พระเครื่อง

ปฐมเหตุแห่งการสร้าง 'พระกริ่ง'ของสมเด็จพระสังฆราชฯ (แพ) วัดสุทัศนฯ

ปฐมเหตุแห่งการสร้าง 'พระกริ่ง'ของสมเด็จพระสังฆราชฯ (แพ) วัดสุทัศนฯ

13 ต.ค. 2554

ปฐมเหตุแห่งการสร้าง 'พระกริ่ง'ของสมเด็จพระสังฆราชฯ (แพ) วัดสุทัศนฯ : ปกิณกะพระเครื่อง โดย พ.พศวัติ

         พระกริ่ง หรือ พระไภษัชยคุรุ ในความหมายสมัยเก่าก่อนนั้นถือว่า เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่ทรงบำเพ็ญเพียรอย่างมาก และลงมาจุติ (เกิด) ตรัสรู้มาโปรดเหล่าสรรพสัตว์ให้หายจากเภทภัยต่างๆ รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บ จึงมีผู้คนนับถือกันมาก โดยเฉพาะในคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เมื่อต้องเดินทางไกล ติดต่อข้ามเมืองแว่นแคว้นต่างๆ จะต้องมีรูปเคารพพระโพธิสัตว์นาม พระไภษัชยคุรุ ขนาดเล็กบูชาติดตัวไปด้วยเสมอ เป็นหมอยาข้างกาย เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตามความเชื่อศรัทธา อันเป็นองค์ พระกริ่ง ที่เต็มไปด้วยพลังความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินทางไกล โดยไม่หวั่นเกรงต่อเภทภัยใดๆ ที่จะมากล้ำกรายได้

           ภายในองค์ พระไภษัชยคุรุ นี้ได้บรรจุ เม็ดกริ่ง ซึ่งเป็นเม็ดโลหะกลมเล็กๆ ไว้ภายใน เวลาเขย่าหรืออธิษฐานจะเกิดเสียงดังเหมือนกับเคาะระฆังที่วัด โดยเชื่อกันว่า เสียงดังจากการเขย่ากริ่งจะทำให้องค์พระโพธิสัตว์ไภษัชยคุรุ ได้รับรู้ถึงการขอพรนั้น และจะอำนวยพรให้สัมฤทธิผลเร็วยิ่งขึ้น  
          
           ปฐมเหตุแห่งการสร้างพระกริ่งในเมืองไทย รับรู้กันว่า พระกริ่งปวเรศฯ สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกโดย สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวชิราลงกรณ์ วัดบวรนิเวศฯ มีจำนวนสร้างน้อยองค์ ทุกวันนี้หาดูของแท้ได้ยากยิ่ง 
 
           ในที่นี้จะขอกล่าวถึง พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราชฯ (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ผู้สร้างพระกริ่งตามตำราโบราณที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
 
           ปฐมเหตุที่พระองค์ทรงคิดสร้างพระกริ่งขึ้นครั้งแรก มาจากเมื่อครั้งสมัยที่ท่านทรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีสมโพธิ์ (ราวพ.ศ.๒๔๓๘-๒๔๓๙) คราที่ สมเด็จพระวันรัต (แดง) พระอุปัชฌาย์ของท่าน ได้เกิดอาพาธด้วยโรคอหิวาตกโรค ซึ่งระบาดอย่างหนักในช่วงนั้น ทำให้มีผู้คนล้มตายกจำนวนมาก
          
           วันหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสฯ เสด็จมาเยี่ยมและรับสั่งกับ พระศรีสมโพธิ์ ว่า เคยเห็นสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ ทรงอาราธนาพระกริ่งปวเรศฯ แช่น้ำ เพื่อทำน้ำมนต์ให้คนป่วยที่เป็นอหิวาตกโรคกินแล้ว ปรากฏว่าได้หายเป็นปกติ 
 
           ประศรีสมโพธิ์ จึงได้อาราธนาพระกริ่งทำน้ำมนต์ถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) ซึ่งเมื่อฉันน้ำมนต์จากพระกริ่งแล้ว อาการของอหิวาตกโรคก็ได้หายไปอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ พระศรีสมโพธิ์ มีความศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระกริ่งมาก และได้ศึกษาถึงการวิธีสร้างพระกริ่งอย่างจริงจัง 
 
           การสร้างพระกริ่งในสมัยก่อนนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แล้วแต่การหาวัตถุมวลสารวิเศษ และเจ้าภาพที่สร้าง แต่ว่ากันว่า เนื้อนวโลหะที่นำมาสร้างพระกริ่ง ประกอบด้วยโลหะเก้าอย่าง คือ ชิน, เจ้าน้ำเงิน, เหล็กละลายตัว, ตะกั่วเกรียบ (บริสุทธิ์), ปรอท, สังกะสี, ทองแดง, เงิน และทองคำ ที่มีคุณสมบัติพิเศษตามน้ำหนักที่กำหนด นับเป็นสุดยอดของเนื้อโลหะที่ใช้สร้างพระกริ่ง รวมทั้งรูปแบบเอกลักษณ์ของพระกริ่งในแต่ละปีที่พระองค์ทรงสร้าง 

           ความประณีตและการสังเกต การเล่นแร่แปรธาตุ การศึกษาอย่างจริงจัง การเขียนอักขระยันต์สำคัญต่างๆ บนแผ่นจารยันต์ ทั้ง ๑๐๘ พระยันต์ และพระนปถมัง ๑๔ ประกอบด้วย พระยันต์ที่มีอุปเท่ห์และพุทธคุณที่แตกต่างกัน และการจารอักขระกว่าจะได้แต่ละแผ่นย่อมต้องใช้เวลาและการภาวนานานพอสมควร ทั้งนี้ เพื่อเมื่อหลอมเป็นองค์พระ แล้วย่อมประสิทธิประสาทพุทธคุณตามพระยันต์ทุกองค์ 

           พระยันต์ทั้ง ๑๐๘ ประกอบด้วย พระยันต์ชื่อ ปทุมจักร, พระควัมบดี, นวโลกุตรธรรม, ไตรสรณคมณ์, จัตตุสาริยสัตย์, จักรสิรโลก, พระรัตนไตร, มงกุฎพระพุทธเจ้า, บารมี ๓๐ ทัศ, ปถมัง, พระเจ้า ๕ พระองค์, สุกิตติมา, องครักษ์, โสฬสมงคล, พระเจ้า ๒๘ พระองค์, พระพุทธคุณ ฯลฯ

           เมื่อรวมได้ ๑๐๘ พระยันต์แล้ว ยังมียันต์นะบังคับอีก ๑๔ นะ คือ นะบังสมุทร, นะกำจาย, นะครอบจักรวาล, นะบังไตรภพ, นะปรีชาทุกทิศ, นะนาคบาศก์, นะกำจัด, นะปิดอากาศ, นะล้อม, นะสะท้านดินไหว, นะปิด, นะบังเมฆา, นะทน, นะวชิราวุธ 

           นับเป็นส่วนหนึ่งของการหลอมเป็นชนวนโลหะ ตำรับการหล่อพระกริ่งของ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) นอกจากนี้ยังมีพระยันต์ ๘ ทิศอีก ๘ ดวง แต่เป็นพระยันต์ลงผ้าขาวทั้งหน้าและหลัง สำหรับแขวนประจำทิศ ๘ ทิศในมณฑลพิธี

           เนื้อโลหะพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) พระองค์จะเป็นผู้ผสมเองทุกครั้ง เพื่อให้เนื้อนวโลหะเป็นเนื้อกลับดำสนิท หรือเนื้อสัมฤทธิ์ดำ บางปีผิวออกจะดำมันมาก หรือบางปีผิวพระกริ่งของพระองค์ที่ผิวชั้นนอกดำสนิทเป็นมัน 

           ผิวพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) มีอยู่ ๓ แบบ คือ เนื้อสัมฤทธิเดช (เนื้อออกเป็นสีแดงอ่อนหรือแดงแก่), เนื้อสัมฤทธิโชค (เนื้อออกสีเหลือง หรือขาวจัด), เนื้อสัมฤทธิศักดิ์ (เนื้ออกสีขาวหรือเหลืองจัด) ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไหนก็ตาม ที่พระองค์สร้างก็ล้วนมีอิทธิคุณทางด้านอำนาจ ลาภยศสักการะ หน้าที่การงานหรือเมตตายิ่งนัก
ผิวพระกริ่งเป็นจุดพิเศษ หรือจุดสังเกตหนึ่งของพระกริ่งสำนักวัดสุทัศนฯ สนนราคาเช่าหาก็ว่ากันที่ความสวย การตกแต่งและความเก่าของปีของพระกริ่งที่พระองค์สร้างตามวาระต่างๆ โดยเน้นที่จะสร้างในวันเพ็ญเดือนสิบสอง วันที่พระจันทร์สวยเต็มดวงที่สุดในท้องนภา เพราะเป็นวันประสูติของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ส่วนจะตรงกับวันอะไรนั้นก็แล้วแต่ พระองค์หล่อพระกริ่งขึ้นโดยมีจำนวนสร้างตามกำลังวันในปีนั้นๆ จึงทำให้พระกริ่งที่ทรงสร้างมีจำนวนไม่เท่ากัน และมีจำนวนไม่มากในแต่ละรุ่น
พระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) รูปลักษณ์ที่เห็นของตำรับวัดนี้คือ เป็นองค์พระพุทธประทับนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายรวม ๗ กลีบ ด้านหลังไม่มีบัว พระหัตถ์ถือน้ำมนต์หรือวชิระ เป็นพระกริ่งหล่อในตัว แบบโบราณ

           พระกริ่งรุ่นแรกที่ทรงเทหล่อสร้าง (สถาปนา) คือ  พระกริ่งเทพโมฬี (พ.ศ.๒๔๔๑-๒๔๔๓) เมื่อครั้งสมณศักดิ์ที่ พระเทพโมฬี โดยทำพิธีหล่อที่หน้ากุฏิใหญ่คณะ ๑๑ วัดสุทัศนฯ องค์พระกริ่งมีความสูง ๔.๒ ซม. ฐานกว้าง ๒ ซม. จำนวนสร้างน้อยมาก ประมาณ ๙ องค์เท่านั้น ทุกองค์มีหมายเลขไทยกำกับไว้ที่ใต้ฐานองค์พระ
รุ่นต่อมาคือ พระกริ่งพระธรรมโกษาจารย์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๔๕๕),.พระกริ่งพรหมมุนี สร้างหลายวาระ (พิมพ์เขมรน้อย, พิมพ์กริ่งใหญ่) พ.ศ.๒๔๕๕-๒๔๕๖, พระกริ่งพระยาศุภกร (พ.ศ.๒๔๕๙-๒๔๖๐), พระกริ่งพระยาทิพยโกษา พ.ศ.๒๔๕๕-๒๔๖๖, พระกริ่งพุฒาจารย์ (พ.ศ.๒๔๖๖-๒๔๗๒), พระกริ่งสมด็จพระวันรัต (พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๘๑), พระกริ่งรุ่น พ.ศ.๒๔๗๙, พระกริ่ง “รุ่นชนะคน” พ.ศ.๒๔๘๑, พระกริ่งหน้าอินเดีย พ.ศ.๒๔๘๒, พระกริ่งหน้าไทย พ.ศ.๒๔๘๒, พระกริ่งฉลองพระชนม์ครบ ๗ รอบ (ฉลองพระสุพรรณบัฏ) พ.ศ.๒๔๘๓, พระกริ่งพุทธนิมิต พ.ศ.๒๔๘๔, พระกริ่งรุ่นวัดช้าง พ.ศ.๒๔๘๔, พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราชแพ รุ่น พ.ศ.๒๔๘๕ และพระกริ่งรุ่นเชียงตุง พ.ศ.๒๔๘๖ (สร้างประมาณ ๑๐๘ องค์) นับเป็นพระกริ่งรุ่นสุดท้ายของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ก่อนที่พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๖พฤศจิกายน ๒๔๘๗ 

           บทสรุป พระกริ่งของสมเด็จพระสังราช (แพ ติสฺสเทโว) นับเป็นรูปเคารพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีคุณค่าและเป็นสิ่งที่เป็นมงคลยิ่ง สร้างตามแบบโบราณที่มีพิธีกรรมมากมาย  ละเอียดและประณีตทุกขั้นตอน กว่าจะหล่อแบบพิมพ์ ปั้นช่อ เข้าหุ่นเทียน หล่อเบ้าดินไทยโบราณ จนสำเร็จตกแต่งเป็นพระกริ่งองค์สวยขึ้นมา

           ในปัจจุบัน แม้พระกริ่งของพระองค์จะมีมากรุ่นก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่หาได้ยาก คนที่มีอยู่ต่างก็หวงแหน ผู้ที่ได้ครอบครองนับว่าเป็นมงคลสุดยอดแห่งพระเครื่องแล้ว
 
           นอกจากนี้ยังได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างพระกริ่ง ที่เหล่าพระเกจิคณาจารย์ต่างๆ รับคตินิยมในเรื่องพิธีกรรมการสร้างและรูปแบบ อย่างแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้