พระเครื่อง

"คนสองเพศ"กับการถูกทำให้หายไปจากสังคม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คนสองเพศ"กับการถูกทำให้หายไปจากสังคม: วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระชาย วรธัมโม

          ผู้เขียนมีเพื่อนคนหนึ่ง เธอเป็นคนสองเพศ ชีวิตของเธอเจออะไรต่างๆ มากมาย วันนี้จึงผู้เขียนจึงอยากเสนอเรื่องนี้เพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคม

          “คนสองเพศ” หมายถึง บุคคลนั้นมีอวัยวะเพศกำกวมดูไม่ออกว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง เนื่องจากมีอวัยวะเพศสองอย่างอยู่ในคนคนเดียวกัน    

          เมื่อเด็กสองเพศถือกำเนิดขึ้นมา พ่อแม่มักปรึกษากับแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดตกแต่งให้เหลือเพียงเพศเดียว (เมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาระยะหนึ่ง) ทั้งนี้ เพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อนเมื่อพ่อแม่ต้องไปแจ้งที่อำเภอว่าลูกของตนเป็นเพศอะไร แต่การลดความยุ่งยากซับซ้อนกลับทำให้เกิดความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

          สมมติว่า “เด็ก ก.” เกิดมามีสองเพศ แต่อวัยวะเพศดูเป็น ‘จิ๋ม’ มากกว่าจะเป็น ‘จู๋’ คืออาจจะมีจู๋โผล่ออกมานิดหน่อย ทำให้เพศดูกำกวม ด้วยความไม่รู้พ่อแม่และแพทย์จะพิจารณาร่วมกันตัดส่วนที่เป็นจู๋ออกทำให้เหลือแต่จิ๋ม เมื่อพ่อแม่พา “เด็ก ก.” ไปแจ้งที่อำเภอ “เด็ก ก.” จะถูกแจ้งในทะเบียนบ้านว่าเป็น "ด.ญ.” แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น

          เมื่อ “เด็กหญิง ก.” เติบโตถึงวัย ๑๔-๑๕ ปี ฮอร์โมนเพศที่เด่นชัดกว่าจะเริ่มทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กหญิง ก. ที่เคยดูเป็นเด็กผู้หญิงจะเริ่มแปรสภาพเป็นเด็กหนุ่ม มีเสียงห้าวใหญ่ ไม่มีหน้าอก เด็กหญิง ก. รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชายมากกว่าจะเป็นผู้หญิง ที่เป็นเช่นนี้เพราะฮอร์โมนเพศชายมีการทำงานเด่นกว่าเมื่อเด็กถึงวัยเจริญพันธุ์ 

          เมื่อร่างกายของ “เด็กหญิง ก.” เป็นชายไปแล้วแต่เอกสารยังระบุว่าเป็น ด.ญ. ปัญหาต่างๆ จะเริ่มตามมา เมื่อระบบราชการและเอกสารต่างๆ ไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าบุคคลได้อย่างง่ายดาย นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับ “ด.ญ.นวียา” ชีวิตของเธอถูกถ่ายทอดในรายการสารคดี ‘คนค้นฅน’ (เข้ากูเกิล พิมพ์คำว่า “นวียา” หรือเรื่อง intersex ของ “สิริลดา โคตรพัฒน์”)

          วิธีการขั้นต่อมาของแพทย์ก็คือ เมื่อเด็กถูกผ่าตัดเอาเพศหนึ่งเพศใดออกไป เด็กก็ต้องกินยาเพื่อกดทับฮอร์โมนเพศนั้นด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนเพศนั้นทำงาน เด็กจะได้มีเพศตามที่แพทย์กำหนด คำถามคือเหตุใดเด็กต้องถูกกำหนดให้เป็นเพศใดเพศหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่เด็กจะมีสองเพศตามที่ธรรมชาติให้มา ถ้าธรรมชาติให้เด็กมีทั้งสองเพศเราก็น่าจะยอมรับได้ ในเมื่อการมีสองเพศไม่ได้ทำร้ายใครและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

          การกำหนดเพศชาย-หญิงเป็นการรับเอาวิธีคิดเรื่อง “เพศแบบภาครัฐ” ที่มีแค่ชายกับหญิงมาใช้กับคน วิธีการนี้ทำให้เรามองไม่เห็นมิติอื่นๆ ของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ไม่ได้มีแค่เพศชายกับเพศหญิง แต่ด้วยการมองคนว่ามีแค่ชายกับหญิงทำให้หลายครั้งเรากลับทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง

          เด็กที่เกิดมามีสองเพศจึงมักถูกพ่อแม่กับแพทย์ตัดสินใจผ่าตัดให้เหลือเพศเดียว เนื่องจากพ่อแม่รับเอาวีธีคิดของภาครัฐเป็นศูนย์กลางแทนที่จะเอา ‘คนเป็นศูนย์กลาง’น็็กหฟหกาดฟหกก เด็กหลายคนเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์มักจะแปรสภาพเป็นเพศตรงข้ามกับเพศที่โรงพยาบาลผ่าตัดให้มา หรือเด็กบางคนเกิดมามีอวัยวะเพศกำกวม ทำให้การแจ้งเพศกำเนิดที่อำเภอเกิดความคลาดเคลื่อน เมื่อเด็กโตขึ้นเพศสรีระ (หน้าตา-ร่างกาย) เป็นอีกเพศในขณะที่เพศในทะเบียนบ้านเป็นอีกเพศ นี่คือปัญหาซับซ้อนที่เกิดขึ้นกับคนสองเพศ
การถูกระบุให้เป็นเพศใดเพศหนึ่ง ‘เร็วเกินไป’ จึงเป็นอีกมิติของปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา

          หากต้องการให้เด็กสองเพศเป็นเพศใดเพศหนึ่งทางออกอยู่ที่ ‘สถาบันการแพทย์’ และ ‘ภาครัฐ’ ควรจัดเด็กกลุ่มนี้เป็น ‘เด็กพิเศษเพื่อรอการระบุเพศ’ เด็กไม่จำเป็นต้องถูกตัดอวัยวะเพศใดเพศหนึ่งออกไป เพียงแต่ภาครัฐควรมีนโยบาย ‘ชะลอการระบุเพศของเด็ก’ รอให้เด็กมีอายุ 14-15 ปี ถึงตอนนั้น “เพศที่เด่นชัด” ของเด็กจะปรากฏ เมื่อนั้นการระบุเพศของเด็กจะง่ายขึ้น เป็นการดีกว่าที่จะรีบระบุเด็กให้เป็นเพศใดเพศหนึ่ง แล้วปล่อยให้เกิดปัญหาตามมาเหมือนอย่างที่ ‘ด.ญ.นวียา’ กำลังเจอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรสำรวจภาวะจิตของเด็กด้วยว่าเด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นเพศใด ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการระบุเพศของตน ไม่ด่วนระบุเพศที่ ‘ไม่ใช่’ ให้เด็กต้องเผชิญกับปัญหาในภายหลัง

          สังคม ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนสองเพศขึ้นมา เพื่อป้องกันการถูกทำร้ายกันด้วยทัศนคติในสังคมที่คนเพศเดียวมีอำนาจเหนือกว่า

          พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กสองเพศไม่ควรกลุ้มอกกลุ้มใจ ไม่ควรคิดว่าลูกพิการ ไม่ควรคิดว่าเป็นกรรม ควรเรียนรู้ทำความเข้าใจกับเพศของลูก เลี้ยงดูเขาเหมือนเด็กทั่วไป ให้โอกาสในการเจริญเติบโตและภาคภูมิใจในตัวเขาไม่ว่าเขาจะเติบโตมาเป็นเพศอะไร

          สิ่งที่คนจำนวนมากไม่รู้ก็คือ แรกเกิดเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา ตัวอ่อนยังไม่มีเพศ เพศของตัวอ่อนจะปรากฏชัดในเดือนที่ ๔  ตัวอ่อนทุกตัวจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาเป็นเพศหญิงก่อนเสมอ มีปุ่มคริสตอริส มีมดลูกและรังไข่สองข้าง หากตัวอ่อนจะพัฒนาเป็นเพศชาย ปุ่มคริสตอริสที่มีอยู่จะกลายเป็นองคชาติ ปีกมดลูกและรังไข่สองข้างจะแปรสภาพเป็นลูกอัณฑะสองลูก การเกิดเป็นเพศชายจึงต้องอาศัยการเกิดเป็นเพศหญิงก่อน

          ดังนั้นในคนคนหนึ่งจะมีทั้งความเป็นชายและความเป็นหญิงผสมผสานกัน พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือคนทุกคนมีความเป็น ‘สองเพศ’ อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว บางครั้งผู้ชายก็มีนิสัยอ่อนโยน เรียบร้อย ชอบทำงานบ้านมากกว่างานที่ใช้แรง หรือบางครั้งผู้หญิงก็มีจิตใจมั่นคงเข้มแข็ง ห้าวหาญ ชอบทำงานที่ใช้แรงมากกว่างานละเอียดอ่อน

          โลกนี้จึงไม่มีชายจริง ไม่มีหญิงแท้ เพราะทุกคนต่างมีความเป็นชายและความเป็นหญิงแฝงเร้นอยู่ในตัวเองทุกคน


คนสองเพศในพระไตรปิฎก

          ในพระไตรปิฎกเรียกคนสองเพศ ว่า “อุภโตพยัญชนก” อธิบายไว้ ๒ ลักษณะคือ ‘แบบผู้หญิง’ เรียก อิตถีอุภโตพยัญชนก รูปกายเป็นหญิงมีสองเพศ กับ ‘แบบผู้ชาย’ เรียก ปุริสอุภโตพยัญชนก รูปกายเป็นชายมีสองเพศ ทั้งสองแบบสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้กับคนทุกเพศ ความแตกต่างคือ แบบผู้หญิง ทำให้หญิงอื่นตั้งครรภ์ได้และตนสามารถตั้งครรภ์ได้หากมีเพศสัมพันธ์กับชาย แบบผู้ชายทำหญิงอื่นตั้งครรภ์ได้แต่หากมีเพศสัมพันธ์กับชายจะไม่มีการตั้งครรภ์

          นั่นเป็นคำอธิบายในพระไตรปิฎก แต่คนสองเพศในโลกของความเป็นจริงกลับพบว่าพวกเขาไม่ได้มีลักษณะอย่างที่พระไตรปิฎกกล่าวเอาไว้เลย หรือถ้ามีก็พบน้อยมากที่จะมีอวัยวะสองอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะพวกเขามีอวัยวะเพศกำกวม (อ้างอิง : เรื่อง Intersex คนสองเพศ ของ นาดา ไชยจิตต์)
คนสองเพศมักเผชิญกับปัญหาเรื่อง ‘เพศภาวะ’ ไม่ตรงกับ ‘คำนำหน้าในบัตรประชาชน’ ทำให้เกิดปัญหาเวลาไปติดต่อทำธุรกรรมต่างๆ เนื่องจากหน้าตากับคำนำหน้าชื่อไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ถูกระแวงว่าเป็นคนละคนกับชื่อในเอกสาร ความผิดไม่ใช่เพราะพวกเขามีสองเพศ แต่ความผิดพลาดเกิดจากภาครัฐยังขาดระบบการให้บริการกับคนสองเพศ แท้จริงแล้วภาครัฐควรให้ความสะดวกในการเปลี่ยนคำนำหน้านามแก่พวกเขาเพื่อปัญหาต่างๆ จะได้หมดไป

          รายงานจากโรงพยาบาลเด็กระบุว่าพบเด็กที่มีอวัยวะเพศกำกวมประมาณ ๑๕๐ คนต่อปี ทั้งหมดนี้ ‘องค์กรแพทยสภา’ ควรประสานงานกับ ‘กระทรวงมหาดไทย’  เพื่อดำเนินนโยบายเรื่อง ‘ชะลอการระบุเพศ’ ให้กับเด็กที่เกิดมา ๑๕๐ รายต่อปีเหล่านั้น ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาไม่รู้จบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ