
'พระสมเด็จองค์ดังส่วนใหญ่ผ่านสายตาผมมาแล้วทั้งนั้น'วิวัฒน์ อุดมกัลยารักษ์ นักพระเครื่องอาวุโส
'พระสมเด็จองค์ดังส่วนใหญ่ผ่านสายตาผมมาแล้วทั้งนั้น'วิวัฒน์ อุดมกัลยารักษ์ นักพระเครื่องอาวุโส : เส้นทางนักพระเครื่อง โดย ตาล ตันหยง
วิวัฒน์ อุดมกัลยารักษ์ ชื่อนี้วงการนักสะสมพระเครื่องรุ่นใหญ่จะรู้จักมักคุ้นกันดี ในฐานะที่เป็นนักพระเครื่องอาวุโสท่านหนึ่ง ผู้ผ่านประสบการณ์ในวงการพระมานานหลายสิบปี มีโอกาสได้สัมผัสจับต้องส่องดู พระสมเด็จองค์ดังๆ มาแล้วมากมาย รวมทั้งพระชุดเบญจภาคี และพระหลักยอดนิยมอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะสะสมเอาไว้ใช้เองแล้ว ยังมีผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการธุรกิจ ราชการ นักการเมืองรุ่นเก่าใหม่ ฯลฯ ต่างได้ฝาก "ใบสั่ง" ให้ช่วยหาพระสมเด็จ และพระหลักยอดนิยมต่างๆ ตลอดมา รวมทั้งให้ช่วยตรวจสอบพิจารณาพระเครื่องที่มีอยู่ในครอบครองอีกด้วยว่า เป็นของแท้หรือไม่ เรียกว่าเป็น ที่ปรึกษา ในการเสาะแสวงหาพระเครื่องให้กับนักสะสมพระเครื่องระดับวีไอพีของเมืองไทยก็ว่าได้
ก่อนจะเข้ามาสู่วงการพระเครื่อง วิวัฒน์ อุดมกัลยารักษ์ เป็นนักธุรกิจผู้บุกเบิกรถยนต์มือสองรายแรก ที่สั่งรถยนต์ใช้แล้วมาจากประเทศญี่ปุ่น และที่สร้างชื่อเสียงจนโด่งดังไปทั่ว คือ เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจ "เฮดเดอร์" หรือท่อไอเสียรถยนต์แบบปรับแต่ง รายแรกของเมืองไทย
วิวัฒน์ อุดมกัลยารักษ์ เป็นชาว อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยกำเนิด คุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจโรงสีข้าว ตอนเด็กๆ ทางบ้านได้ยกให้เป็นลูกบุญธรรมของหลวงพ่อที่วัดในละแวกบ้าน ทำให้ชีวิตผูกพันกับวัดมาตั้งแต่ตอนนั้น เป็นคนเดียวในหมู่พี่น้องทั้ง ๘ คนที่สนใจพระเครื่องมาตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ เพราะได้รับพระแจกจากหลวงพ่อตามวัดต่างๆ บ้าง และชาวบ้านที่เอาข้าวเปลือกมาสีก็มักจะเอาพระมาให้บ้าง ขณะเดียวกัน คนงานในโรงสีข้าวที่ล้วนเป็นชายฉกรรจ์ก็นิยมห้อยพระให้เห็นเป็นประจำ ทำให้จิตใจของเด็กน้อยวิวัฒน์ นึกรักชอบพระเครื่องมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักชื่อพระองค์ไหนเลย แต่ที่แน่ๆ คือ พระเครื่องสมัยนั้นยังไม่มีของปลอม
คุณวิวัฒน์ เล่าว่า "ครั้งหนึ่ง มีคุณลุงท่านหนึ่งซึ่งเป็นญาติกัน อายุ ๘๐ ปี ได้เอาพระห่อหนึ่งมาให้ที่บ้าน เป็นพระที่ท่านได้มาจากหลวงพ่อตามวัดที่ไปทำบุญ และชาวบ้านมอบให้ หลายปีมาแล้ว จำนวนหลายสิบองค์ คุณลุงบอกว่า ท่านอายุมากแล้ว อยากจะกลับไปตายที่เมืองจีน จึงขอมอบพระห่อนี้ให้ช่วยเก็บรักษาต่อไป ทำให้ผมได้เป็นเจ้าของพระห่อนี้โดยปริยาย เพราะพี่น้องคนอื่นเขาไม่สนใจอยู่แล้ว ผมดีใจที่ได้พระห่อนี้"
ต่อมาเมื่ออายุ ๑๕ ปี คุณพ่อได้ส่งเด็กหนุ่มวิวัฒน์กับพี่ชายไปเรียนหนังสือที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยผ่านเข้าไปทางฮ่องกง อยู่ที่เมืองจีน ๗ ปี ได้เรียนวิชาการต่างๆ มากมาย นับเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าแก่ชีวิตอย่างมหาศาล
เมื่อกลับมาเมืองไทยขณะอายุ ๒๓ ปี คุณแม่ได้ซื้อตึกแถวที่สี่แยกสะพานควาย จึงเปิดเป็นร้านสโตร์ ขายเครื่องสำอาง เครื่องกระป๋อง และของใช้ต่างๆ ต่อมาเพื่อนชวนไปซื้อรถเก่าจากญี่ปุ่นมาขายในเมืองไทยเป็นรถมือสอง ทำเป็นรถแท็กซี่ (ดัทซัน บลูเบิร์ด) ยุคแรก รวมทั้งรถกระบะ ขายดีมาก เดือนหนึ่งหลายสิบคัน คันละหมื่นกว่าถึง ๓ หมื่นบาท ต่อมาได้ทำธุรกิจท่อไอเสียรถนต์ปรับแต่ง หรือเฮดเดอร์ โดยได้แบบอย่างมาจากญี่ปุ่น ตอนแรกก็ต้องทำลองผิดลองถูก จนในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ นับเป็นรายแรกของเมืองไทย ธุรกิจนี้ได้ทำติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
คุณวิวัฒน์ กล่าวถึงชีวิตช่วงนี้ว่า "ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้ให้ความสนใจพระเครื่องมาโดยตลอด เพราะพระที่คุณลุงให้ผมตอนเด็กๆ นั้น คุณแม่ได้ให้คนอื่นไปหมด ช่วงที่ผมไปอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ผมเสียดายมาก จึงเริ่มเก็บสะสมใหม่ โดยไปหาเช่าพระตามสนามท่าพระจันทร์ และวัดราชนัดดา เป็นประจำ ทำให้ได้รู้จักกับเซียนพระดังๆ หลายท่าน มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำผมว่า ถ้าอยากศึกษาพระสมเด็จให้ผมไปหา 'จ่ามานิตย์ ปัทพี' ผู้มีความชำนาญด้านพระสมเด็จมานานปี เพราะท่านเป็นคนมีฝีมือในการซ่อมพระสมเด็จ ซึ่งวงการพระสมัยนั้นรู้จักกันดี ผมจึงไปหาท่าน และฝากตัวเป็นศิษย์ ทำให้ผมได้รับความรู้ในการดูพระสมเด็จมากมาย โดยเฉพาะจุดสำคัญของเนื้อพระด้านใน ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักกันมากนัก เพราะไม่ได้พบเห็นพระชำรุดแตกหักมาก่อน รวมทั้งผิวพระในสภาพต่างๆ และพิมพ์ทรงของพระสมเด็จแต่ละพิมพ์ ที่ต้องจดจำให้ได้ ช่วงนั้นผมไปท่านบ่อยมาก จนทำให้ผมมีความรู้ในการดูพระสมเด็จได้อย่างถูกต้อง"
ข้อมูลต่างๆ ที่คุณวิวัฒน์ได้ศึกษามาอย่างละเอียดนั้น ท่านไม่ได้เก็บเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว หากมีใครสนใจใคร่เรียนรู้ ก็ยินดีที่จะถ่ายทอดให้เสมอ เป็นคนที่ไม่เคยหวงวิชา ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาแนวทางการสะสมพระตามมาตรฐานสากลที่วงการพระยึดเป็นตำรา
ความศรัทธาเชื่อถือในสายตาของคุณวิวัฒน์ ทำให้ผู้ใหญ่ในวงการต่างๆ นำพระที่มีอยู่ไปให้พิจารณาตรวจสอบดูว่า เป็นพระแท้หรือไม่ รวมทั้งให้ช่วยหาพระหลักยอดนิยมต่างๆ ให้ด้วย
นอกจาก พระสมเด็จ วัดระฆัง พระสมเด็จ กรุบางขุนพรหม และพระสมเด็จ เกศไชโย แล้ว คุณวิวัฒน์ยังได้ศึกษาพระเนื้อผง พระเนื้อดิน ที่เป็นพระหลักยอดนิยมอื่นๆ อีกด้วย โดยใช้หลักการพิจารณาอย่างเดียวกัน คือ ดูพิมพ์ทรงพระ เนื้อพระ และธรรมชาติความเก่า ผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านสายตามามาก ย่อมถือว่าเป็นเรื่องง่าย
ในส่วนของ พระกริ่ง คุณวิวัฒน์ได้รับความรู้จาก อ.หนู (นิรันดร์ แดงวิจิตร) ผู้ชำนาญพระสายนี้มาโดยตรง ซึ่งได้ถ่ายทอดวิธีพิจารณาพระกริ่งให้เป็นประจำ
เมื่อปี ๒๕๔๒ คุณวิวัฒน์ ได้ร่วมเป็นกรรมการจัดงานประกวดพระขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นงานใหญ่ ได้รับความสนใจจากผู้คนในวงการพระจำนวนมาก โอกาสนั้นได้เปิดตัวหนังสือ ชุดมรดกไทย ๑๒ เล่ม ในโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงสร้างสรรค์และทรงสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชน อีกทั้งเพื่อรำลึกถึงพระคุณของเหล่าศิลปิน ผู้รังสรรค์งานศิลปะอันสะท้อนถึงภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของชาติ อีกด้วย
หนังสือเล่มหนึ่งในจำนวน ๑๒ เล่มของโครงการนี้ คือ หนังสือ "เบญจภาคี" เป็นหนังสือรวมภาพและเรื่องราวของพระชุดเบญจภาคี อันมี พระสมเด็จ วัดระฆัง / บางขุนพรหม / เกศไชโย / พระรอด / พระผงสุพรรณ / พระซุ้มกอ และ พระนางพญา ซึ่งเป็นผลงานที่คุณวิวัฒน์ ได้จัดทำขึ้นเป็นหนังสือปกแข็ง จำนวน ๒ เล่ม หนารวมกันประมาณ ๗๐๐ หน้า
ในช่วงนั้น คุณวิวัฒน์ ได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการจัดทำหนังสือชุดนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกับมีโอกาสได้สัมผัสจับต้องส่องดูพระสมเด็จองค์ดังๆ รวมทั้งพระชุดเบญจภาคีองค์อื่นๆ ที่คัดสรรมาแล้วว่าเป็นพระแท้ดูง่าย และสวยคมชัดทุกองค์ นับเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจที่สุดของคุณวิวัฒน์
ในฐานะที่เป็นนักสะสมพระเครื่องรุ่นอาวุโส ได้ผ่านพบประสบการณ์ในวงการพระมานานปี คุณวิวัฒน์ ได้ให้คำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาสู่วงการนี้ว่า
"การเช่าพระแบบสะเปะสะปะ โอกาสที่จะได้พระแท้นั้นยาก การดูพระให้เป็นสิ่งที่ไม่ยาก ขอให้ตั้งใจเรียนรู้อย่างจริงจัง โดยหาพระแท้องค์จริงมาศึกษาอย่างใกล้ชิด และคบหาสมาคมกับผู้ที่รู้จริง ในพระสายนั้นๆ อะไรที่ไม่รู้ให้สอบถาม อย่าได้เหนียมอายที่จะบอกความจริงกับคนอื่น ขณะเดียวกันก็อย่าอวดรู้ว่าเราเก่ง เพราะจะถูกลองดี และเมื่อดูพระเป็นแล้ว ก็ต้องซื่อสัตย์ต่อคนอื่น ต้องมีคุณธรรม ในการเล่นพระ หากทำได้ก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองบนเส้นทางสายนี้"
ทุกวันนี้ คุณวิวัฒน์ ยังคงสะสมพระเครื่องที่รักชอบเหมือนเดิม หากพบพระองค์ไหนถูกใจก็เช่าบูชาทันที ในส่วนของธุรกิจของครอบครัว ก็ยังทำอยู่ คือ ร้านพหลโยธินเฮดเดอร์ หน้าตลาด อตก. ถนนพหลโยธิน โดยมีลูกชายมาแบ่งเบาภารกิจได้ส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ได้สอนให้ลูกชายเรียนรู้เรื่องพระเครื่อง และโบราณวัตถุต่างๆ อีกด้วย และในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือเมื่อมีเวลาว่างก็จะพาครอบครัวไปท่องเที่ยวและทำบุญตามวัดต่างๆ อย่างมีความสุข และความอบอุ่นตลอดมา นับเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง