"เบี้ยแก้"กันสารพัด-แก้สารพัน
"เบี้ยแก้"กันสารพัด-แก้สารพัน : ชั่วโมงเซียน โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์
คติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่เจริญในยุคพระเวทและยุคมหากาพย์เรื่อยมานั้น ได้ให้ความสำคัญกับหอยทะเล โดยกล่าวถึงสังข์อสูรที่ลักลอบกลืนคัมภีร์พระเวทของพระพรหมลงไป ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องตามมาล้วงคัมภีร์จากท้องหอยสังข์ จึงบังเกิดเป็นร่องพระดัชนีจากพระหัตถ์ขององค์นารายณ์บริเวณร่องกลางของเปลือกหอยส่วนท้อง พราหมณ์อินเดียจึงเคารพและนำหอยสังข์ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในมหาสมุทรอินเดียมาประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยนับถือว่าเคยเป็นที่สถิตแห่งคัมภีร์พระเวท และมีรอยพระหัตถ์พระนารายณ์ปรากฏอยู่
นอกจากนี้ยังมีหอยทะเลที่เรียกว่าเบี้ย ยังได้รับความเคารพจากพวกพราหมณ์ในฐานะสัญลักษณ์แห่ง "ศักติ" อันเป็นลัทธิที่บูชาเทวสตรี เช่น พระลักษมี พระอุมา พระสุรัสวดี เรียกกันว่า "ภควจั่น" ซึ่งมาจาก ภควดี หมายถึง อิตถีเพศที่ควรเคารพบูชา ลักษณะของหอยเบี้ยนั้นจะเป็นหอยทะเลกาบเดี่ยว เปลือกแข็ง หลังอูมนูน ส่วนท้องแบนเป็นช่อง ปรากฏรอยขยักคล้ายฟันเล็กๆ บ้าง รู้จักกันในชื่อหอยจั่น หรือหอยจักจั่น และหอยพลู มีหลายขนาดตั้ง แต่ใหญ่กว่าหัวแม่มือและขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อย
ในสมัยก่อนเมื่อเบี้ยถูกนำมาใช้เป็นเงินตรา เบี้ยจึงมีความสำคัญและผูกพันกับคติความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สามารถใช้แก้บนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวาอารักษ์ตลอดจนผีสางนางไม้ได้ ตัวอย่างเช่นในงานวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนได้กล่าวถึงตอนทางเทพทองจะคลอดขุนช้างว่า "บ้างก็เสกมงคลปลายข้าวสาร เอาเบี้ยบนลนลานเหน็บฝาเกลื่อน" และยังนิยมนำเบี้ยจั่นมาทำเครื่องห้อยในแบบเครื่องรางโดยประดับอัญมณี
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความเกรงว่า หากเครื่องห้อยหากประดับอัญมณีมีค่าดังกล่าวสืบทอดไปคนจะเข้าใจว่าเป็นราชตระกูลและอาจมีปัญหาเรื่องโจรผู้ร้ายถึงกับมีประกาศห้ามราษฎรประดับประดาเหรียญเสมาห้อยคอและภควจั่นด้วยเพชรพลอยและลงยาราชาวดี (การลงยาสีน้ำเงินหรือสีฟ้าอันเป็นสีในพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนเป็นธรรมเนียมการนับเป็นสีกษัตริย์เรียกว่าสีราชาวดี) ดังความปรากฏว่า
"จะแต่งบุตรและหลาน ก็ให้ใส่แต่จี้เสมาภควจั่นจำหลัก ประดับพลอยแดงเขียวเท่านั้น อย่าได้ประดับเพชรถมยาราชาวดี...และห้ามอย่าให้ช่างหล่อทั้งปวงรับจ้างทำจี้เสมาภควจั่นประดับเพชรถมยาราชาวดี และกระจับปิ้งพริกเทศทองคำ กำไลเท้าและแหวนถมยาราชาวดีประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าข้าราชการผู้น้อยและอาณาราษฎร์ ช่างทองกระทำผิดถ้อยอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนจะเป็นโทษอย่างหนัก"
ดังนั้นจึงอาจอนุมานได้ว่า คำว่า "เบี้ยแก้" เดิมมาจากคำว่า เบี้ยแก้บน เนื่องจากใช้เป็นเงินบนบานศาลกล่าวและเกิดสัมฤทธิผลความหมายจึงพ่วงการแก้ไขจากร้ายให้กลายเป็นดี จึงมีอานุภาพทางแก้กันสิ่งอาถรรพณ์ ที่จะให้โทษและทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตน
โบราณาจารย์จะทำเบี้ยแก้โดยนำหอยเบี้ยมาบรรจุปรอท แล้วอุดด้วยชันโรง หุ้มด้วยแผ่นตะกั่วหรือผ้า แล้วนำมาทักด้วยเชือกทารักหรือยางมะขวิด ผ่านการปลุกเสกกำกับใช้ผูกเอวหรือห้อยคอ แก้คุณไสยโดยการแช่น้ำมนต์ดื่ม อาบ
ปรอทนั้นคือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมีความหนักแต่เป็นของเหลว มวลของปรอทจะแน่นหนามากถึงขนาดลอยธาตุอย่างอื่นบนปรอทได้และเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ แต่ก่อนจะใช้ปรอทในการแยกธาตุให้บริสุทธิ์ ดังนั้นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของปรอทก็คือ การแยกสิ่งที่แปลกปลอมให้ออกไปให้พ้นไป และยังใช้ในการรักษาโรคต่างๆ อีกด้วย คนโบราณจะโปรยปรอทไว้รอบๆ บ้านเพื่อไล่ธาตุที่แปลกปลอม เสนียดจัญไรต่างๆ
ส่วนชันโรงนั้นคือรังของสัตว์มีปีกอยู่ในตระกูลผึ้ง แต่ตัวมีขนาดเล็ก จะถ่ายมูลทำรังตามต้นไม้ กิ่งไม้ และใต้ดินทำนองปลวก มีลักษณะเหนียวคล้ายชัน สีน้ำตาลเข้ม นับเป็นวัสดุอาถรรพณ์ที่นำมาใช้อุดไม่ให้ปรอทหนีออกจากตัวเบี้ย บางสำนักก็ใช้อุดใต้ฐานพระเมื่อบรรจุเม็ดกริ่ง แผ่นยันต์หรือพุทธาคมต่างๆ
เบี้ยแก้นั้นเมื่อเขย่าจะดังขลุกๆ อันเป็นเสียงปรอทกลิ้งไปกลิ้งมาที่กรอกเข้าไปในตัวเบี้ย เนื่องจากสามารถหดและขยายตัวตามอุณหภูมิหากเขย่าเบี้ยแก้ตอนอากาศร้อนจะไม่ค่อยได้ยินเสียง เนื่องจากปรอทขยายตัว แต่ถ้าอากาศเย็นจะมีพื้นที่ว่างในตัวเบี้ยมากกว่าเสียงจะดังฟังชัด
เบี้ยแก้ยอดนิยม
ที่วัดกลางคูเวียง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน หมู่ ๑ ต.สัมปทวน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม นอกจากจะมีหม้อยาใหญ่ที่สุดในโลก ที่ พระครูโสภณสาธุการ เจ้าอาวาสสร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่หลวงพ่อชื่น เขมจารี อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคูเวียง ซึ่งศึกษายาสมุนไพรโบราณ และรักษาผู้ป่วยละแวกนั้นในสมัยก่อน
พระครูโสภณสาธุการ ยังสร้างเบี้ยแก้ใหญ่ที่สุดในโลก เชื่อว่า ปิดทองเบี้ยแก้เพื่อ "กันถูกกระทำย่ำยี กันคุณผีคุณคนคุณไสยเวทอาถรรพณ์ ยาสั่ง ฝังรูปฝังรอย ผีเข้า เจ้าสิงมิลงเอย กันไข้ป่าสารพัดผีป่า แก้เจ็บปวดด้วยโรคร้ายแค่เวรแต่กรรม เมื่อมีมรณะ สัญญา ให้มีเวทนาทุรนทุรายด้วยสัมภเวสี โอปะปาติกะของเปรต อสุรกายให้เร่าร้อน ทุรนทุรายเจ็บแสบ ปวดร้อนร้อนร้าว หนาวสั่นก็ดี เพราะกรรมเก่าเวรก่อนนั้นเป็นวิบาก"
สำหรับเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือทางด้านการทำเบี้ยแก้ ได้แก่ หลวงปู่รอด วัดนายโรง บางกอกน้อย กทม., พระพุทธวิถีนายก (บุญ ขนธโชติ) หรือหลวงปู่บุญ หลวงปู่ทอง หลวงปู่เพิ่ม หลวงปู่เจือ วัดกลางบางแก้ว นครชัยศรี นครปฐม, หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ กทม., หลวงพ่อซำ อินทสุวณโณ วัดตลาดใหม่ วิเศษชัยชาญ อ่างทอง, หลวงพ่อนุ่ม ธมมราโม วัดนางในธัมมิการาม วิเศษชัยชาญ อ่างทอง,
หลวงปู่คำ ปัญญาสาโร วัดโพธิ์ปล้ำ วิเศษชัยชาญ อ่างทอง, พระครูธรรมจริยาภิรมย์ หรือหลวงพ่อทัด อินทโชติ วัดคฤหบดี กทม., หลวงพ่อทรง ฉนทโสภี วัดศาลาดิน วิเศษชัยชาญ อ่างทอง, หลวงปู่หงส์ พรหมปณโญ วัดเพชรบุรี สุรินทร์, หลวงพ่อเผือด นราสโก วัดมะกอก ตลิ่งชัน กทม. ซึ่งแต่ละสำนักล้วนแล้วแต่มีกรรมวิธีการจัดสร้างเบี้ยแก้ตามสูตรโบราณและมีพุทธคุณเป็นที่ประจักษ์แก้ไขสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นดีสมดังชื่อจริงๆ