พระเครื่อง

 เหรียญ ๒๕ พุทธศตวรรษเหรียญที่ระลึกแห่งการสร้างพุทธมณฑล จ.นครปฐม

เหรียญ ๒๕ พุทธศตวรรษเหรียญที่ระลึกแห่งการสร้างพุทธมณฑล จ.นครปฐม

13 ธ.ค. 2554

เหรียญ ๒๕ พุทธศตวรรษเหรียญที่ระลึกแห่งการสร้างพุทธมณฑล จ.นครปฐม : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู

                  การจัดสร้างพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ ถือว่าสุดยอดแห่งประวัติศาสตร์ของวงการพระเครื่อง พิธีจัดสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีตั้งแต่กรุงรัตน์โกสินทร์เป็น ราชธานีมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีพิธีใดจะยิ่งใหญ่เท่า
    
              วัตถุประสงค์การจัดพระ ๒๕ พุทธศตวรรษ เพื่อหารายได้สร้างพุทธมณฑลที่ศาลายา จ.นครปฐม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในเมืองไทย สมัยนั้นใครที่ไปติดต่อราชการที่อำเภอหรือจังหวัด จะต้องทำบุญเช่าพระ พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ สมัยก่อน ๑ องค์ ๕ บาท ทำให้คนไทยเกือบทุกบ้านมีพระรุ่นนี้กันอย่างทั่วถึง
   
              ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพุทธมณฑล เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๘ และเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปจำลอง "พระพุทธปฏิมาประธานพุทธมณฑล" รวมทั้งทรงกดพระพิมพ์ พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ เนื้อดินผสมเกสร จำนวน ๓๐ องค์ ณ มณฑลพิธีวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐
   
              มีพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยจำนวนมาก เรียกว่ารูปใดดังมีชื่อเสียงในสมัยก็นิมนต์มากปลุกเสกทุกวัด เช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร  กทม.
    
              พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ เนื้อทองคำ มีการจัดสร้างเพียง ๒,๕๐๐ องค์ เพื่อให้สอดคล้องกับปีการจัดสร้าง คือ พ.ศ.๒๕๐๐ ใช้ทองคำหนักประมาณ ๖ สลึง โดยใช้วิธีสั่งจองล่วงหน้าในราคา ๒,๕๐๐ บาท
   
              นอกจากนี้แล้วมีการจัดสร้างพระเพื่อเป็นการสมนาคุณกับผู้ร่วมทำบุญอีกด้วย คือ พระเนื้อทองคำหนัก ๑ บาท อีก ๑๕ องค์ มอบเป็นที่ระลึกให้ผู้ร่วมทำบุญสมทบทุนสร้างพุทธมณฑล ๑๐,๐๐๐ บาท ในครั้งนั้นมีผู้สมบททุนสร้าง ๑๕ ราย
   
              ส่วนเนื้อนากนั้นมีการจัดสร้าง ๓๐ องค์ หนัก ๑ บาท เพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกสำหรับผู้ทำบุญ ๕,๐๐๐ บาท มีผู้ทำบุญ ๓๐ ราย ในขณะที่ผู้ทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท จะได้รับมอบพระเนื้อเงิน ๑ องค์ ปรากฏว่ามีผู้ร่วมทำบุญ ๓๐๐ ราย
     
              เนื่องจากจำนวนสร้างมีมากเป็นล้านองค์ ทำให้ยังคงมีเหลืออยู่ที่พุทธมณฑล ในขณะเดียวกันในตลาดพระก็ยังมีการเช่าบูชากันในราคาที่ไม่แพงนัก ยกเว้นพระเนื้อพิเศษ เช่น เนื้อทองคำ เนื้อเงิน หรือหรือดินเผาสีแปลกๆ องค์สวยคมชัดมาก ก็อาจจะมีราคาแพงกว่าองค์ธรรมดา