พระเครื่อง

อมตะ-สังขาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อมตะ-สังขาร : คำวัด พระธรรมกิตติวงศ์

           เรื่องของพระภิกษุ หรือพระเกจิอาจารย์ซึ่งเมื่อมรณภาพลงแล้วรูปสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย หรือที่เรียกว่า "อมตะสังขาร" ซึ่งมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงมาหลายรายแล้ว อย่างน้อยก็นับสิบรูปในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา

            ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า “อมตะ” (อ่านว่า อะ-มะ-ตะ) ไว้ว่า แปลว่า ไม่ตาย หมายถึงยั่งยืน มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ใช้ว่า อมฤต (อะ-มะ-ริด,รึด-ริดตะ หรือ รึดตะ) ก็ได้

            อมตะ ในคำวัดใช้ หมายถึง พระนิพพาน บางครั้งก็ใช้รวมกันไปเป็น อมตนิพพาน อมตมหานิพพาน และนิยมใช้นำหน้าคำอื่นๆ ซึ่งหมายถึง นิพพาน เช่นกัน เช่น


 -อมตธรรม หมายถึง ธรรมคือพระพิพพาน
 -อมตบท หมายถึง บทคือพระนิพพาน ทางพระนิพพาน
 -อมตทวาร หมายถึง ประตูพระนิพพาน
 -อมตผล หมายถึง ผลแห่งนิพพาน
 -อมตมรรค หมายถึง ทางไปสู่นิพพาน

            ส่วนคำว่า "สังขาร" เจ้าคุณทองดีได้ใหความหมายไว้ การปรุงแต่ง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง สังขารมี  ๒ ความหมาย ดังนี้

            สังขารในเรื่องไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณ์สังขารหมายถึงร่างกาย ตัวตน สสาร สิ่งที่ประกอบกันขึ้นหรือถูกปรุงแต่งขึ้นจากธาตุ ๔ สังขารในความหมายนี้แบ่งเป็น ๒ คือ

            ๑.สังขารมีใจครอง (อุปาทินนกสังขาร) คือสิ่งมีชีวิต มีจิตวิญญาณ สามารถเคลื่อนไหว รับ จำ คิด รู้อารมณ์ได้ ได้แก่มนุษย์ อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน

            ๒.สังขารไม่มีใจครอง (อนุปาทินนกสังขาร) คือ สิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีจิตวิญญาณ รับ จำ คิด รู้อารมณ์ไม่ได้ ได้แก่ต้นไม้ ภูเขา ดิน น้ำ รถ เรือ เป็นต้น

            สังขารในความหมายนี้ จัดเป็นรูปขันธ์ในขันธ์ ๕ มิใช่สังขารขันธ์ และมีลักษณะเสมอกันโดยเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

            สังขารในขันธ์ ๕ สังขาร หมายถึงสิ่งปรุงแต่งจิต ระบบปรุงแต่ง แยกแยะสิ่งที่รู้สึกและจำได้ ซึ่งก็ได้แก่ความคิด ความรู้สึกปกติทั่วไปของคนเรา เช่นรัก ชัง โกรธ ละอายใจ อยากได้เป็นต้น

            สังขารในความหมาย ๒ นี้ ได้แก่ เจตสิกธรรม คือสิ่งที่ประกอบจิตอยู่ เกิดดับพร้อมจิต รับอารมณ์อย่างเดียวกับจิต เป็นสิ่งที่ดีเรียกว่ากุศลบ้าง เป็นส่วนที่ไม่ดีเรียกว่าอกุศลบ้าง เป็นส่วนกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วที่เรียกว่าอัพยากฤตบ้าง

            คำว่า สังขาร ในเรื่องไตรลักษณ์กับในเรื่องขันธ์ต่างกัน คือสังขารในเรื่องไตรลักษณ์เป็นรูปธรรม ในเรื่องขันธ์เป็นนามธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ