พระเครื่อง

'เสือหลวงพ่อปาน ต้องดูที่ความเก่าและศิลปะ'นิว ลางอินทร์ คนหนุ่มผู้สนใจเครื่องรางทุกชนิด

'เสือหลวงพ่อปาน ต้องดูที่ความเก่าและศิลปะ'นิว ลางอินทร์ คนหนุ่มผู้สนใจเครื่องรางทุกชนิด

09 ต.ค. 2554

'เสือหลวงพ่อปาน ต้องดูที่ความเก่าและศิลปะ'นิว ลางอินทร์ คนหนุ่มผู้สนใจเครื่องรางทุกชนิด : เส้นทางนักพระเครื่อง โดย ตาล ตันหยง

             สมัยก่อนผู้ที่ชอบสะสม เครื่องรางของขลัง มักจะเป็นผู้ใหญ่ที่เลยวัยกลางคนไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ได้มีคนหนุ่มสายเลือดใหม่จำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจในเครื่องรางของขลัง ของพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่ากันอย่างจริงจัง และกล้าที่จะซื้อหาเอาไว้ในราคาค่อนข้างสูง ด้วยเห็นว่าบรรดาเครื่องรางของขลังต่างๆ ล้วนเป็นภูมิปัญญาของเกจิอาจารย์ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสยุคเก่าก่อนได้รังสรรค์สร้างผลงานขึ้นมาด้วยฝีมืออันล้ำเลิศที่ละชิ้น ซึ่งต้องพิถีพิถันในกรรมวิธีการสร้างอย่างละเอียดประณีตทุกขั้นตอน และต้องใช้เวลานานพอสมควร ด้วยเหตุนี้จำนวนการสร้างเครื่องรางของขลังแต่ละชิ้นจึงมีน้อย


              นิว ลางอินทร์ (ฉัฏฐ์ปฏิญ ทรัพย์แก้วยอด) นับเป็นหนุ่มสายเลือดใหม่อีกคนหนึ่งที่มีความสนใจในเครื่องรางของขลังมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน ด้วยอายุเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น   
   
                 "ผมเป็นชาวนครปฐมโดยกำเนิด สมัยเด็กๆ เรียนหนังสือหลายแห่ง จนจบชั้นมัธยมแล้วได้เรียนต่อที่ ม.รามคำแหง โดยที่คุณพ่อเป็นตำรวจ จึงเก็บสะสมพระเครื่องเอาไว้มากพอสมควร ขณะเดียวกันผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือพระเครื่อง พอพบเห็นภาพพระในหนังสือก็มักจะไปค้นหาพระของคุณพ่อ ว่ามีองค์ไหนบ้างที่เหมือนกับในหนังสือ ซึ่งก็พอมีอยู่บ้าง เช่น พระหลวงปู่ภู พิมพ์สมเด็จ ๘ ชั้นแขนหักศอก จึงเอาไปให้เซียนพระที่สนามท่าพระจันทร์ ดู มีคนให้เปิดราคาขาย ผมจึงรู้ได้ว่าพระองค์นี้ต้องแท้แน่นอน พระอีกองค์ของคุณพ่อที่ผมมารู้ภายหลังเมื่อดูพระเป็นแล้ว คือ พระรอด พิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน เป็นพระแท้เช่นกัน พระรอดองค์นี้คุณพ่อได้มาจากพระธุดงค์ มาปักกลดแถวที่บ้าน คุณพ่อชอบนำอาหารและน้ำปานะไปถวายพระธุดงค์ เมื่อทราบว่าคุณพ่อเป็นตำรวจ พระธุดงค์ท่านนั้นจึงมอบพระรอดให้องค์หนึ่ง ผมดีใจมากที่พระรอดองค์นี้เป็นพระแท้ จึงยังเก็บรักษาอยู่จนถึงทุกวันนี้ พร้อมกับพระหลวงปู่ภู พิมพ์สมเด็จ ๘ ชั้น แขนหักศอก" นิว กล่าวถึงความสนใจพระเครื่องที่ผ่านมา

                 ญาติผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ทำให้ นิว สนใจพระเครื่อง คือ ก๋ง (คุณตา) อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ท่านได้เก็บพระสายสุพรรณเอาไว้มาก โดยเฉพาะพระหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน ทุกครั้งที่นิวไปหาก๋ง จะต้องได้รับพระหลวงพ่อโหน่งกลับบ้านเสมอ รวมทั้งพระสายสุพรรณต่างๆ ก็ได้อาศัยพระเหล่านี้เป็นตัวอย่างองค์ครูในการศึกษาหาความรู้จากพิมพ์ทรงองค์พระ และเนื้อหามวลสาร ตลอดจนจุดสำคัญต่างๆ บนองค์พระ

                 "แท้จริงแล้วผมชอบเครื่องรางมากกว่า เพราะมองว่าเป็นงานฝีมือของพระเกจิอาจารย์ยุคก่อน ซึ่งต้องทำทีละองค์ ด้วยฝีมือที่เฉียบขาดจริงๆ กว่าจะได้แต่ละชิ้นต้องใช้เวลานาน ทุกขั้นตอนของการทำต้องภาวนาคาถาอาคมกำกับ ผมจึงตั้งใจหาเครื่องรางมาตลอด โดยซื้อจากผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้บ้าง หาซื้อเอาเองบ้าง ช่วงนั้นผมพอมีรายได้จากการซื้อขายพระบ้างแล้ว ตอนแรกๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเกรงว่าผมจะถูกหลอกบ้าง ไม่ตั้งใจเรียนหนังสือบ้าง แต่เมื่อผมซื้อพระมาในราคาหนึ่ง แล้วขายออกไปอีกราคาหนึ่ง ซึ่งได้กำไรพอสมควร จะเอาไปอวดคุณพ่อคุณแม่ และพี่ๆ ทำให้ท่านเปลี่ยนใจ หันมาสนับสนุนผม เพราะอย่างน้อยผมก็ไม่ต้องขอเงินท่านมาใช้จ่าย ตรงจุดนี้ทำให้ผมภาคภูมิใจมาก ที่สามารถหารายได้เอง" หนุ่มนิววัย ๒๘ กล่าว   

            สำหรับเครื่องรางของขลัง นิว บอกว่าได้รับความรู้จาก "โบ้ บางพลัด" ผู้ชำนาญด้านเครื่องรางโดยเฉพาะ  ถือได้ว่าเป็น "ครูคนแรก" ของนิว รวมทั้ง มล เชือกคาด ก็ได้ให้ความรู้เรื่องเครื่องรางมาตลอด ในส่วนของพระเครื่องต่างๆ ได้คำแนะนำจาก เล็ก อโศก แหลม กลิ่นแก้ว ติ นครปฐม ฯลฯ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่มีความเมตตากับนิวเสมอ

                     นิว กล่าวถึงความสนใจในเรื่องเครื่องรางว่า "ผมชอบเครื่องรางประเภทถักเชือกลงรัก โดยเริ่มจากตะกรุดหลวงปู่ศุข หลวงพ่อคง หลวงปู่เอี่ยม ซึ่งผู้ใหญที่เชื่อถือได้แบ่งให้ ผมก็ได้ศึกษาจากของแท้เหล่านี้ จนจำได้ว่าตะกรุดของแต่ละพระเกจิอาจารย์นั้นมีจุดเด่นตรงไหนบ้าง ต่อมาได้ลองหัดซื้อเองบ้าง แล้วถ่ายรูปไปลงในเว็บไซต์ คนที่เข้าไปดูก็จะให้ความคิดเห็นต่างๆ นานา เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เรารู้ความจริงว่า ตะกรุดดอกนั้นดอกนี้ เป็นของแท้หรือของปลอม ผมจะได้คำตอบ พร้อมกับศึกษาหาความรู้จากผู้ใหญ่ไปด้วย เพราะความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ไม่มีวันเรียนได้หมดสิ้น ต้องเพียรพยายามต่อไป สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักเสมอ คือ อย่าทำตัวเป็นคนอวดรู้ อวดเก่ง ในฐานะเป็นเด็กกว่าเราต้องอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะผู้ใหญ่ ผมเชื่อว่า ผู้ใหญ่ในวงการพระทุกคนล้วนเป็นผู้มีน้ำใจเมตตาอารี และพร้อมที่จะให้ความรู้แก่คนรุ่นหลังเสมอ"

              ในฐานะที่ชอบ "เสือ" หลวงพ่อปาน เป็นพิเศษ นิว บอกว่า "หลักการดู เสือ หลวงพ่อปาน ต้องดูที่ความเก่าและศิลปะก่อน โดยเฉพาะการลงเหล็กจารอักขระแต่ละตัว หลวงพ่อปานจะลงในตำแหน่งเดียวกันหมด อักขระตัวไหนลงตำแหน่งไหนของตัวเสือก็จะลงเหมือนๆ กัน โดยไม่มีการจารเป็นพิเศษในตำแหน่งอื่น อันนี้แสดงถึงความพิถีพิถันของหลวงพ่อปาน ที่มีความละเอียดประณีตมาก ตามประวัติของหลวงพ่อปาน มีบันทึกกล่าวไว้ว่า เสือของหลวงพ่อปาน จะแกะโดยช่างหลายคน แม้ฝีมือจะแตกกันบ้าง แต่ก็เป็นไปในแนวเดียวกัน เสือแต่ละตัวจึงมีฝีมือการแกะที่คล้ายคลึงกัน ช่างเหล่านี้จะเอาเสือที่แกะเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ปลุกเสก ไปวางขายที่หน้าวัด คนที่ต้องการจะซื้อเอาไปให้หลวงพ่อปานลงเหล็กจาร เสร็จแล้วท่านจะปลุกเสกก่อนจะมอบให้ไป คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้จึงนิยมซื้อเสือหลวงพ่อปานที่มีรอยจารยันต์ ซึ่งแน่นอนกว่าเสือที่ไม่ได้ลงจาร เพราะมั่นใจได้ว่า หลวงพ่อได้ปลุกเสกให้แล้วอย่างแน่นอน"

        นอกจากเครื่องรางของขลังแล้ว นิว ลางอินทร์ ยังได้ซื้อขายพระเนื้อโลหะพระหล่อโบราณ อีกด้วย เช่น พระหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ฯลฯ โดยพระแต่ละอย่างที่ซื้อมาแล้วจะเก็บเอาไว้ศึกษาก่อน ไม่รีบร้อนขายออกไปทันที เพื่อจะได้เรียนรู้ดูพระแท้องค์จริงนั้นให้จดจำติดตา แล้วจึงค่อยขายเอาทุนมาซื้อพระอย่างอื่นต่อไป

        ทุกวันนี้ นิว ลางอินทร์ ได้เปิดร้านถ่ายรูปพระเครื่อง พร้อมกับร้านพระเครื่องในละแวกเดียวกัน บนชมรมพระเครื่องมรดกไทย ชั้น ๓ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน รวมทั้งได้เปิดเว็บไซต์ "พระพันธุ์ทิพย์ดอทคอม"   อีกทางเลือกหนึ่งในการทำธุรกิจพระเครื่องออนไลน์ ซึ่งมีสมาชิกในขณะนี้กว่า ๔๐๐ ร้านค้า มีผู้เข้าชมวันละกว่า ๔ หมื่นคน

        "ผมคิดว่าอนาคตวงการพระจะยังคงก้าวหน้าขึ้นไปอีก หากทุกคนซื้อขายพระกันด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจต่อกัน โดยคำนึงถึงคุณธรรมเป็นหลัก" นิว ลางอินทร์ กล่าวในตอนท้าย