พระเครื่อง

"ภูเขาพระยอด"ศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งเมืองห้วยยอด จ.ตรัง

"ภูเขาพระยอด"ศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งเมืองห้วยยอด จ.ตรัง

04 พ.ย. 2554

"ภูเขาพระยอด"ศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งเมืองห้วยยอด จ.ตรัง : เยือนถิ่นเรือนธรรม โดย เรื่อง / ภาพ เมธี เมืองแก้ว สำนักข่าวเนชั่น

        ศูนย์ปฏิบัติธรรมภูเขาพระยอด ตั้งอยู่ในพื้นที่หลายร้อยไร่ ของหมู่ ๓ บ้านควนหนังขำ ต.ห้วยยอด อ. ห้วยยอด จ.ตรัง เป็นสถานปฏิบัติธรรมที่เพิ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ราว พ.ศ. ๒๕๔๕ เนื่องจากสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ตั้งอยู่บนเชิงเขาขนาดเล็ก สามารถมีความเงียบสงบ และมองเห็นทิวทัศน์ของตัวอำเภอห้วยยอดจากมุมสูงได้ จึงเป็นอีกสถานที่ที่ได้รับความนิยมทั้งจากนักปฏิบัติธรรม และนักท่องเที่ยว
   
           โดยสภาพทั่วไปของภูเขาแห่งนี้ รายล้อมไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ ได้มีพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ร่วมกันสร้าง "หลวงพ่อยอด" บนยอดเขาโดยเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย เนื้อโลหะทองเหลือง หน้าตักกว้าง ๕๐ นิ้ว

           สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบริเวณ "เขาพระยอด" มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นศาลเทพศักดิ์สิทธิ์รวม ศาลพระภูมิศักดิ์สิทธิ์รวม ฐานไตรมงคล พระพุทธบาทจำลอง หรือวิหาร ซึ่งใช้ประดิษฐานพระเกจิอาจารย์สำคัญทั่วประเทศ รวมทั้งห้องเก็บวัตถุมงคล และสมบัติมีค่าของแผ่นดิน

            แต่ที่เห็นจะสำคัญที่สุดและตั้งเด่นสง่ายอยู่บนจุดสูงสุดก็คือ "เจดีย์บัวทองภูเขาพระยอด" เจดีย์องค์นี้มีฐานล่างเป็นทรงกลมธรรมจักรธรรมชาติแนวนอน  และมีเจดีย์น้อย ๘ องค์ ประจำเสารอบนอก ๑๒ ต้น ประจำราศีนักษัตรจัดเป็นเสา ๔ ชุด ดิน น้ำ ลม ไฟ ทรงกลางแปดเหลี่ยม ควบคุมทิศทั้ง ๘ ประกอบด้วย พญานาค ๕ ตน และประดับด้วยเหรียญกษาปณ์ทองตลอดทั้งองค์ ส่วนภายในบรรจุของสำคัญมากมาย เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ พระธาตุเหล็กไหล เบี้ยไทยพดด้วงรัชกาลที่ ๓ รวมถึงเงินตราสกุลต่างๆ จำนวนประมาณค่ามิได้ 

           ด้านบนประดิษฐานพลับพลาที่ประทับของบูรพกษัตราธิราช นอกจากนั้น ยังมีการสร้างแผ่นศิลาจารึก พระราชกรณียกิจพอสังเขปด้วยสำหรับฐานล่างองค์เจดีย์ จะเป็นทรงเรือ เสมือนทรงเรือประพาสป่า เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร ขณะที่บริเวณด้านล่างสุด จะมีพระพุทธรูปประจำองค์เจดีย์ และเป็นสถานที่ฝึกเรียนสวดมนต์ หรือจุดเดินธาตุรักษาสุขภาพด้วยตัวเอง

           ถัดออกไปจะเป็นเจดีย์ ๕๒ ฐาน ที่เสมือนห้องพระที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินสยาม เพื่อประดิษฐานองค์พระประจำวัน เดือน เกิด และยังมีมณฑปประจำฐานเจดีย์ ๒๑๕ มณฑป เพื่อชมเรื่องราวพระพุทธศาสนา และภาพวรรณคดี  รวมทั้งศึกษาวิชาไปวัด บทสวดมนต์ การเจริญธาตุ และรักษาสุขภาพด้วยตัวเอง  ท่ามกลางความร่มรื่นของพืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และมุมสูงของยอดเขาที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ตัวอำเภอห้วยยอดได้อย่างชัดเจน

           อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณต้นปี ๒๕๔๓ คณะพุทธบริษัท  นำโดย "นายสมนึก ก่อสกุล" และ "อาจารย์พิชิต เอ้งฉ้วน"  ได้ชักชวนครอบครัวขึ้นไปสวดมนต์บนภูเขาแห่งนี้ ในขณะที่ทั้ง ๒ ครอบครัว กำลังสวดมนต์ธรรมะฆราวาสบ้าน  ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น เพราะทั้งที่แดดร้อนจ้า แต่จู่ๆ ก็เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก  หลังจากนั้น ทั้ง ๒ ครอบครัว จึงได้ปรึกษาหารือกันและเห็นว่า  ขณะนั้น "หลวงพ่อยอด" ประดิษฐานอยู่บนโขดหินกลางแจ้ง ควรสร้างมณฑปเพื่อปกป้องไม่ให้โดนแดดโดนฝน จึงเป็นที่มาของการก่อสร้าง "เจดีย์บัวเงินบัวทองภูเขาพระยอด" ขึ้น เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓

           นอจกานี้นายสมนึกและอาจารย์พิชิตยังชักชวน "คุณแม่เจิ้น อิ เจิน" (Jern Ie Jern) ชาวมาเลเซีย มาร่วมในการก่อสร้างด้วย โดยได้สร้างแท่นสมาธิ ๑๐๘แท่น  สำหรับปฏิบัติธรรม ทำบุญหรือพักผ่อนตามอัธยาศัย  พร้อมกับทางเดินปฏิบัติธรรมรอบฐานเจดีย์  ทั้งแนวรอบฐานธรรมจักร (แนวนอน) และแนวด้านธรรมจักร (แนวตั้ง) นอกจากนั้นยังมีการสร้างกุฏิขึ้นเรียงรายรอบสระน้ำ บริเวณด้านล่างขององค์เจดีย์ สำหรับการฝึกปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัท รวมถึงนักเรียน นักศึกษา เป็นหมู่คณะ

           ด้วยเหตุที่บรรยากาศที่เงียบสงบเยือกเย็นเป็นอย่างยิ่งของ "ศูนย์ปฏิบัติธรรมภูเขาพระยอด" ทำให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งใน จ.ตรัง จากต่างจังหวัด หรือจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน ไต้หวัน เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา