พระเครื่อง

พระกริ่งคลองตะเคียน๑เดียวของพระกรุที่มียันต์

พระกริ่งคลองตะเคียน๑เดียวของพระกรุที่มียันต์

29 พ.ย. 2554

พระกริ่งคลองตะเคียน๑เดียวของพระกรุที่มียันต์ : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู

    ในจำนวนพระกรุที่แตกกรุมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏอักขระเลขยันต์อยู่บนองค์พระ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่มีพระอยู่เพียงกรุเดียว ที่มีอักขระยันต์ คือ "พระกริ่งคลองตะเคียน" 
   
          การแตกกรุของพระกริ่งคลองตะเคียน ครั้งแรกนั้นพบในสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่วนเหตุที่เรียกว่า กริ่งคลองตะเคียน เนื่องจากเมื่อตอนที่พบนั้น เจอเรี่ยราดอยู่เต็มพื้นดิน ตามกรุวัดร้าง และเนินดินแถบ ริมคลองตะเคียน ต.คลองตะเคียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
   
          พุทธลักษณะ เป็นองค์พระปฏิมากร ประทับนั่งอยู่บนฐานสูง ใต้ต้นโพธิ์ มีใบโพธิ์ปกคลุมเป็นร่มเงา คล้ายๆ กับ พระคง ลำพูน มียอดเป็นปลีสูง ด้านหลังอูม และมีอักขระเลขยันต์จารอยู่ด้านหลัง บางองค์ทำเป็นองค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง (พิมพ์ ๒ หน้า)
   
          เอกลักษณ์ของพระกริ่งคลองตะเคียน คือ พระทุกองค์จะต้องเจาะและบรรจุเม็ดกริ่งเข้าไป เวลาเขย่าจะมีเสียงดัง นอกจากนี้แล้ว พระทุกองค์จะต้องมีอักขระ และถือว่าเป็นพระกรุเพียงกรุเดียวที่มีอักขระเลขยันต์ ด้านหลังองค์พระ เข้าใจว่าเป็นพระที่สร้างสมัยอยุธยายุคปลายๆ โดยพระเกจิอาจารย์ หรือผู้เรืองเวทย์ในสมัยนั้น
   
          พระกริ่งคลองตะเคียน มีหลายพิมพ์ คือ ๑.พิมพ์หน้าใหญ่ไหล่ยก ค่านิยมสวยๆ หลักหมื่นกลางๆ ถึงแสนต้นๆ ๒.พิมพ์สองหน้า เป็นพิมพิ์ที่หายาก ค่านิยมสูงกว่าทุกพิมพ์ พระพิมพ์นี้ทั้ง ๒ หน้าส่วนใหญ่จะเป็นคนละพิมพ์กัน ๓.พิมพ์หน้าเล็ก ๔.พิมพ์หน้างกลาง และ ๕.พิมพ์ปิดตา นอกจากนี้ยังมีพิมพ์พิเศษ ซึ่งมีน้อยมาก เข้าใจว่า เป็นจินตนาการของผู้สร้างเอง และล้อเลียนแบบอย่างพระกรุอื่นๆ
   
          ยันต์หลังองค์พระกริ่งคลองตะเคียน เป็นการจารยันต์หลังจากพิมพ์เป็นองค์พระแล้ว ซึ่งน่าจะจารระหว่างที่องค์พระยังไม่แห้ง ไม่ใช่ยันต์ที่ติดมากับแม่พิมพ์ขององค์ อย่างเช่นพระใหม่ที่สร้างในปัจจุบัน เหตุผลที่สนับสนุน คือ ทั้งพระกริ่งคลองตะเคียน พิมพ์หน้าใหญ่ และพิมพ์หน้าเล็ก รวมทั้งพิมพ์อื่นๆ ยันต์ด้านหลังขององค์พระมีหลากหลาย
   
          ทั้งนี้ หากจะวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ในช่วงที่การสร้างพระจากยันต์ที่ปรากฏบนองค์พระนั้น สันนิษฐานว่า การสร้างพระรุ่นนี้ น่าจะอยู่ในช่วงเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ มีการรบราฆ่าฟันกัน ผู้สร้างต้องการให้นำไปใช้ป้องกันตัว ยันต์ส่วนใหญ่จึงมีพุทธคุณดีด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ป้องกันได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็น มีด ไม้ หรือ ลูกปืน ตลอดจนเรื่องทางเขี้ยว งา
   
          ปัจจุบันนี้ต้อยอมรับว่าฝีมือปลอมทำได้เฉียบขาดมาก ขนาดตะกันสีขาวขุ่นที่เกาะในร่องยันต์ทำให้เซียนตกม้าตายมาแล้ว