พระเครื่อง

พระร่วงยืนประทานพรเนื้อตะกั่วสนิมแดงกรุวัดตะไกร

พระร่วงยืนประทานพรเนื้อตะกั่วสนิมแดงกรุวัดตะไกร

06 ก.ย. 2554

พระร่วงยืนประทานพรเนื้อตะกั่วสนิมแดงกรุวัดตะไกร จ.สุพรรรณฯ : พระองค์ครู โดย ไตรเทพ ไกรงู

           พระกรุอันเลื่องชื่อ และเป็นที่รู้จักของนักเลงพระทั่วประเทศ ของ จ.สุพรรณบุรี ได้แก่ ๑.พระกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ๒.พระกรุวัดการ้อง ๓.พระกรุวัดชุมนุมสงฆ์ ๔.พระกรุดอนคา ๕.พระกรุวัดปู่บัว ๖.พระกรุวัดคูบัว ๗.พระกรุบ้านหนองแจง ๘.พระกรุสองพี่น้อง (บางลี่) ๙.พระกรุศาลาขาว (บ้านสวนแตง) ๑๐.พระกรุวัดลาวทอง ๑๑.พระกรุบ้านหัวเกาะ

            ๑๒.พระกรุท่าเสด็จ ๑๓.พระกรุบ้านดงเชือก ๑๔.พระกรุบ้านละหาน ๑๕.พระกรุบ้านโพธิ์ตะควน ๑๖.พระกรุบ้านวังวน ๑๗.พระกรุบ้านพลูหลวง ๑๘.พระกรุวัดท่าไชย-กรุโรงสี-กรุวัดตะไกร ๑๙.พระกรุวัดป่าเลไลยก์ ๒๐.พระกรุวัดราชเดชะ ๒๑.พระถ้ำเสือ กรุวัดเขาถ้ำเสือ กรุวัดเขาพระ กรุวัดเขาดีสลัก ๒๒.พระกรุวัดพระรูป ๒๓.พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง ๒๔.พระกรุสำปะซิว และ ๒๕.พระกรุวัดชายทุ่ง

            ด้วยจำนวนการพบพระกรุในบริเวณ อ.อู่ทอง อ.สามชุก อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งในบริเวณ อ.เมืองสุพรรณบุรี ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีแผ่นดินของจังหวัดใดที่จะพบพระเครื่องมากกรุเท่ากับเมืองสุพรรณบุรีนี้ได้เลย"

            สำหรับภาพพระเครื่องที่นำมาเป็นพระองค์ครูในฉบับนี้ คือ "พระร่วงยืนประทานพร เนื้อตะกั่วสนิมแดง กรุวัดตะไกร อ.เมือง จ.สุพรรรณบุรี" ของคุณชัย  ปากช่อง ซึ่งเป็นพระเครื่องปางมหาปาฏิหาริย์ ศิลปะสกุลช่าง อู่ทองสุวรรณภูมิ ซึ่งแตกต่างจากกรุอื่น ซึ่งเป็นปางประทานพร ด้วยเหตุที่เป็นพระร่วงยืนสนิมแดงพิมพ์เดียวในประเทศไทย ที่เป็นปางมหาปาฏิหาริย์  

             ปัจจุบันวัดตะไกรเป็นที่ตั้งเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ทั้งนี้ ก่อน พ.ศ.๒๔๙๕ วัดตะไกรมีเจดีย์ใหญ่อยู่องค์หนึ่ง หลัง พ.ศ. ๒๔๙๕ ทางเทศบาลไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใด ได้ใช้เชือกคล้องเจดีย์แล้วใช้รถลากเพื่อล้มเจดีย์ เมื่อเจดีย์พังคนก็กรูเข้าไปหาพระ ในจำนวนนี้มีพระร่วงยืนประทานพร เนื้อตะกั่วสนิมแดง ปนอยู่ประมาณ ๑๐๐ องค์ เป็นพระศิลปะอู่ทองยุคต้นๆ คาบเกี่ยวกับศิลปะลพบุรี

            ค่านิยม "พระร่วงยืนประทานพร เนื้อตะกั่วสนิมแดง กรุวัดตะไกร อยู่ในหลักแสนต้นๆ ส่วนนั้น พุทธคุณเช่นเดียวกับพระร่วงทั่วๆ ไป คือ ทางโชคลาภ วาสนา บารมีแคล้วคลาด คงกระพัน และป้องกันไฟไหม้นำโชคลาภ

            อย่างไรก็ตาม ชื่อของวัดตะไกร นั้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็มีอยู่วัดหนึ่ง แต่ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ทั้งนี้ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐ ได้มีการพบพระเครื่องเนื้อดินเผาและเนื้อชินผสมตะกั่ว ครั้งแรกในพระเจดีย์ร้างบริเวณวัดตะไกรเป็นจำนวนมาก พระเครื่องที่พบมี พิมพ์หลวงพ่อโต  พิมพ์หน้าครุฑ พิมพ์หน้าฤๅษี พิมพ์หน้ามงคล เป็นต้น