
'หยู ท่าดินแดง'ผู้บุกเบิกศูนย์พระแท้ที่...'สิงคโปร์'
'หยู ท่าดินแดง'ผู้บุกเบิกศูนย์พระแท้ที่...'สิงคโปร์' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้เคยทำวิจัยไว้ว่า ธุรกิจแผงพระหรือศูนย์พระเครื่องในต่างประเทศ ธุรกิจพระเครื่องนั้นไม่ได้เฟื่องฟูเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์นั้นก็มีแผงพระเครื่องด้วย โดยในมาเลเซียมีแผงพระอยู่เกือบทุกรัฐ โดยแต่ละรัฐจะมีแผงพระ ๒-๓ แผงเป็นอย่างน้อย ส่วนในสิงคโปร์มีแผงพระอยู่กว่า ๓๐๐ แผง
นอกจากนี้ในไต้หวันฮ่องกง หรือแม้แต่ในยุโรป และสหรัฐ โดยเฉพาะในแหล่งที่เป็นที่ชุมชนของคนเอเชียที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่มีแนวโน้มว่าจะมีการตั้งแผงพระ เนื่องจากพระเครื่องนั้นเป็นที่นิยมในกลุ่มคนต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ ซึ่งบางเว็บไซต์ก็เป็นภาษาอังกฤษ และการเผยแพร่ข้อมูลของหนังสือพระเครื่องที่มีอยู่ถึง ๔๐ ฉบับในปัจจุบัน ทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจเรื่องราวของพระเครื่อง รวมทั้งชีวประวัติของบรรดาเกจิอาจารย์
ในจำนวนแผงพระกว่า๓๐๐ แผงที่สิงคโปร์ส่วนใหญ่จะเป็นแผงพระใหม่ของชาวสิงคโปร์ แต่ที่แผงพระซึ่งใช้ชื่อว่า "www.Thaprachan.com" เป็นของคนไทยที่มีนามว่า "นายประเสริฐ จินดาบุญจรัส" หรือเจ้าของฉายา "หยู ท่าดินแดง" ที่สำคัญ คือ ขายพระเก่าพระกรุ และมีการรับประกันความแท้และคืนเงินเช่นเดียวกับแผงพระในประเทศ
หยูท่าดินแดง บอกว่า เมื่อ ๓๐ ปีก่อน ไปกราบหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี และหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว ด้วยตนเอง จึงมีศรัทธาต่อท่านตลอดมา ศึกษาหาข้อยุติเรื่องเหรียญและวัตถุมงคลของหลวงปู่โต๊ะ และพระเครื่องหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม อยู่นานหลายปีจนแม่นยำ สามารถปล่อยเช่าเองได้ไม่ผิดเพี้ยน แม้แต่พระเครื่องทั่วไปก็เก็บสะสมไว้เยอะ จึงตัดสินใจเปิดศูนย์พระที่ท่าพระจันทร์ก่อนจะไปเปิดที่ท่าดินแดง
ส่วนการเปิดศูนย์พระเครื่องที่ประเทศสิงคโปร์นั้นเริ่มจากการได้รู้จักกับลูกค้าชาวสิงคโปร์ นายตันฉี่ กวง เริ่มจากการเป็นลูกค้ามาเช่าพระขุนแผน วัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรีโดยการแนะนำจากเพื่อนในวงการพระเครื่อง รวมทั้งเช่าพระหลวงปู่โต๊ะ พระกรุ และพระเกจิ เช่ากันไปเช่ากันไปเช่ากันมาจนกลายเป็นเพื่อนมากว่า ๒๐ ปี
ทั้งนี้เมื่อ ๕ ปีก่อน กระแสจะตุคามรามเทพฟีเวอร์ ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จตุคามฯ จากวัดและสำนักต่างๆ ยังลามทุ่งข้ามประเทศไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง จึงร่วมลงทุนการเปิดร้านที่สิงคโปร์โดยใช้ชื่อร้านว่า www.Thaprachan.com ในศูนย์การค้าฟูรุชโซคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่มีร้านพระหลายสิบร้านมากที่สุดในสิงคโปร์ มีพระทุกวัด ทุกสำนัก ไปขาย ซึ่งเปรียบได้กับศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วานของเมืองไทย ภายหลังกระแสจตุคามฯ ลดลงจึงเปลี่ยนเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าๆ โดยได้นำพระหลวงปู่โต๊ะไปขายเป็นอันดับแรก
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือพระเครื่องและวัตถุมงคลที่วางขายในสิงคโปร์กว่า ๙๐% เป็นของปลอม ซึ่งแน่นนอนที่สุดว่าราคาต้องต่ำมาก การนำพระแท้ไปขายในราคาสูงจึงทำตลาดยากมาก สิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเข้าใจเรื่องพระแท้พระปลอมได้เป็นอย่างดี คือ การพาลูกค้าที่ซื้อพระไปนำพระมาส่งประกวดพระเครื่องในเมืองไทย เดือนละ ๑-๒ ครั้ง มากน้อยขึ้นอยู่กับความสนใจของลูกค้า บางงานมีลูกค้าชาวสิงคโปร์เดินทางมาส่งพระเข้าประกวดนับ ๑๐ คน สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้เป็นอย่างดี ในที่สุดลูกค้าก็เข้าใจว่าพระแท้แตกต่างจากพระปลอมอย่างไร
สำหรับนโยบายการให้เช่าพระเครื่องอย่างหนึ่งที่หยู ท่าดินแดง ทำมาตลอดที่อยู่ในวงการพระเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองไทยหรือสิงคโปร์ คือ พระที่ออกจากร้านทุกองค์นอกจากรับประกันพระแท้แล้วยังรับประกันคืนเงินได้ทุกเวลา โดยหักเปอร์เซ็นต์ตามสัดส่วนของเวลาที่เช่าไป ส่วนใหญ่มาตรฐานอยู่ที่ ๒๐% ของราคาเช่าไปในครั้งแรก ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาคืน แต่จะกลับมาเช่าเพิ่มภายหลัง
ทุกอย่างเริ่มต้นที่ศรัทธาเป็นที่ตั้งก่อนชาวสิงคโปร์เช่าพระเครื่องพระเขาเชื่อในพุทธคุณและปาฏิหาริย์ในองค์พระ จากนั้นก็เปลี่ยนมาสนใจในพุทธศิลป์ในองค์พระ ก่อนที่จะไปสนใจในพุทธธรรมที่พระเกจิต่างๆ ฝากไว้ในองค์พระ เช่น ประวัติและคำสอนของหลวงปู่โต๊ะ มีการนำเสนออย่างเป็นเรื่องราวในหนังสือพระเครื่องที่สิงคโปร์ หยูท่าดินแดงกล่าว
พร้อมกันนี้หยู ท่าดินแดง พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "จริงๆ แล้วพระเครื่องและวัตถุมงคลของประทศไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศมาก คนต่างชาติที่มาเช่าพระเครื่องส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องพระ มีเงินที่จะเช่าพระ แต่คนขายมักเห็นแก่เล็กเห็นแก่น้อยขายพระปลอมโดยบอกว่าเป็นพระแท้ ทำให้ผู้ซื้อขาดความเชื่อถือ มักจะตีตราว่าคนไทยชอบขายพระปลอม ซึ่งเป็นเรื่องอยากและใช้เวลานานในการสร้างความเชื่อถือเรื่องพระแท้ หากทำได้พระเครื่องจากเมืองไทยจะขึ้นสู่ตลาดระดับสากล"
พระปิดตาหลวงปู่โต๊ะยอดนิยมสุดๆๆ
หยูท่าดินแดง บอกว่า ในเมืองไทยพระที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟักไม่ว่าจะเป็นพระที่สร้างจากวัดไหน และพระเกจิรูปใดสร้าง จะเหมารวมเรียกว่า พระสมเด็จ แต่ที่สิงคโปร์มาเลเซีย แลฮ่องกงเรียกพระปิดตาไม่ว่าสร้างจากวัดไหน และพระเกจิรูปใดสร้าง จะเหมารวมเรียกว่า พระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ ทั้งหมดเพราะกระแสความนิยมและความดังของพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะมีชื่อเสียงโด่งดังข้ามประเทศมานากว่า ๑๐ ปี แล้ว
ในตลาดพระเครื่องสิงคโปร์นั้นต้องยอมรับว่าพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะของแท้มีน้อย เมื่อคนเหมารวมว่าเป็นพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนสิงคโปร์เข้าใจว่าพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะมีความแตกต่างจากพระปิดตาของวัดและเกจิรูปอื่นๆ อย่างไร ต้องใจเวลาหลายปีซึ่งปัจจุบันนี้ความเข้าใจในพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะมีเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ส่วนพระเกจิยุคก่อนที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือ พระปิดตาหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว อ.นครไชยศรี จ.นครปฐม พระหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อผงและเนื้อดิน นอกจากนี้แล้วพระกรุที่ราคาไม่สูงก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
สำหรับพระเกจิยุคปัจจุบันที่ได้รับความนิยมมากชาวสิงคโปร์ตลอดกาลนั้นหยู ท่าดินแดง บอกว่า คนเล่นพระในสิงคโปร์อย่างน้อยต้องมี พระหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด ไว้บูชาอย่างน้อย ๑ องค์ แต่การเล่นส่วนใหญ่จะผิดทาง ของปลอมมีมากกว่าของแท้ เพราะคนที่นั้นยังไม่รู้ว่าของแท้และของปลอมแตกต่างกันอย่างไร เมื่อเป็นพระก็น่าจะเป็นของแท้ทั้งหมด