทำให้หมู่คณะ กิจการ และความดีงามดำเนินต่อไปได้ยาก หรือไปไม่รอด
ท่านว่า อคติเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ปกครอง หรือผู้นำควรเว้น ถ้าเว้นไม่ได้ ความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นหลัก ความยุติธรรมก็ไปไม่รอด
ส่วนคำว่า "ลำเอียง" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า ความเอนเอียงเข้าข้าง ความไม่เที่ยงธรม คือเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่วางตัวเป็นกลาง ไม่ให้ความยุติธรรม
ลำเอียง เป็นคำแปลของหัวข้อธรรมที่มีชื่อว่า "อคติ" ซึ่งกล่าวถึงเหตุให้เกิดความลำเอียงไว้ ๔ อย่าง คือ
๑.ฉันทาคติ หมายถึง ลำเอียงเพราะ "รักชอบพอ" เช่น การตัดสินคดีอธิกรณ์ พิพาทต่างๆ ก็ดี การแบ่งปันของก็ดี การพิจารณาให้ยศหรือรางวัลก็ดี ด้วยอำนาจพอใจรักใคร่กัน โดยตัดสินผู้ที่ชอบพอกันเป็นผู้ชนะทั้งๆ ที่ไม่ควรชนะ
๒.โทสาคติ หมายถึง ลำเอียงเพราะ "ไม่ชอบ" เช่น การตัดสินคดีด้วยอำนาจความโกรธ ไม่ให้ยศหรือรางวัลแกผู้ที่ไม่ชอบกันทั้งๆ ที่เขาควรได้ กิริยาอาการอย่างนี้เป็นการไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง
๓.ภยาคติ หมายถึง ลำเอียงเพราะ "กลัว" เช่น เมื่อได้รับคำฟ้องแล้ว ยังไม่ทันได้สอบสวนให้รอบคอบ ก็ด่วนตัดสินผิดๆ พลาดๆ ขาดๆ เกินๆ ไม่ถูกต้อง ยังไม่พอดีตามที่ควร
๔.โมหาคติ หมายถึง ลำเอียงเพราะ "หลง" เช่น ผู้มีอำนาจทำผิด ผู้พิพากษาไม่กล้าตัดสินลงโทษเพราะกลัวเขาจะทำร้ายตอบ หรือผู้น้อยที่อยู่ในความปกครองทำความผิด ผู้ปกครองไม่กล้าลงโทษเพราะเกรงจะขาดความเมตตากรุณา