เหรียญปฏิบัติธรรม'หลวงปู่ดู่'ปี๒๕๒๔เหรียญรุ่นแรกที่ปลุกเสกนานถึง๑๖ปี
เหรียญปฏิบัติธรรม'หลวงปู่ดู่'ปี๒๕๒๔เหรียญรุ่นแรกที่ปลุกเสกนานถึง๑๖ปี : พระแท้องค์จริง โดยฐกร บึงสว่าง
เหรียญปฏิบัติธรรม หลวงปู่ดู่ วัดสะแก สร้างเมื่อปี ๒๕๒๔ ด้านหน้ามีรูปหลวงปู่ดู่นั่งสมาธิเต็มองค์ ด้านหลังมีข้อความว่า “ที่ระลึกในการปฏิบัติธรรม” เป็นเหรียญทองแดงชุบทอง จึงดูสุกแวววาว ท่านว่าตั้งแต่สร้างพระมา เหรียญรุ่นนี้แข็งที่สุด เพราะผู้สร้างแทบจะใช้แต่เนื้อชนวนล้วนๆ
ที่สำคัญคือ เจตนาในการสร้างบริสุทธิ์ ไม่มีการจำหน่าย กะว่าจะแจกฟรี สำหรับผู้ปฏิบัติภาวนา หลวงปู่จึงตั้งใจอธิษฐานจิตให้อย่างเต็มที่ โดยเหรียญส่วนใหญ่อยู่ในกุฏิของหลวงปู่นานมาก จนถึงวาระที่ท่านได้ละสังขาร เมื่อปี ๒๕๓๓ จึงนำมาออกให้บูชา เท่ากับว่าตอนที่ทำพิธีเสกเหรียญสำคัญรุ่นต่างๆ เช่น เหรียญเปิดโลก เหรียญนี้ซึ่งอยู่ในกุฏิหลวงปู่ก็ได้เสกเพิ่มเข้าไปด้วย
ท่าน น.อ.(พิเศษ) สำเภา คมสันต์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่ที่ท่านรักและโปรดปรานมาก ได้ไปอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ เศษ เป็นต้นมา ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จัก หลวงปู่ดู่ กันมากนัก
ต่อมาเมื่อประมาณ ปี ๒๕๑๖-๒๕๑๗ น.อ.สำเภา ได้ขออนุญาตหลวงปู่สร้างเหรียญรูปเหมือนรุ่นนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก หลวงปู่ไม่ขัดข้อง ได้อนุญาตให้สร้างตามความประสงค์
จากนั้น น.อ.สำเภา ได้นำชนวนของพระบูชา "หลวงพ่อสวย" มาจำนวนหนึ่ง ผสมกับทองแดงบริสุทธิ์ แล้วรีดเป็นแผ่นบางๆ ลงอักขระเลขยันต์เฉพาะตัวท่านทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระยันต์ เท่ากับพระธรรมขันธ์ หลังจากนั้น หลวงปู่ดู่ได้ปลุกเสกแผ่นยันต์ทั้งหมด เป็นเวลา ๗ ปี น.อ.สำเภา ได้นำแผ่นยันต์ทั้งหมดไปหลอมอีกครั้ง แล้วรีดเป็นแผ่นสำหรับปั๊มเป็นเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ดู่ ได้จำนวน ๑๘,๐๐๐ เหรียญ เท่าที่จำนวนเนื้อโลหะชนวนที่มีอยู่
จากนั้นได้นำเหรียญทั้งหมดไปถวายหลวงปู่ดู่ปลุกเสก พอครบ ๑ ไตรมาส ช่วงออกพรรษาปี ๒๕๒๔ หลวงปู่ดู่ได้นำเหรียญนี้ออกแจกแก่ผู้ที่ร่วมบริจาคทุนสร้างเหรียญจำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก ที่เหลือนอกนั้น ได้เอาไว้ในกุฏิของท่านตลอดมา ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ จนถึงปี ๒๕๓๓ เป็นเวลานานถึง ๙ ปี นับเป็นเหรียญที่หลวงปู่เสกให้นานที่สุด ถ้าหากนับรวมตอนปลุกเสกโลหะชนวนอีก ๗ ปี จะเท่ากับปลุกเสกนานถึง ๑๖ ปี
เมื่อหลวงปู่มรณภาพ คณะกรรมการวัดได้เอาเหรียญรุ่นปฏิบัติธรรม ๒๕๒๔ นี้ออกมาจำหน่ายเหรียญละ ๑๐๐ บาท ปรากฏว่าไม่ถึง ๕ วัน เหรียญจำหน่ายหมด ปัจจุบันเหรียญรุ่นนี้สนนราคาเช่าบูชาอยู่หลักพันปลาย แต่ก็หายาก และมีของปลอมออกมาแล้วด้วย
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง เป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านข้าวเม่า อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อท่านเกิดได้ไม่นาน มารดาก็เสียชีวิต พออายุได้ ๔ ขวบ บิดาก็เสียชีวิตอีกคน ท่านจึงได้อาศัยอยู่กับยาย และพี่สาวชื่อ สุ่ม พอโตขึ้นได้เรียนหนังสือที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศธรรมประวัติ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๖๘ (อายุ ๒๑ ปี) ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ อุโบสถวัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ พรหมปัญโญ ”
ในพรรษาแรกๆ นั้นท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่โรงธรรม กับท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม หลวงพ่อรอด (เสือ) ฯลฯ และได้ศึกษาด้านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กับ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม และหลวงพ่อเภา ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาจากตำราที่มีอยู่ จากชาดก ธรรมบท และจากพระอาจารย์อีกหลายท่าน ฯลฯ จากนั้นจึงเดินธุดงค์ไปในป่าเมืองกาญจนบุรี
ในคืนหนึ่ง ในช่วงก่อนปี ๒๕๐๐ หลังจากที่ได้สวดมนต์ทำวัตรเย็น และเข้าจำวัดแล้ว ท่านได้นิมิตไปว่า ได้ฉันดาว ที่มีแสงสว่างมากเข้าไป ๓ ดวง ท่านได้พิจารณานิมิตที่เกิดขึ้นแล้ว เข้าใจว่า ดาวสามดวง ก็คือ ดวงแก้วไตรสรณาคมน์ นั่นเอง
ท่านจึงท่อง “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ก็เกิดปีติขึ้นในจิตท่านอย่างท่วมท้น เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และมั่นใจว่า การยึดมั่นพระไตรสรณาคมน์ เป็นวิธีที่เข้าสู่แก่นแท้ เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา จึงได้กำหนดเอาพระไตรสรณาคมน์ เป็นองค์บริกรรมภาวนา
ท่านได้ให้ความเคารพศรัทธาในองค์ หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ มาก โดยยกย่องว่า หลวงพ่อทวดเป็นผู้ที่มีบารมีธรรมเต็มเปี่ยม เป็นโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ให้ลูกศิษย์ทั้งหลายยึดมั่น และระลึกถึงไว้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อติดขัดในการปฏิบัติธรรม หรือประสบปัญหาทางโลก หลวงพ่อทวดจะคอยช่วยเหลือขอให้อย่าท้อถอย หรือละทิ้งการปฏิบัติธรรม
ตามปกติท่านมิได้ตั้งตัวเป็นพระเกจิอาจารย์ การสร้างพระเครื่อง หรืออนุญาตให้ผู้อื่นจัดสร้างขึ้นก็เพราะเห็นว่า บุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ศิษย์ของท่านมีทั้งที่ใจใฝ่ธรรมล้วนๆ และบางคนต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านจึงพูดเสมอว่า “ติดวัตถุมงคลยังดีกว่า ที่จะไปให้ติดวัตถุอัปมงคล” ดังนั้น ท่านจึงอนุญาตให้มีการจัดสร้างวัตถุมงคลออกมาสนองศรัทธาของศิษย์และญาติโยมทั้งหลาย จนเป็นที่โด่งดัง และมีผู้สนใจนิยมกันอย่างกว้างขวาง ด้วยเพราะมีประสบกาณ์ในด้านต่างๆ ปรากฏให้ผู้คนพบเห็นอยู่เสมอ นั่นเอง
หลวงปู่ดู่ มรณภาพเมื่อวันพุธที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๓ ด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี