
วัดพระธาตุศรีจอมทองกับ...พระวิปัสสนาจารย์แห่งสยามประเทศ
วัดพระธาตุศรีจอมทองกับ...พระวิปัสสนาจารย์แห่งสยามประเทศ : ท่องไปในแดนธรรม โดย เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ตั้งอยู่หมู่ ๒ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๔ โดยนายสร้อย นางเม็ง เป็นผู้สร้างขึ้นบนดอยจอมทอง จึงได้ชื่อว่า “วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง” เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีชวด หรือปีหนู ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรมในสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
สำหรับประวัติของวัด ตามตำนานที่กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุศรีจอมทอง สรุปใจความได้ว่า ดอยจอมทอง หรือดอยศรีจอมทอง มีลักษณะเป็นภูเขาดินสูงจากระดับที่พื้นราบอื่นๆ ในบริเวณนั้น ที่ตั้งพระวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้าจอมทอง จะเป็นยอดของดอยลูกนี้ในสมัยพุทธกาล และมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อว่า “เมืองอังครัฏฐะ” มีเจ้าผู้ครองเมืองนั้นามว่า พระยาอังครัฎฐะ ซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับดอยจอมทองลูกนี้ ซึ่งพระยาอังครัฎฐะนั้น ได้ทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดียว่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าได้บังเกิดในโลกแล้ว เวลานี้ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ในประเทศอินเดีย” จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแล้ว จึงเสด็จสู่เมืองอังครัฏฐะพร้อมด้วยภิกษุสาวกทางอากาศ ได้มารับอาหารบิณฑบาตจากพระยาอังครัฏฐะ และทรงแสดงธรรมโปรดพร้อมทั้งได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า “เมื่อเรานิพพานแล้วธาตุพระเศียรเบื้องขวา (พระทักษิณโมลี) ของเราจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่ดอยจอมทองแห่งนี้” แล้วเสด็จกลับ ส่วนพระยาอังครัฏฐะ เมื่อได้ทราบจากคำพยากรณ์นั้นแล้ว จึงได้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทอง ด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้นั้น พระยาอังครัฎฐะอยู่ครองราชย์จนสิ้นพระชนมายุของ
ต่อมาภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว โทณพราหมณ์ได้จัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่กษัตริย์ทั้ง ๘ นคร ซึ่งในครั้งนั้น มัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราทรงได้พระทักษิณโมลีธาตุไว้ พระมหากัสสปะเถระเจ้าประธานฝ่ายสงฆ์ จึงได้กราบทูลมัลลกษัตริย์ถึงพุทธพยากรณ์ที่พุทธองค์เคยตรัสไว้ มัลลกษัตริย์ทราบดังนั้นจึงถวายพระบรมธาตุแด่พระมหากัสสปะเถระ ซึ่งท่านก็ได้อัญเชิญพระบรมธาตุวางไว้บนฝ่ามือ แล้วอธิษฐานอาราธนาพระบรมธาตุให้เสด็จไปยังดอยจอมทอง เพื่อประทับอยู่ในโกศแก้วอินทนิลภายในเจดีย์ทองคำ ที่พญาอังครัฎฐะได้สร้างถวายไว้ อยู่ที่ยอดดอยจอมทอง ตามที่พระพุทธองค์ได้พยากรณ์ไว้
ปัจจุบันวัดพระธาตุศรีจอมทอง มีพระเทพสิทธาจารย์ วิ. หรือหลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าสำนักวิปัสสนากรรมฐานหัวน้าพระวิปัสสนาจารย์หนเหนือ กองการวิปัสสนาธุระ ให้การสอน การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ในแนว สติปัฐฐาน ๔ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับสูง สำหรับภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และมีการจัดให้สอบอารมณ์ ทุกวัน (ยกเว้นวันพระ)
สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดพระธาตุศรีจอมทองสามารถรองรับผู้มาปฏิบัติธรรม โดยมีที่พักทั้งแบบเดี่ยวและแบบหมู่คณะ โดยมีกุฏิสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมกว่า ๒๐๐ หลัง ทางสำนักจะจัดอาหารให้ผู้ปฏิบัติวันละ ๒ มื้อคือ เช้าเวลา ๐๖.๐๐ น. และเพล เวลา ๑๑.๐๐ น. โดยมีให้เลือกแบบธรรมดาและมังสวิรัติ สำหรับช่วงเวลาหลังเที่ยงไปจนถึงเช้ามืดของวันรุ่งขึ้นนั้น ผู้ปฏิบัติไม่สามารถรับประทานอาหารอีก (สามารถดื่มนม ชา กาแฟ ได้) สำหรับผู้ที่มีความต้องการเรื่องอาหารเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของสำนักได้
พระวิปัสสนาจารย์แห่งสยามประเทศ
“อัคกา มหา กัมมัตตานา คาริยา” (Agga Maha Kammatthana Cariya) เป็นสมณศักดิ์ของหลวงปู่ทอง ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสูงที่สุดที่รัฐบาลพม่าถวายแด่พระภิกษุต่างชาติสายวิปัสสนา โดยในพ.ศ. ๒๕๕๔ นี้พระภิกษุต่างชาติที่ได้รับการถวายสมณศักดิ์นี้มีทั้งหมด ๑๐ รูป อาทิ ไทย, อินเดีย, ศรีลังกา, เวียดนาม, เนปาล, บังกลาเทศ และสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ มีการเข้ารับสมณศักดิ์ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ พระเจดีย์อุปปตะสันติ นครเนปิดอว์ โดยพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลพม่า จะถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุที่ได้รับการถวายสมณศักดิ์ด้วย
หลวงปู่ทอง ได้ข้าฝึกวิปัสสนากรรมฐานจากสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม. และสำนักมหาสีสยาดอ สาสนยิสสา กรุงย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า แล้วได้กลับมาเปิดสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ดำเนินการสอนตลอดมา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพระวิปัสสนาจารย์หนเหนือกองการวิปัสสนาธุระ และได้ขยายสำนักสาขาปฏิบัติอีกหลายสำนัก โดยเฉพาะใน จ.เชียงใหม่ เช่น สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดเมืองมาง อ.เมือง สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดถ้ำตอง อ.จอมทอง
สำนักวิปัสสนากรรมฐานสมเด็จสุญญตวิโมกข์ อ.เวียงสา จ.น่าน สำนักวิปัสสนากรรมฐานพระเทพสิทธาจารย์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย-สำนักวิปัสสนากรรมฐานพระธาตุเขาเขียว อ.เชียงของ จ.เชียงราย สำนักวิปัสสนากรรมฐานห้วยน้ำดิบ อ.ป้าโฮ่ง จ.ลำพูน สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดธัมมิกราช อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน-สำนักวิปัสสนากรรมฐานป่าสักคำ อ.เมือง จ.พะเยา-สำนักวิปัสสนากรรมฐานธรรมจักร์ อ.เมือง จ.นครนายก สำนักวิปัสสนากรรมฐานสุพรหมยาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
นอกจากนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา ท่านยังได้เดินทางไปเผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งในภาคพื้นยุโรปและอเมริกา รวมทั้งในพ.ศ. ๒๕๓๖ สร้างวัดพุทธปิยวนาราม เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี