
เส้นทางสู่สันติ (6 )สามัคคีธรรม สร้างสันติ
เส้นทางสู่สันติ (6 )สามัคคีธรรม สร้างสันติ : คันฉ่องและโคมฉาย โดย ว.วชิรเมธี
ความใจแคบ ทำให้ใครเห็นด้วยกับเรา เราก็รัก ใครเห็นต่างจากเรา เราก็ชัง พอชังแล้วก็เหยียดว่าเขามีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์น้อยกว่าเรา และเมื่อเราเห็นว่าเขาต่ำกว่าเรา เราก็ลุกขึ้นมาทำร้ายเขาได้โดยไม่รู้สึกผิด ใจแคบเมื่อไหร่การเข่นฆ่าราวีก็เกิดขึ้น การเบียดเบียนก็เกิดขึ้นได้เมื่อนั้นเช่นเดียวกัน
ที่ใดก็ตามที่มีตัณหา มานะ ทิฐิ คือ อยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ ณ ที่นั้นก็จะไม่มีสันติภาพ ถ้าในใจของเราเต็มไปด้วยความอยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ ใจของเราก็ไม่มีสันติ
คนที่มีความโลภมากๆ มีแล้วก็อยากมีอีกหายุติไม่ได้จะนอนไม่หลับ คนที่อยากใหญ่ บ้าอำนาจ อยากเอาชนะคะคาน อยากอยู่เหนือผู้อื่นตลอดเวลา ก็ไม่มีสันติภาพเพราะต้องเกรงกลัวว่าผู้อื่นจะมาเทียบรัศมี และคนที่ใจแคบเห็นคนที่คิดต่าง พูดต่าง เทศน์ต่างก็ฟังไม่ได้ ไม่มีความสุข ก็ไม่มีทางมีสันติภาพ
ฉะนั้นตัณหา มานะ ทิฐิ อยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ มีที่ไหนไม่ว่าจะเป็นมิติของจิตใจ มิติขององค์กร มิติของสังคม วัฒนธรรม ประเทศชาติหรือในเวทีโลก ถ้าอยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ แทรกซึมอยู่ในมิติไหน มิตินั้นก็ไร้สันติภาพ
ถ้าเราจะสร้างสันติภาพ เราจะทำอย่างไร
ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุบอกว่า ให้เรารู้จักใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ท่านได้ใช้คำว่า ธรรมะคือหน้าที่ ถ้าเราแต่ละคนมุ่งมั่นทำหน้าที่ของเราอย่างชัดเจนแน่นอนที่สุด สันติภาพก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่ได้มุ่งมั่นทำหน้าที่ของเรา เรามีหน้าที่อย่างหนึ่งแต่เราไพล่ไปทำอีกอย่างหนึ่ง ก็เกิดวิกฤต พอวิกฤตก็ไร้สันติภาพ
ในทัศนะของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมว่า หากอยากให้โลกนี้มีสันติภาพ ก็ต้องปฏิบัติตามหลักการที่ชื่อ สาราณียธรรม หรือ สามัคคีธรรม ทั้ง ๖ ประการต่อไปนี้ คือ
๑.เมตตากายกรรม คิดด้วยเมตตา
๒.เมตตาวจีกรรม พูดด้วยเมตตา
๓.เมตตามโนกรรม ทำด้วยเมตตา
๔.สาธารณโภคี มีจิตสำนึกสาธารณะ ได้ทรัพยากรดีๆ มา แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้
๕.ทิฐิสามัญญตา มีความคิด ความเห็นลงรอยเป็นหนึ่งเดียวกัน
๖.สีลสามัญญตา มีความประพฤติ หรือมีแบบแผนในการดำรงชีวิตลงรอยเป็นแนวเดียวกัน
ถ้ามีสาราณียธรรม ทั้ง ๖ ประการดังนี้เมื่อไร เมื่อนั้นแหละสันติภาพในสังคมในประเทศและในโลกก็จะเกิดขึ้น
๑.คิดด้วยเมตตา หมายความว่า ให้เรารู้จักเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหรือโลกทัศน์ของเรา เช่น ปกติเวลาเราเห็นคน เราก็จะรักเฉพาะคนที่มีรากร่วมทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกันกับเรา เช่นคนไทย ถ้าเป็นคนเหนือด้วยกันก็จะรู้สึกผูกพันกันง่ายกว่าคนใต้ ถ้าคนใต้ด้วยกันเจอกันที่ไหน พอแหลงใต้ด้วยกันก็จะรู้สึกว่าเป็นเพื่อนกันทันที ถ้าไปเจอกันในต่างแดน ถ้าพูดไทยเหมือนกันก็กระโดดเข้ากอดคอกันได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน หรือทางด้านศาสนา ถ้าชาวพุทธเจอชาวพุทธ ก็จะรู้สึกเป็นพวกเดียวกันทันที ชาวคริสต์เจอชาวคริสต์ เขาก็จะรู้สึกว่าเป็น คริสเตียนเหมือนกัน ก็จะจับมือกันได้ง่ายกว่า นี่เป็นวิธีคิดที่แบ่งขั้ว เลือกข้าง แยกส่วน เลือกรักเลือกเมตตาเฉพาะคนที่มีรากร่วมทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกันกับเราเท่านั้น
แต่เมตตาที่แท้จริงนั้นจะอยู่เหนือสมมติทั้งหมดที่กล่าวมา และเมตตานี่แหละคือข้อแรกและข้อสุดท้ายของการปฏิบัติในทุกศาสนา