
กำเนิด'พระกริ่ง'เมืองไทยควรเน้นคุณค่าทางศิลปะและพิธีกรรม
การสร้าง 'พระกริ่ง' ในเมืองไทยควรเน้นคุณค่าทางศิลปะและพิธีกรรม : ปกิณกะพระเครื่อง โดย พ.พศวรรษ
“พระกริ่ง” เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก เป็นศิลปะการปั้นแบบลอยองค์ พุทธศาสนิกชนที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานให้ความเคารพนับถือกันมาก และนิยมสร้างพระกริ่งกันมาก ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เช่น ประเทศทิเบต จีน เป็นต้น เพื่อเป็นการสืบต่ออายุพุทธศาสนา ซึ่งต้องใช้งบประมาณ, กำลังคน และเวลา ผู้เป็นเจ้าภาพในการจัดสร้างส่วนใหญ่ มักจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือผู้มีอำนาจและบารมี มอบให้พระคณาจารย์ที่ทรงความรู้ในทางเวทวิทยาคุณ และทางพระพุทธศาสนา เป็นผู้กำหนดพิธีกรรมสร้างขึ้น
ต่อมาความนิยมสร้างพระกริ่งได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย กัมพูชา (เขมร) ที่มีอาณาเขตประเทศติดกับประเทศไทย ซึ่งประชาชนอาจมีการติดต่อซึ่งกัน การนำเอาศาสนาวัตถุขนาดเล็กติดตัวเข้ามากับนักบวช ก็คงจะมีปรากฏ
เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๕๔๖ กษัตริย์เขมรพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีเชื้อสายมาจากอาณาจักรศรีวิชัย ทรงเคารพนับถือ และมีความเคร่งครัดในทางพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงให้การทำนุบำรุงพุทธศาสนา จนมีความเจริญสูงสุด และมีความเจริญต่อเนื่องมา จนถึงพระมหากษัตริย์ของประเทศเขมรอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงครองราชย์ระหว่างพ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๔๘
พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะฝ่ายมหายานโดยแท้ ได้พยายามเผยแพร่ลัทธิทางศาสนานี้เข้ามาซึมซาบ อยู่ในจิตใจของประชาชน ทรงเป็นพระมหาราชาธิราชองค์สุดท้ายของเขมร เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ท่าน ประเทศเขมรก็เข้าสู่ยุคเสื่อม
ในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ได้สร้างเมืองใหม่ชื่อว่า นครชัยศรี ซึ่งก็คือ ปราสาทพระขรรค์ สำหรับเป็นพุทธสถานประดิษฐานพระประติมากรรม พระอวโลกิเตศวร โดยเชื่อกันว่า เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณาองค์ที่สำคัญที่สุด ของพุทธศาสนาฝ่ายลัทธิมหายาน ทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศบุญกุศลแด่ พระเจ้าธรณินทรวรมัน ผู้เป็นพระชนก (พ่อ) สร้างปราสาทตาพรหม เพื่อประดิษฐาน พระปฏิมาปรัชญา ซึ่งนับถือว่าเป็นเทพแห่งปัญญา อุทิศส่วนกุศลแด่พระวรราชมารดา ดังมีจารึกว่า
ปราสาทตาพรหม เป็นอาวาสสำหรับพระมหาเถระ ๑๘ พระองค์ และพระภิกษุอีก ๑,๗๔๐ รูป สร้างปราสาทบายนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสนองพระองค์ จากถาวรวัตถุดังกล่าวมาแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้สร้างโรงพยาบาล คือ อโรคยาศาลา เป็นทานทั่วพระราชอาณาจักร ๑๐๒ แห่ง ด้วยเหตุแห่งการนับถือ พระพุทธไภษัชยคุรุ จึงทรงพยายามอนุวัติตามพระพุทธจริยาของพระพุทธไภษัชยคุรุพระองค์นั้น
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสร้างรูปพระปฏิมา ชยพุทธมหานาถ ประดิษฐานในเมืองต่างๆ ๒๓ แห่ง ทรงสร้าง ธรรมศาลา สร้างถนนขุดสระน้ำ เพื่อเป็นพุทธบูชาพระไภษัชยคุรุ เป็นหลักฐานให้แน่ใจว่า พระกริ่งปทุมเขมร ที่เราได้เห็นและตกทอดมาสู่พวกเราในยุคปัจจุบัน ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างแพร่หลายกว่าทุกยุคทุกสมัย และสร้างในรัชสมัยของพระองค์ท่านอย่างแน่นอน
การสร้างพระกริ่งในยุคพระองค์ท่าน คงจะต้องมีการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา มีพิธีโหรและพิธีพราหมณ์เข้ามาร่วมตามขั้นตอน มีการปลุกเสกประจุฤทธิ์เข้าไปในองค์พระ ตามกรรมวิธีของลัทธิพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ทำให้ พระไภษัชยคุรุ (พระกริ่ง) ที่สร้างในยุคนั้นมีความเข้มขลัง มีพุทธลักษณะที่บริบูรณ์ด้วยศิลป์ ทั้งนี้ เพราะมีการประกอบพิธีกรรมที่ถูกขั้นตอน โดยเน้นการพิธีที่ต้องการความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ถือได้ว่า ในสมัยของพระองค์ท่านเป็นยุคที่เจริญในการสร้างถาวรวัตถุทางศาสนาจึงได้เจริญสูงสุด
ด้านประเทศไทยที่มีอาณาเขตประเทศติดต่อกันใกล้ชิด พระเกจิอาจารย์ของประเทศไทยได้รับอิทธิพลการสร้าง พระพุทธไภษัชยคุรุ ด้านพิธีกรรมและขั้นตอนการสร้างของประเทศเขมรนี้เข้ามาทั้งหมด และนำมาปรับเข้ากับตำราการลงทองหล่อพระรูปสำคัญ ที่ต่อมากลายเป็นมรดกตกทอดกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามาร่วมในการประกอบพิธีกรรมด้วยความขลังและสิริมงคลในการสร้างย่อมเกิดเป็นทวีคุณ
นอกจากนี้พระเกจิอาจารย์หลายท่าน ยังหาโลหะธาตุที่ถือกันว่าเป็นของ ทนสิทธิ์ มีอิทธิปาฏิหาริย์ในตัวเอง มาผสมเพื่อเพิ่มความขลังศักดิ์สิทธิ์ ในขั้นตอนการลงทองด้วย แผ่นยันต์ ๑๐๘ และ นะ ๑๔ นะ
พระกริ่งที่หล่อในประเทศไทย ที่มีหลักฐานยืนยันปรากฏได้แน่นอน คงจะเป็น พระกริ่งปวเรศ ซึ่งสร้างโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ทรงหล่อขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร ประมาณพ.ศ.๒๔๓๐ มีจำนวนไม่มาก
ต่อมา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๑ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถระ) วัดสุทัศนเทพวราราม ได้ทรงหล่อพระกริ่งสืบต่อมาหลายครั้ง ดังที่ท่านผู้อ่านและนักสะสมพระเครื่องสายพระกริ่งรูปหล่อได้พบเห็น ซึ่งทุกรุ่นต่างก็มีพุทธศิลป์ที่งดงาม มีความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ มีเอกลักษณ์และเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้รับและเคารพบูชา
ซึ่งเมื่อหมดยุคของพระองค์ท่าน พระศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์ ยติธโร) ผู้เป็นศิษย์ได้รับมอบตำรา และขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม ได้ประกอบพิธีกรรมเททองหล่อพระกริ่งสืบต่อมา และแพร่หลายอยู่ในขณะปัจจุบันนี้
มีผู้รู้หลายท่านในวงการพระเครื่องได้ให้ความเห็นว่า พระพุฒาจารย์ (มา)วัดจักรวรรดิราชาวาส ก็มีการหล่อพระกริ่งเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่เคยพบ พบเห็นแต่เพียง พระชัยวัฒน์ แบบพิมพ์ต่างๆ เท่านั้น ที่ได้หล่อขึ้นมาในหลายวาระ
ในยุคปัจจุบัน ได้มีพระคณาจารย์หลายสำนัก ประกอบพิธีกรรมการสร้างพระกริ่งกันอย่างแพร่หลาย จำนวนพระกริ่งที่หล่อก็มีครั้งละจำนวนมาก ทำให้ขาดซึ่งศิลปะและพิธีกรรม ขาดแร่ธาตุ และผู้รู้ในขั้นตอนของการประกอบพิธีกรรม ขาดช่างผู้ชำนาญในการหล่อและเททอง แม้แต่ขั้นตอนของพิธีสงฆ์ก็ถูกลดทอน และลัดขั้นตอนลงไป จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สำหรับตำนานและกำเนิดพระกริ่งของประเทศไทย ที่จะมีทั้งคุณค่าทางศิลปะและเป็นสิริมงคลในยุคนี้