
'การซื้อขายพระบ่อยๆ ทำให้ดูพระเป็นเร็วขึ้น''ตี๋ ยางตัน'ผู้ชำนาญพระทุกประเภท
'การซื้อขายพระบ่อยๆ ทำให้ดูพระเป็นเร็วขึ้น''ตี๋ ยางตัน'ผู้ชำนาญพระทุกประเภท : เส้นทางนักพระเครื่อง โดย ตาล ตันหยง
"การศึกษาเรื่องพระเครื่อง ความจริงแล้วไม่ยาก หากรู้จักวิธี โดยเริ่มจากพระประเภทใดประเภทหนึ่งก่อน เมื่อจดจำได้แล้ว จึงค่อยศึกษาพระประเภทอื่นต่อไป ที่สำคัญคือ ต้องศึกษาจากพระแท้องค์จริง และคำแนะนำจากผู้ชำนาญในพระประเภทนั้นๆ" นี่คือคำแนะนำของ ตี๋ ยางตัน กรรมการบริหารภาคกลางและปริมณฑล สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และกรรมการตัดสินพระหลวงพ่อทวดยอดนิยม และพระปิดตายอดนิยม
ตี๋ ยางตัน (วีระยุทธ วัฒนเอนก) เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด คุณพ่อเปิดร้านขายยางรถยนต์อยู่แถววงเวียน ๒๒ กรกฎาคม ซึ่งเป็นย่านธุรกิจยางรถยนต์ใหญ่ที่สุดใน กทม.
ต่อมาทางบ้านได้ย้ายไปอยู่ทางฝั่งธนบุรี แถวภาษีเจริญ ขณะที่ ตี๋ เรียนหนังสือจบชั้น ป.๗ ก็ต้องออกมาช่วยทำงานที่ร้านขายยางรถยนต์ ช่วงนั้นได้เห็นคนข้างบ้านซื้อขายแลกเปลี่ยนพระเครื่องกันบ่อยๆ จนเกิดความสนใจ จึงไปดูเขาซื้อขายพระกันในละแวกบ้าน และแถวศาลขุนด่านเจ้าพ่อเสือ, ร้านตัดผมผู้ใหญ่เน้ย และที่ร้านลุงเขียว แถวบางแค ฯลฯ
ตี๋ เล่าว่า "ตอนนั้นผมยังเป็นเด็ก ก็ได้แต่ยืนดูเขาเล่นพระกัน นอกจากการซื้อขายกันโดยตรงแล้ว ยังมีการเล่นพระแบบประมูลกันด้วย การเล่นพระแบบนี้ต้องใช้ชั้นเชิงสูงมาก ประมูลกันไปประมูลกันมา ดูแล้วสนุกดี เราเป็นเด็กก็เลยได้เรียนรู้ถึงชั้นเชิงพวกนี้ไปด้วย สมัยนี้การเล่นพระแบบประมูลไม่มีแล้ว ผมอยากเล่นพระกับเขาบ้าง จึงไปขอพระมาจากเพื่อนๆ บางครั้งก็ไปขอมาจากวัด แล้วเอามาขายพวกเล่นพระตามที่ต่างๆ สมัยนั้นผมมีเพื่อนอยู่ที่วัดอ่างแก้ว แถววัดโคนอน ช่วงที่ทางวัดพบพระพิมพ์ต่างๆ ของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ผมก็ได้เช่าพระเหล่านี้เอาไปขายเซียนพระบ่อยๆ ต่อมาเมื่อโตขึ้น จึงได้เข้าสนามพระท่าพระจันทร์ ช่วงที่เพิ่งย้ายไปจากสนามวัดมหาธาตุใหม่ๆ ได้เห็นการซื้อขายพระกันอย่างจริงจัง สมัยนั้นพระแท้มีมาก พระเก๊มีน้อย ส่วนใหญ่เป็นพระเก๊แบบง่ายๆ ห่างไกลจากของจริงมาก ผมยังไม่ค่อยรู้จักใคร ได้แต่เกาะตู้ดูพระเขาไปเรื่อยๆ
พร้อมกับทำตัวเป็นคนประเภท 'ครูพักลักจำ' ก็ได้ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็มีรายได้จากการเอาพระข้างนอกเข้ามาขายในสนาม เอาพระจากสนามไปขายข้างนอก จนเกิดความรู้สึกว่า อาชีพนี้ถ้าหากทำอย่างจริงจัง จะสามารถเลี้ยงตัวได้ จึงเริ่มหาหนังสือพระมาศึกษาด้วยตนเอง และสอบถามจากผู้ใหญ่ โดยซื้อพระจากท่านบ้าง แล้วเอาไปศึกษาหารายละเอียดเอาเอง เซียนพระส่วนใหญ่จะไม่สอนให้ดูพระกันแบบตรงๆ ไม่บอกว่าให้ดูตรงนี้ตรงนั้น ตำหนิพระแท้ดูตรงไหน แต่จะบอกเพียงแค่ว่า พระองค์นี้เป็นพระแท้ เอาไปดูเอง แล้วจดจำให้ได้ ซึ่งวิธีนี้ผมคิดว่า ดีกว่าจะบอกกันตรงๆ เพราะง่ายเกินไป และจะทำให้ผู้เรียนรู้ลืมได้ง่ายๆ ด้วย หากจดจำพิมพ์ทรงองค์พระ และจุดตำหนิต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง จะจดจำได้แม่นยำตลอดไป"
ขณะที่กำลังเรียนรู้พระกรุพระเก่า ตี๋ บอกว่า ได้สะสมพระใหม่ไปในตัว สมัยนั้นเหรียญพระเกจิอาจารย์ออกสู่วงการถี่มาก ก็ได้ไปเช่าเก็บเอาไว้ เช่น หลวงปู่โต๊ะ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อเกษม เขมโก หลวงปู่แหวน หลวงพ่อวัดดอนตัน ฯลฯ เหรียญละ ๒๐ บาท มาถึงทุกวันนี้ราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว
ในส่วนของพระเก่า เช่น พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์ขี่นก ราคา ๖๐ บาทเท่านั้น พิมพ์ไก่ฟ้า ๓๕๐ บาท พิมพ์ไก่หางพวง ราคาแพงมาก คือ องค์ละ ๑ พันบาท ขณะเดียวกัน พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง องค์ละไม่กี่ร้อยบาท ที่สวยหน่อยก็พันกว่าบาท พลายคู่ ๒๕๐ บาท พลายคู่ตัดเดี่ยวองค์ละไม่ถึงร้อย รวมทั้งพระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง พระเหล่านี้ซื้อมาศึกษาเรื่องเนื้อพระได้เป็นอย่างดี เมื่อจดจำได้แล้ว สามารถนำไปเป็นแนวทางในการศึกษาพระเนื้อดินกรุอื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะพื้นฐานการสร้างพระเนื้อดินเหมือนๆ กัน เพียงแต่ว่าเนื้อพระของแต่ละเมืองจะแตกต่างกันไปบ้าง
"ถามว่า ซื้อพระมาด้วยตนเอง เคยโดนของปลอมบ้างไหม ก็ต้องตอบกันอย่างตรงๆ เลยว่า โดนบ่อย คนซื้อพระด้วยตนเอง ไม่มีใครไม่เคยโดนของปลอมมาก่อน เพียงแต่ว่า เมื่อโดนมาแล้วต้องจดจำความผิดพลาดนั้นให้ได้ จะได้ไม่โดนซ้ำอีก และจะได้แก้ไขต่อไป ผมคิดว่าอันนี้เป็นบทเรียนที่มีค่าที่สุด สำหรับนักพระเครื่องทุกคน" ตี๋ กล่าวในตอนหนึ่ง
ตี๋ ยังกล่าวอีกว่า การได้ซื้อขายพระบ่อยๆ มีพระหมุนเวียนในวงการเป็นประจำ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เรียนรู้ดูพระเป็นเร็วขึ้น หลักการง่ายๆ คือ หากเราถือพระไปขายเซียน ถ้าเขาซื้อก็แสดงว่าเป็นพระแท้ หากไม่ซื้อแสดงว่าเป็นพระเก๊ เราก็ต้องมาตั้งโจทย์ว่า เป็นพระเก๊อย่างไร หากเซียนบอกว่า เป็นพระซ่อม เราก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่า ซ่อมตรงไหน เรื่องเหล่านี้จะเป็นข้อมูลให้เรามีความพยามยามเรียนรู้ในการดูพระแท้ได้ง่ายขึ้นด้วย
หลังจากฝึกวิทยายุทธ์จนแกร่งขึ้นแล้ว ตี๋ ก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองในการไต่เต้าเล่นพระสูงขึ้นเรื่อยๆ อาศัยว่าอยู่ในสนามพระตลอดเวลาที่ผ่านมา การเรียนรู้ดูพระแท้องค์จริงจึงทำได้ง่าย เ และป็นไปด้วยความรวดเร็ว จนถึงจุดหนึ่ง ตี๋ ก็ได้รับการยอมรับจากเซียนพระรุ่นพี่ว่า เป็นผู้ดูพระได้อย่างหลากหลายประเภท และอย่างแม่นยำ
สำหรับการดู พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี สมัยก่อนในกรุงเทพฯ ยังดูกันไม่ค่อยเป็น ดูไม่ขาด พระหลวงพ่อทวด เข้าสนามพระในส่วนกลาง จึงไม่ค่อยมีใครกล้าซื้อ เพราะแต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกัน เดี๋ยวแท้เดี๋ยวปลอม ไม่มีข้อยุติ
ต่อเมื่อ "ป๋าฉ่อย" (สกล หิรัญโชติ) ผู้ชำนาญพระหลวงพ่อทวด ขึ้นมาจากหาดใหญ่ มาอยู่ที่สนามพระท่าพระจันทร์ ได้เผยแพร่วิธีดูพระแท้หลวงพ่อทวด ให้แก่คนในวงการพระด้วยกัน นั่นแหละ แนวทางการเล่นพระหลวงพ่อทวด จึงได้มาตรฐานขึ้น เก๊แท้อย่างไร เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ตรงนี้เอง ที่ได้จุดประกายให้ ตี๋ หันมาสนใจเล่นพระหลวงพ่อทวด ด้วยคนหนึ่ง เพราะได้ "ป๋าฉ่อย" เป็นผู้แนะนำ พร้อมกับเอาพระแท้องค์จริงให้ศึกษาอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
จนทำให้ ตี๋ สามารถดูพระหลวงพ่อทวดได้อย่างแม่นยำ ทุกรุ่น ทุกเนื้อ ต่อมาเมื่อมีการประกวดพระ ซึ่งจัดขึ้นโดย ช่าง สะพานพุทธ ในนาม ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลปไทย "ป๋าฉ่อย" ได้ผลักดันให้ ตี๋ เป็นกรรมการตัดสินพระชุดหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ตั้งแต่สมัยนั้น มาจนถึงทุกวันนี้
ตี๋ อยู่ในสนามพระท่าพระจันทร์ มานานกว่า ๒๐ ปี จนถึงวันหนึ่งถึงได้ย้ายมาอยู่กับ "ป๋ายัพ" พยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย และชมรมพระเครื่องมรดกไทย บนชั้น ๓ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน จ.นนทบุรี จนถึงทุกวันนี้
ตลอดเวลาที่อยู่กับ "ป๋ายัพ" ตี๋ ได้รับการถ่ายทอดการพิจารณาพระเครื่องอีกหลายประเภท โดยเฉพาะ พระปิดตา และเครื่องรางของขลังต่างๆ
มาถึงทุกวันนี้ ตี๋ ได้รับความไว้วางใจจาก "ป๋ายัพ" ให้เป็นกรรมการตัดสินพระปิดตายอดนิยม ในงานประกวดพระที่ทางสมาคมให้การสนับสนุน
เกี่ยวกับ อนาคตของวงการพระ ตี๋ บอกว่า "ผมคิดว่ายังก้าวไกลไปอีกนาน เพราะทุกวันนี้มีคนสนใจสะสมพระกันมากขึ้น และมีมาตรฐานมากกว่าสมัยก่อน การซื้อขายพระมีการรับประกัน หากเป็นพระปลอมก็ต้องรับคืนอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะในสนามพระที่สมาคมดูแลอยู่นี้ พระทุกองค์ที่ซื้อไปจากร้านพระและตู้พระที่นี่ (ยกเว้นแผงจร) หากมีปัญหา สมาคมจะเข้าไปเคลียร์ให้ จึงขอให้ทุกท่านซื้อพระจากที่นี่ได้ด้วยความสบายใจ ในเรื่องของพระแท้ที่ต้องมีการรับประกันให้ทุกองค์ ส่วนเรื่องราคาอยู่ที่ความพอใจของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย"
ทุกวันนี้ ตี๋ ยางตัน นั่งประจำอยู่ที่ร้าน "มงคลสามสาย" ของ "ป๋ายัพ" ตรงข้ามที่ทำการ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย