พระเครื่อง

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์เบญจภาคีอายุน้อยสุดแต่แพงสุด

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์เบญจภาคีอายุน้อยสุดแต่แพงสุด

26 ก.ย. 2554

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์เบญจภาคีอายุน้อยสุดแต่แพงสุด : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู

          ผงปถมัง(ปะ-ถะ-หฺมัง) คือ ผงดินสอพองที่ได้จากการเขียนและลบอักขระตามคัมภีร์ปถมังนี้ เรียกว่าผงปถมัง โดยระหว่างการลงอักขระและลบในขั้นตอนต่างๆ จะต้องมีการบริกรรมสูตร ซึ่งเป็นพระคาถาสำหรับการลงอักขระและลบอักขระต่างๆ เชื่อว่ามีอานุภาพทางอยู่ยงคงกระพันโดยมากมักนำมาผสมทำเป็นพระเครื่องและเครื่องราง

          ส่วนผงอิธะเจหรือ อิทธิเจ อ.เทพย์ สาริกบุตร ได้อธิบายไว้ว่า การทำผงด้วยการตั้งตัวตามสูตรบาลีมูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นระบบบาลีไวยากรณ์ใหญ่ที่ปัจจุบันได้ล้มเลิกไป อิธะเจมีหลายตำรับด้วยกัน ผงที่ได้จากการเขียนและลบอักขระตามคัมภีร์อิธะเจ เรียกว่าผงอิธะเจ เชื่อว่ามีอานุภาพทางเมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์โดยเฉพาะแก่สตรีเพศ

          ในวงการพระเครื่องได้ให้สมญาว่าจักรพรรดิพระเครื่อง และเป็นหนึ่งในเบญจภาคีที่ได้รับความนิยมสูงสุด ไม่เฉพาะในประเทศไทย หากแต่ปัจจุบันนี้นับได้ว่าเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก

          พระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) ซึ่งสร้างจากเนื้อผงวิเศษ ๕ ชนิด คือ ปถมัง, อิธิเจ, มหาราช, พุทธคุณ และตรีนิสิงเห ตามลำดับ การเกิดผงวิเศษทั้ง ๕ นี้ นับเป็นขบวนการหล่อหลอมพระเวทย์วิทยาคมอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๕ มาเป็นหนึ่งเดียว

          พระสมเด็จวัดระฆังถูกจำแนกออกไปเป็น ๕ พิมพ์ใหญ่ด้วยกันคือ ๑.พิมพ์พระประธาน หรือ พิมพ์ใหญ่ ๒.พิมพ์ทรงเจดีย์ ๓.พิมพ์เกศบัวตูม ๔.พิมพ์ฐานแซม และ ๕.พิมพ์ปรกโพธิ์ สำหรับพระพิมพ์นี้มีให้พบน้อยมาก ภายหลังจึง ไม่ค่อยจะมีผู้กล่าวถึง

          แม้ว่าสมเด็จโตจะสร้างไว้จำนวนมากถึง๘๔,๐๐๐ องค์ แต่ในตลาดพระเครื่องมีพระสมเด็จวัดระฆังแท้ๆ หมุนเวียนอยู่ในหลักร้อยองค์เท่านั้น ทั้งนี้ นายอนุศักดิ์ นารถกุลพัฒน์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และผู้เชี่ยวชาญพระชุดเบญจภาคี หรือที่รู้จักกันในนาม "อ้า สุพรรณ" ซึ่งทำหน้าที่รับพระในงานประกวด บอกว่า สุดยอดพระปลอมต้องยกให้พระสมเด็จ การทำปลอมมีทั้งตั้งใจทำปลอม และไม่รู้ว่าพระที่เช่ามาเป็นพระปลอม เคยมีงานประกวดพระครั้งหนึ่ง มีการส่งพระเข้าประกวดประมาณ ๔๐๐ องค์ เป็นพระแท้มากถึง ๖๐-๗๐ องค์ ส่วนฝีมือการทำปลอมนั้นเรียกว่า เก๊ดูง่าย

          สำหรับพระสมเด็จพิมพ์ทรงเจดีย์ใหญ่ ที่เป็นองค์ครูวันนี้เป็นของศุภชัย เรืองสรรงามศิริ หรือ 'ตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และประธานชมรมพระเครื่องท่าพระจันทร์ ค่านิยมอยู่ในหลักหลายๆ ล้านบาทเท่านั้น