พระเครื่อง

พระหลวงพ่อทวดเนื้อว่านปี๒๔๙๗ของแท้หรือเก๊...ดูกันตรงไหน ?

พระหลวงพ่อทวดเนื้อว่านปี๒๔๙๗ของแท้หรือเก๊...ดูกันตรงไหน ?

25 ส.ค. 2554

พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ ของแท้หรือเก๊...ดูกันตรงไหน ? : สายตรงหลวงพ่อทวด โดย วิจิตร ปิยะศิริโสฬส (แพะ สงขลา)

          จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นที่ประจักษ์มาแล้วมากมาย จนนับครั้งไม่ถ้วน กับผู้ที่บูชาพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ไว้กับตัว ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ได้หนุนนำให้ความศรัทธาของประชาชนทั่วประเทศ ที่มีต่อองค์สมเด็จหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ณ เวลานี้ ได้ส่งผลให้วัตถุมงคลทุกรุ่นที่ทัน ท่านพระอาจารย์ทิม ธมฺมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ปลุกเสก ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเป็นวงกว้าง ทำให้พระเครื่องของท่านมีเท่าไรก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดพระเครื่องพระบูชา

           โดยเฉพาะ พระหลวงพ่อทวด รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ เนื้อว่าน จนเกือบจะกลายเป็นพระในตำนานไปแล้ว เพราะหาดูพระแท้ได้ยากมาก เนื่องจากนักสะสมรุ่นแรกๆ เก็บพระไปบูชาจนเกือบหมด ทำให้เป็นที่เล่าขานกันในตลาดพระว่า “พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ ดูยาก”

           ส่งผลให้นักสะสมพระคนรุ่นใหม่ๆ ไม่สามารถหาพระแท้มาดูได้ อีกทั้งไม่ได้รับการชี้แนะอย่างถูกต้องจากผู้รู้จริง ส่วนใหญ่มักไปเจอแต่พระฝีมือ (เก๊) บ่อยๆ เข้า จึงมาสรุปเอาเองว่า “พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ ดูยาก” ประกอบกับดูพระเนื้อว่านไม่เป็น ไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ๒๔๙๗ โอกาสนี้ผู้เขียนจะขออธิบายถึงองค์ประกอบอย่างคร่าวๆ เพื่อจะได้เป็นหลักเบื้องต้นในการดูพระเนื้อว่านอย่างถูกวิธี ดังนี้

           องค์ประกอบแรก เราต้องมาทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า “การที่จะดูว่าพระแท้หรือเก๊” นั้น นอกจาก พิมพ์ทรง ขององค์พระแล้ว ส่วนสำคัญอย่างยิ่ง คือ เนื้อพระ เราต้องรู้ก่อนว่า พระที่เราต้องการจะพิจารณานั้น เขาใช้วัสดุอะไรบ้างที่นำมาสร้างเป็นองค์พระ ทุกคนก็ทราบมาแล้วว่า พระหลวงพ่อทวด รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ ทำมาจาก ว่านสด ๑๐๘ อย่าง ผสมกับ ดินกากยายักษ์ มาตำมาบดแล้วผสมรวมกัน หลังจากนั้นก็นำไปกดลงในเบ้าพิมพ์ออกมาเป็นองค์พระ

           ผู้เขียนเองก็หลงทางในการดูพระเนื้อว่าน ๒๔๙๗ อยู่หลายปี อาศัยว่าไม่เคยขี้เหนียวในการหาความรู้ ได้ซื้อตำราเอาไว้มากมาย พร้อมทั้งได้เสียเงินจ้างเขาถ่ายรูปพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่านที่ผ่านมือตัวเองไปทุกองค์

           จากการอ่านหนังสือที่เขียนถึงพระหลวงพ่อทวด ไม่มีหนังสือเล่มใดเลยที่ให้ความกระจ่างแจ้งว่า เขาดูพระเนื้อว่านแท้กันอย่างไร? มีแต่ลงรูปพระให้ดูกันเอาเอง ดูรูปพระแล้วดูเล่าอยู่หลายปี ก็ยังมองไม่ออก ถามเซียนพระเขาก็บอกว่า องค์นี้แท้ องค์นั้นเก๊ โดยไม่รู้เหตุผลว่า ทำไมถึงแท้ ทำไมถึงเก๊ ถามใครก็ให้ความกระจ่างไม่ได้

           ดังนั้น ผู้เขียนจึงย้อนมามองตัวเอง หลังจากถามตัวเองก็ได้ข้อสรุปมาว่า “ถ้าเรายังเป็นเช่นนี้อยู่อีก ก็คงเล่นพระ หรือสะสมพระ ไม่ก้าวหน้าแน่ๆ” การเล่นพระแบบนี้ก็เหมือนให้คนอื่นจูงจมูก พระจะแท้หรือเ ก็ขึ้นอยู่กับคนอื่นทั้งหมด โดยตัวเราไม่รู้เรื่อง หากยังเป็นแบบนี้อยู่อีกก็เปรียบเสมือนยืมจมูกคนอื่นหายใจ เล่นพระแบบตามหลังคนอื่นตลอดเวลาแน่ๆ 

           จึงคิดว่า เราต้องมาหาวิธีใหม่ ที่ทำให้เรามีข้อสรุป และมีเหตุผลสามารถอธิบายได้ว่า พระแท้ๆ เป็นอย่างไร หลังจากมาพิจารณาแล้ว ไม่มีวิธีไหนเลยที่จะดีไปกว่า การศึกษาพระแบบวิทยาศาสตร์ เมื่อได้คิดเช่นนั้นแล้วก็เลยมีแนวทางที่จะศึกษาขึ้นมาทันที 

           โดยเริ่มจากความรู้เบื้องต้นที่ได้ทราบมาก่อน คือ พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ๒๔๙๗ สร้างมาจากว่านสด ๑๐๘ อย่าง ผสมรวมกับดินกากยายักษ์ จึงหยิบพระที่ตัวเองมีอยู่ เอามาส่องดูด้วยกล้อง ได้เห็นมวลสารของพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ๒๔๙๗ ว่า มีความแตกต่างจากพระของวัดอื่นขึ้นมาทันที 

           หลังจากนั้นก็เอารูปพระเนื้อว่าน ๒๔๙๗ ที่ได้ถ่ายเก็บไว้ ซึ่งเป็นไฟล์ดิจิทัล มาขยายดูด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถขยายรูปให้ใหญ่ขนาดไหนก็ได้ หรือดูเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ ดูไปทุกองค์ของพระที่มีอยู่ จนได้ข้อสรุปว่า 

           องค์ประกอบที่ ๑ มวลสารของพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ๒๔๙๗ ไม่ว่าจะแก่ดิน หรือแก่ว่าน หรือมีเฉดสีใดก็ตาม ล้วนมีมวลสารที่เห็นได้ชัดเจนทุกองค์ว่าจะต้องประกอบไปด้วย เม็ดดำ เม็ดแดง (สีอิฐเผา) และ เม็ดขาว     

           องค์ประกอบที่ ๒ เม็ดแร่ ที่โรยอยู่ด้านหลังพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ หรือที่มีประปรายอยู่ด้านหน้าองค์พระนั้น เป็นแร่ที่ท่านคหบดี อนันต์ คณานุรักษ์ นำมาจากเหมืองของท่าน เนื่องจากในขณะนั้นท่านประกอบธุรกิจด้านเหมืองแร่ ท่านเรียกแร่นี้ว่า “กิมเซียว” ซึ่งเป็นคำภาษาจีน แปลว่า ทองน้อย หรือ ทองอ่อน เมื่อมาพิจารณาสีของเม็ดแร่ ปรากฏว่ามีสีทองอ่อนๆ ดังนั้นน่าจะสันนิษฐานว่า ท่านคหบดีอนันต์ คณานุรักษ์ คงจะตั้งชื่อแร่ชนิดนี้เป็นภาษาจีน ตามสีสันของแร่ที่ท่านเห็น

           เม็ดแร่ที่มีอยู่ในองค์พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ มีสีเหลืองอ่อนๆ แบบสีของทอง หากส่องล้อแสงอาทิตย์ เม็ดแร่ดังกล่าวจะสะท้อนแสง มองเห็นเป็นแบบสีของเหล็กโครเมียม หรือนิเกิล

           องค์ประกอบที่ ๓ ที่จะทำให้พิจารณา พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ๒๔๙๗ ได้ง่ายขึ้น ต้องย้อนกลับไปดูกรรมวิธีขึ้นรูปเป็นองค์พระ นั่นคือ เขาเอาว่านสด ๑๐๘ อย่าง ผสมกับดินกากยายักษ์ มาตำมาบดกันแล้วผสมรวมกัน

           ส่วนผสมของมวลสารทั้งหมดในขณะนั้นยังเปียก และมี น้ำว่าน อยู่ (ว่านเป็น) แล้วนำไปกดลงในเบ้าพิมพ์ออกมาเป็นองค์พระ ต้องกดแรงพอสมควร เพื่อให้ขึ้นเป็นรูปองค์พระชัดเจนทุกสัดส่วน เมื่อกดแรง ยางน้ำว่าน ก็จะไหลไปอยู่ที่ผิวรอบนอก (เหมือนกับบิดผ้าเปียกน้ำ น้ำก็จะถูกบีบออกมาภายนอก) ทำให้องค์พระมีน้ำว่านมาเคลือบที่ผิวนอก มีลักษณะคล้ายกล้วยฉาบน้ำตาลบางๆ

           ในกรณีนี้ จะสังเกตได้ว่า พระเนื้อว่านเก๊จะไม่มีลักษณะเช่นนี้ เนื่องจากทำมาจากว่านตาย (ว่านที่ซื้อมาจากร้านขายยาจีน-หรือร้านขายยาโบราณ ที่ตากแห้งแล้วจึงไม่มีน้ำยางว่าน)

           องค์ประกอบที่ ๔ ต้องพิจารณาถึงความแห้งเก่า อายุ ขององค์พระ ซึ่งต้องนำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาอีกชั้นหนึ่งด้วย

           ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากแนวความคิดของผู้เขียน ที่ต้องการศึกษาพระแบบวิทยาศาสตร์ หาเหตุผลมาอธิบายว่าพระแท้เป็นอย่างไร? และพระเก๊ก็ต้องมีเหตุผลมารองรับด้วยว่า ทำไมถึงเก๊ ไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ในการพิจารณาตัดสินพระแท้-เก๊ เป็นการนำเอาประสบการณ์ของผู้เขียน ที่ได้คลุกคลีอยู่ในวงการพระเครื่องพระบูชามาตลอดหลายสิบปี กลั่นกรองจนได้ข้อสรุปออกมาเป็นบทความนี้ ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากนี้ก็ได้...ขอขอบพระคุณ