
พระกริ่งเขมรชัดเจนในพุทธคุณแต่ประวัติไม่ชัดเจน
พระกริ่งเขมรชัดเจนในพุทธคุณแต่ประวัติไม่ชัดเจน : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
พระกริ่งหน้าตั๊กแตน หรือพระกริ่งเขมร ที่ว่าเป็นพระกริ่งเขมรนั้น ไม่ได้หมายความว่า แตกกรุหรือพบในเมืองใดเมืองหนึ่งของประเทศเขมร ซึ่งไม่มีหลักฐานใดๆ บันทึกไว้เลยว่า แตกกรุที่เขมร ที่เรียกว่าพระกริ่งเขมรนั้น เรียกตามศิลปะที่มีลักษณะคล้ายๆ เขมรเท่านั้น เป็นการเรียกตามคนเล่นพระสมัยโบราณเรียกต่อๆ กันมา เท่าที่สันนิษฐานเข้าใจว่าสถานที่พบพระกริ่งเขมรและพระอุปคุต น่าจะพบในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเขมร เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ
นายศุภกร จิรยิ่งเจริญ (ล้ง ซาจั๊บ) หรือ ล้ง ท่าพระจันทร์ ผู้ชำนาญพระกริ่งสายวัดสุทัศนฯ และพระกริ่งทั่วไป บอกว่า กรรมวิธีการสร้างพระกริ่งเขมร พระกริ่งหน้าตั๊กแตน หรือพระกริ่งเขมร มีวิธีการสร้างที่แตกต่างไปจาก พระกริ่งของไทย จีน และทิเบต โดยสิ้นเชิง เอกลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าพระกริ่งอื่นๆ คือ แต่ละองค์จะมีลักษณะไม่ซ้ำกันเลย เพราะปั้นพิมพ์ทีละองค์
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่พระกริ่งเขมรเป็นพระที่มีไหลเวียนในตลาดและพบน้อยมาก ปีหนึ่งๆ จะมีเป็นข่าวเช่าซื้อในวงการ ๑-๒ องค์เท่านั้น อีกทั้งมีราคาแพงเป็นที่หวงแหนของผู้ครอบครอง ทำให้การศึกษาเรื่องพระกริ่งเขมรไม่กว้างขวาง คนส่วนใหญ่จะศึกษาจากรูปในหนังสือเท่านั้น ส่วนการทำปลอมนั้น ฝีมือยังไม่เข้าขั้น การหาองค์จริงเพื่อมาถอดพิมพ์นั้น เป็นเรื่องยาก
ทั้งนี้ หากจะเรียงตามลำดับราคาค่านิยมและการเสาะหายากง่าย คงจะได้ดังนี้ ๑.พระกริ่งตั๊กแตนบัวฟองมัน สวยสมบูรณ์ ค่านิยมประมาณ ๔-๖ แสนบาท ๒.พระกริ่งตั๊กแตนบัวตุ่ม ค่านิยม ๓-๕ แสนบาท และ ๓.พระกริ่งตั๊กแตนบัวฟันปลา ค่านิยมประมาณ ๒-๔ แสนบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระกริ่งตั๊กแตนจะมากด้วยพุทธคุณและราคา แต่เมื่อถามถึงประวัติความเป็นมาแล้วกลับตรงกันข้าม คือ ไม่มีประวัติที่มาของสถานที่พบ ผู้สร้าง ประวัติที่มีอยู่เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น ผิดกับพระกริ่งจีนที่มีประวัติว่า พ่อค้าวาณิชชาวจีนนำติดตัวมาจากเมืองจีน มาค้าขายกับคนไทยในสมัยสุโขทัยและอยุธยา ในขณะที่พระกริ่งบาเก็งก็มีกรุที่พบชัดเจน
พุทธคุณของพระกริ่งเขมรนั้น มีคติความชื่อกันว่าเด่นด้านคงกระพันชาตรี ซึ่งแตกต่างจากพระกริ่งที่สร้างในเมืองไทย และพระกริ่งจีนจะมีพุทธคุณโดดเด่นทางด้านการรักษาโรค และพระกริ่งที่มีพุทธคุณเด่นด้านรักษาโรคนั้น ต้องยกให้พระกริ่งของสังฆราชแพ แห่งวัดสุทัศนฯ