พระเครื่อง

พระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทอง๑ในเบญจภาคีพระปิดตามหาอุด เนื้อโลหะ

พระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทอง๑ในเบญจภาคีพระปิดตามหาอุด เนื้อโลหะ

03 ส.ค. 2554

พระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทอง๑ในเบญจภาคีพระปิดตามหาอุด เนื้อโลหะ : พระองค์ครู โดย ไตรเทพ ไกรงู

           "๑.พระปิดตา หลวงปู่ทัพ วัดทอง กทม. ๒.พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กทม. ๓.พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ แร่บางไผ่ วัดโมสี จ.นนทบุรี ๔.พระปิดตา หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม และ ๕.พระปิดตา กรุท้ายย่าน จ.ชัยนาท "

           ที่กล่าวมาข้างต้น คือ "สุดยอดเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อโลหะ" โดย ๓ อันดับแรกมีค่านิยมใกล้เคียงกัน คือ ค่านิยมหลักแสนกลางขึ้นถึงล้านต้นๆ ส่วนพุทธคุณไม่หนีกัน ถึงกับมีการขนานนามอีกหนึ่งว่า "เบญจภาคีมหาอุด" ซึ่งมีพุทธคุณโดดเด่นทางมหาอุดนั่นเอง

           ในทำเนียบเบญจภาคีมหาอุด บรรจุพระปิดตามหาอุตม์หลวงพ่อทับ อินทโชติ ไว้คือ พระปิดตาพิมพ์ยันต์ยุ่งเศียรบาตร และพระปิดตาพิมพ์ยันต์น่อง แต่ความจริงแล้ววงการแบ่งแยกพิมพ์ทรงพระปิดตาหลวงพ่อทับไว้อีกหลายพิมพ์ทรง คือ พิมพ์ชะลูด พิมพ์นั่งยอง พิมพ์ภควัม พิมพ์หัวบายศรี พิมพ์ตุ๊กตายันต์น่อง พิมพ์นั่งบัวเศียรแหลม ฯลฯ

           หลวงพ่อทับได้สร้างพระปิดตามหาอุดไว้หลายเนื้อ ได้แก่ เนื้อสัมฤทธิ์เงิน เนื้อชินตะกั่ว เนื้อเมฆพัด เนื้อสัมฤทธิ์แบบขันลงหิน เนื้อผงคลุกรัก และเนื้อแร่บางไผ่ ที่ได้มาจาก หลวงปู่จัน วัดโมลี จ.นนทบุรี เจ้าของและต้นฉบับพระปิดตาแร่บางไผ่แห่งเมืองนนทบุรีนั่นเอง

           พระปิดตามหาอุตม์ พิมพ์ยันต์ยุ่ง เป็นพระปิดตานั่งสมาธิเพชร ขาไขว้ บางองค์มีพระกร ๓ คู่ บางองค์มีถึง ๔ คู่ โดยคู่แรกยกขึ้นปิดพระพักตร์ คู่ที่ ๒ ยกมือขึ้นปิดพระกรรณ คู่ที่ ๓ ล้วงลงปิดทวารหนักและทวารเบา และคู่ที่ ๔ ปิดพระนาภี (สะดือ) ด้านหลังองค์พระ ตรงกลางเป็นยันต์เฑาะว์ อุณาโลมหางสะบัดขึ้นด้านบนเศียร หรืออาจเป็นตัวอักขระขอมตัวอื่น ด้านข้างตัวเฑาะว์อุณาโลม เป็นตัวอุณาโลมขนาบข้าง ๒ ตัว ด้านล่างเป็นอักขระว่า "นะ มะ พะ ทะ"

           มนต์เสน่ห์ของพระปิดตาหลวงพ่อทับ วัดทอง เนื้อสัมฤทธิ์ กทม. ถือได้ว่าเป็นพระปิดตาเพียงสำนักเดียวที่มีพิธีการสร้างอย่างประณีตที่สุด โดยเป็นการสร้างขึ้นด้วยการปั้นหุ่นขี้ผึ้งทีละองค์ จากนั้นจึงปั้นด้วยยันต์ขึ้นมาเบ้าหล่อพระปิดตาวัดทอง ทำแบบเบ้าหล่อละลายตัว หุ่นขี้ผึ้งจะละลายไปด้วยเมื่อเทโลหะหลอมลงไปในเบ้าทีละเบ้า จึงทำให้พุทธลักษณะขององค์พระจะออกมาไม่เหมือนกันแบบฝาแฝด แต่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันได้บ้างในบางองค์เท่านั้น