พระเครื่อง

พระท่ากระดานกรุเก่าศรีสวัสดิ์

พระท่ากระดานกรุเก่าศรีสวัสดิ์

15 ส.ค. 2554

พระท่ากระดาน กรุเก่าศรีสวัสดิ์ : พระองค์ครู เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

           "พระท่ากระดาน" นี้ ตั้งชื่อตามชื่อ "วัดท่ากระดาน หรือวัดกลาง" อันเป็นวัดสำคัญ ๑ ใน ๓ วัดของ "เมืองท่ากระดาน" คือ วัดเหนือ (วัดบน) วัดกลาง (วัดท่ากระดาน) และวัดล่าง เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการขุดค้นหาโบราณวัตถุกันเป็นการใหญ่ และได้พบพระพิมพ์เนื้อตะกั่วสนิมแดงที่วัดทั้งสามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวัดกลางได้ปรากฏพระพิมพ์เนื้อตะกั่วสนิมแดงงามจัดและปิดทองมาแต่ในกรุทุกองค์ กอปรกับวัดนี้ตั้งอยู่ในส่วนกลางของเมืองท่ากระดานเก่าพอดี ชาวบ้านจึงเห็นเหมาะสมที่จะเรียกพระพิมพ์นี้ตามชื่อวัดว่า "พระท่ากระดาน"

            นอกจากนี้ ยังมีการขุดค้นพบพระท่ากระดานตามบริเวณต่างๆ โดยรอบแต่มีจำนวนไม่มากนัก เช่น วัดบ้านนาสวน (วัดต้นโพธิ์) วัดร้างใน อ.ศรีสวัสดิ์, วัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) อ.เมือง วัดท่าเสา อ.เมือง เป็นต้น

            "พระท่ากระดาน" มีพุทธลักษณะเค้าพระพักตร์เคร่งขรึมน่าเกรงขาม แข้งเป็นสัน และพระหนุแหลมยื่นออกมา ลักษณะเหมือน "พระอู่ทองหน้าแก่" อันเป็น "พุทธศิลปะสมัยลพบุรี" และด้วยอายุการสร้างเกินกว่า ๕๐๐ ปี พระท่ากระดานส่วนมากจึงเกิด "สนิมไขและสนิมแดง" ขึ้นคลุมอย่างหนาแน่น และส่วนใหญ่จะลงรักปิดทองมาแต่เดิม ดังนั้นข้อพิจารณาเบื้องต้นในการศึกษา "พระท่ากระดาน" ก็คือ สภาพสนิมไข สนิมแดง และรักเก่า ทองเก่า ครับผม

            สมัยโบราณเรียกขาน  "พระท่ากระดาน" กันว่า "พระท่ากระดาน เกศคด ตาแดง" อันเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะคือ มีเกศค่อนข้างยาวและคดงอ ส่วน "ตาแดง" นั้น เนื่องจากพระท่ากระดานเป็นพระหล่อจากเนื้อชินตะกั่ว ซึ่งพอได้อายุเนื้อตะกั่วจะขึ้นสนิมปกคลุมบนผิว "สนิมตะกั่ว" จะมีลักษณะเป็นสีแดง หนา และติดแน่น มีความมันเยิ้ม ยิ่งเมื่อถูกสัมผัสก็จะยิ่งมันวาว

            บนสนิมแดงนี้จะเกิดสนิมไขสีขาวครีมเคลือบอยู่อีกชั้นหนึ่ง และจากกาลเวลาที่ยาวนานดังกล่าวแล้วสนิมแดงนี้จะเป็นสีแดงเข้มคล้ายสีเปลือกมังคุด และมี "รอยแตกตามุ้ง" ลักษณะเป็นตารางบนเนื้อสนิมแดงตลอดจนบนสนิมไข ซึ่งเกิดจากการหดตัวหรือการขยายตัวของเนื้อตะกั่วขององค์พระ เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งคือ "คราบปูนแคลเซียม" อันเป็นหลักสำคัญสำหรับการพิจารณาพระแท้ของพระเครื่องชินตะกั่ว ซึ่งเรียกว่า "พระชินสนิมแดง"

            ในอดีตนักนิยมสะสมพระเครื่อง พระบูชา มักนำ "พระท่ากระดาน" ไปล้างผิวแคลเซียมออกเพื่อให้เห็นสีของสนิมแดงและรอยแตกตามุ้งได้อย่างชัดเจนทั้งองค์ แต่ในปัจจุบันจะนิยมความบริสุทธิ์ขององค์พระเดิมที่ปราศจากการล้างหรือตกแต่งใดๆ