
พระปิดตาองค์นินจา พิมพ์ชลูดใหญ่ หลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง
พระปิดตาองค์นินจา พิมพ์ชลูดใหญ่ หลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
“การตั้งชื่อรูปแบบหรือพิมพ์ทรงของพระเครื่อง” เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ ของการจัดสร้างวัตถุมงคล ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปในลักษณะ ความร่ำรวย โดยเฉพาะในช่วงจตุคามรามเทพได้รับความนิยม การตั้งชื้อจะเป็นไปลักษณะแข่งกันรวย เช่น โคตรเศรษฐี เศรษฐีนวโกฏิ รวยไม่มีเหตุผล เป็นต้น
การตั้งชื่อรุ่นของพระเครื่องนั้น ส่วนใหญ่จะตั้งตามพุทธลักษณะที่โดดเด่น มวลสารในการจัดสร้าง และอาจจะตามด้วยชื่อสถานที่พบ หรือชื่อพระเกจิที่สร้าง บางรายตั้งชื่อตามพุทธคุณที่โด่ดเด่นของพระรุ่นนั้นๆ
ในจำนวนชื่อรุ่นของพระเครื่องทั้งหมด พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ เป็นพระเพียงรุ่นเดียวเท่านั้นที่มีการใช้ชื่อผู้ครอบครองคนนแรกมาตั้งเป็นชื่อพระองค์นั้นๆ เช่น องค์ลุงพุฒ, องค์ขุนศรี, องค์เสี่ยหน่ำ, องค์กวนอู, องค์บุญส่ง, องค์เจ๊แจ๊ว, องค์เจ๊องุ่น, องค์ครูเอื้อ, องค์เสี่ยดม และองค์มนตรี เป็นต้น
ส่วนการตั้งชื่อรุ่นตามพุทธลักษณะที่โดดเด่นมีหลายรุ่น โดยเฉพาะพระปิดตา พิมพ์ชะลูด หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี โดยนวงการพระบางคนจะเรียกว่าพิมพ์ "นินจา" เพราะลักษณะขององค์พระเหมือนคลุมโปง สามารถล่องหนหายตัวได้ และที่เห็นตรงหน้าอกขององค์พระ จะมีลักษณะเหมือน เชือกถัก อันนี้เป็นกรรมวิธีในการนำองค์พระติดตัว เพราะสมัยก่อนไม่มีตลับพระ ไม่มีกรอบพระ ชาวบ้านจะนำพระติดตัวต้องใช้วิธีถักเชือกเอา แล้วชุบรักปิดทองให้แข็งแรงมั่นคง ก่อนนำติดตัวไปไหนมาไหน
หลวงปู่เอี่ยม เป็นผู้เปี่ยมไปด้วยเวทมนตร์ อาคมขลังท่านได้สร้างตะกรุดมหาโสฬสมงคล และพระปิดตาของท่านอันถือได้ว่ามีประสบการณ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สุดที่จะหาที่เปรียบมิได้
ในการสร้างพระปิดตานั้นท่านได้ใช้ว่าน ๑๐๘ ที่เป็นมงคลนาม และว่านที่มีอานุภาพคงกระพันศักดิ์สิทธิ์ในตัวมาเป็นส่วนผสมสร้างพระร่วมกับ ผงพุทธคุณ ส่วนตัวประสานนั้นท่านได้ใช้ชันยาเรือมาตำปนคลุกเคล้ากันไปในเนื้อหามวลสารของพระด้วย ท่านได้กล่าวไว้กับลูกศิษย์ในสมัยนั้นว่า "ชันยาเรือที่พายไปบิณฑบาตโปรดสัตว์" มีความสำคัญยิ่งถือว่าเป็นมหาอุด เวลา เรือรั่วที่ใดก็อุดตรงนั้น นับได้ว่าเป็นชันมงคลอาถรรพณ์
หลวงปู่เอี่ยมท่านสำเร็จวิชาโสฬสมงคล และเชี่ยวชาญวิชากรรมฐาน ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้แจกแก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก มีพิมพ์ชะลูด พิมพ์ตะพาบ และพิมพ์พนมมือ อีกทั้งตะกรุดมหาโสฬสมงคล ซึ่งตะกรุดของท่านนี้ก็หายากและเป็นที่นิยมกันมาก นับเป็นตะกรุดอันดับหนึ่งของเมืองไทยท่านมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ สิริอายุได้ ๘๐ ปี พรรษาที่ ๕๙