
พระรอดกรุมหาวันของปลอม!..โดนมา ๗๐,๐๐๐ บาท
พระรอดกรุมหาวันของปลอม!..โดนมา ๗๐,๐๐๐ บาท : พระองค์ครู ไตรเทพ ไกรงู
พระรอด กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน เป็นนามที่ผู้สันทัดรุ่นก่อนเชื่อกันว่าเรียกตามนามพระฤาษีผู้สร้างคือ พระฤาษี “นารทะ” หรือพระฤาษี “นารอด" ลักษณะพระรอด วัดมหาวัน ลำพูน เป็นพระเนื้อดิน เป็นพระพิมพ์ขนาดเล็ก ชื่อพระรอดนั้นมีข้อสันนิษฐาน ๓ ทางได้แก่
๑.ออกเสียงตามผู้ที่สร้างขึ้น คือ พระฤาษีนารอด ซึ่งออกเสียงตามภาษามอญ
๒.ผู้ที่สักการบูชา และนำติดตัวไปยังที่ต่างๆ สามารถรอดพ้นจากอันตรายเป็นอย่างดี จึงเรียกว่าพระรอด
๓.เนื่องจากเป็นพระเครื่องที่มีขนาดเล็กกว่าพิมพ์อื่นๆ จึงได้ชื่อว่าพระลอด และเพี้ยนมาเป็นพระรอด
การขุดพระรอดพบครั้งแรกราวต้นรัชกาลที่ ๕ แต่ที่สืบทราบมาได้จากการบันทึกไว้ของท่านอธิการทา เจ้าอาวาสวัดพระคงฤาษีในขณะนั้น และอาจารย์บุญธรรม วัดพระมหาธาตุหริภุญชัย ว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ พระเจดีย์วัดมหาวันได้ชำรุดและพังทลายลงบางส่วน ในสมัยเจ้าหลวงเหมพินทุไพจิตร ทางวัดได้มีการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ ในครั้งนั้นได้พบพระรอดภายในกรุเจดีย์มากที่สุด
ลักษณะทั่วไปของพระรอด เป็นพระปางมารวิชัย มีฐานอยู่ใต้ที่นั่ง และมีผ้านิสีทนะ (ผ้านั่งปู) รองรับปูไว้บนฐานข้างหลังองค์พระมีลวดลายกระจัง ชาวพื้นเมืองเหนือเรียกกันว่า ใบโพธิ์ เพราะกระจังนั้นดูคล้ายๆ ใบโพธิ์มีกิ่งก้านไม้อยู่ในเรือนแก้ว พระพักตร์จะปรากฏพระเนตร (ตา) พระกรรณ (หู) ยาวลงมาเกือบจรดพระอังสะ (บ่าหรือไหล่) ทั้งสองข้าง ส่วนด้านหล้งนั้นไม่มีลวดลายอะไรนอกจากรอยนิ้วมือ บางองค์มีลักษณะนูนบ้างแบนบ้าง สามารถแบ่งได้ ๕ พิมพ์ ประกอบด้วย ๑.พิมพ์ใหญ่ ๒.พิมพ์กลาง ๓.พิมพ์เล็ก ๔.พิมพ์ต้อ และ ๕.พิมพ์ตื้น
สำหรับภาพพระองค์ครูวันนี้เป็น "พระรอด พิมพ์ใหญ่" แต่เป็น "พระปลอม!" ที่พี่สำเริง สำเภาลอย หรือ "ก บางซื่อ" กรรมการตัดสินพระเนื้อดิน ของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย บอกว่า มีลูกค้ารายหนึ่งมาให้ดูที่ โดยได้เช่าจากเพื่อนมา ๗๐,๐๐๐ บาท ซึ่งถ้าเป็นของแท้แล้ว ในสภาพที่เห็นพระรอดทุกพิมพ์เช่าหากันในราคาหลักล้านบาท ที่บอกว่าเป็นของปลอมนั้นผิดทั้งเนื้อ ผิดทั้งพิมพ์ โดยเฉพาะด้านหลังของแท้ ต้องไม่ใช่ลักษณะเป็นหยิบมือ
ในการเช่าพระเครื่องราคาหลักหมื่นขึ้นไปนั้น พี่สำเริงแนะนำว่า เพื่อป้องกันเซียนแหกตาต้องนำพระไปแห่ให้เซียนดูกันหลายๆ ตา แต่ถ้าจะให้ชัวร์และดีที่สุดต้องมีใบประกาศนียบัตร หรือที่เรียกกันว่าใบเซอร์พระ (Certificate) ถือเป็นใบรับรองพระแท้ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยออกให้พระแต่ละองค์ จากนั้นให้ส่งเข้างานประกวดพระที่เป็นมาตรฐาน สัก ๒-๓ ครั้ง เสียเวลาหน่อยแต่ได้พระแท้ตลอดกาล