
ยันต์หลังพระหลวงพ่อยิดวัดหนองจอก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
ยันต์หลังพระหลวงพ่อยิดวัดหนองจอก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ : ชั่วโมงซียน โดย อ.โสภณ
หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน หรือ พระครูนิยุตธรรมสุนทร แห่งวัดหนองจอก ต.ดอนยายหนู อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ท่านเป็นอีกหนึ่ง ในบรรดาพระเกจิอาจารย์ผู้เปี่ยมอภิญญาอาคมขลัง ท่านถวายตัวเป็นถตาคตสืบทอดและเผยแพร่พุทธศาสนาตามแนวทางของพระศาสดาอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นผู้สร้างวัดหนองจอกด้วยมือของท่านเอง จากเคยเป็นที่รกร้างเต็มไปด้วยป่าไผ่และดงหนาม จนสำเร็จเป็นวัดที่เจริญและงดงามในปัจจุบัน
ส่วนวัตถุมงคลของหลวงพ่อยิดที่ขึ้นชื่อคือ ปลัดขิก ที่สร้างปาฏิหารย์บินได้ เป็นที่นิยมกว้างขวางในหมู่ ทหารและตำรวจ เพราะเชื่อกันว่าใครมีปลัดขิกของหลวงพ่อยิดติดตัวแล้วจะดีเด่นในด้าน เมตตามหานิยมและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวงอีกทั้งมีผู้ประสบ เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งแคล้วคลาดและโชคลาภจากการบูชาวัตถุมงคลจากหลวงพ่อติดตัว ชื่อเสียงของหลวงพ่อจึงโด่งดังมากในยุคนั้น ปัจจุบันแม้หลวงพ่อท่านได้ละสังขารไปแล้ว แต่วัตถุมงคลของหลวงพ่อก็ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ดีเด่นในด้านเมตตาแคล้วคลาด เล่นหาบูชากันในวงกว้าง
พระเครื่องเมืองเพชรเมืองที่เคยขึ้นชื่อว่านักเลงในอดีต การสร้างเหรียญจะเน้นพุทธคุณด้านคงกระพัน มหาอุด รวมทั้งแคล้วคลาด และด้วยกระแสความนิยมความศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาต่างแสวงหา เพราะต่างก็เชื่อมั่นในพุทธคุณ จากเดิมค่านิยมพระหลวงพ่อยิดอยู่ในหลักร้อยหลักพันเท่านั้น แต่ปัจจุบันค่านิยมจึงขยับขึ้นหลักหมื่น บางเนื้อ บางรุ่น สูงถึงหลักแสนบาท
พระพิมพ์พระสมเด็จรุ่นแรก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นพระที่หลวงพ่อเขียนยันต์และลบผงเอง ทั้งนี้เป็นพระที่สร้างแจกฟรีสำหรับลูกศิษย์ที่เดินทางไปกราบไหว้ขอพร หากเป็นพิมพ์ทรง ๓ ชั้น ค่านิยมอยู่ที่ หลักหมื่นต้นถึงกลาง หากเป็นพิมพ์ทรง ๙ ชั้น ค่านิยมอยู่ที่หลักหมื่นกลางๆ ถึงปลายๆ
ด้านหลังของพระพิมพ์พระสมเด็จรุ่นแรก เป็นยันต์ "พระเจ้า ๕ พระองค์" ที่ว่า "นะ โม พุท ธ า ยะ" เขียนซ้อนกันเรียกว่ายันต์ตลก ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นยันต์พุดซ้อน ทั้งนี้ยันต์พุดซ้อนจะเป็นการเขียนยันต์ตัว พุท ซ้อนกัน
เหรียญพ่อแม่ เป็นเหรียญที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ด้วยพุทธศิลป์และพุทธคุณ เดิมทีเหรียญนี้มีค่านิยมอยู่หลักพันต้นๆ เท่านั้น แต่ด้วยประสบการณ์ในช่วงประท้วงเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้ค่านิยมปัจุบันอยู่ในหลักหมื่นกลางๆ
ด้านหลังของ เหรียญพ่อแม่ เป็นยันต์ นะ มหาอุด ซึ่งเป็น ๑ ในยันต์ นะ ๑๐๘ ซึ่งเป็นยันต์ตัวเดียวกันกับ หลวงพ่อทองศุข วัดตะโหนดหลวง อาจาย์ของท่าน (หลวงพ่อทองศุขเป็นศิษย์หลวงปู่นาควัดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์)
การเขียนยันต์ไว้ในรูป สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม รวมทั้งรูปวงกลม เพื่อเน้นพุทธคุณด้านมหาอุด ส่วนรูปสามเหลี่ยมนั้นใช้แทนพระรัตนตรัย ในขณะที่สี่เหลี่ยมนั้นอาจจะแทนพระพรหม ยันต์ที่อยู่บนสามเหลี่ยม(ด้านซ้ายของผู้อ่าน) คือ ตัวมะ ยันต์ที่อยู่บนสามเหลี่ยม(ด้านขวาของผู้อ่าน) คือ ตัวอุ และ ยันต์ที่ด้านบนสุด คือ ตัวอะ
นอกจากนี้ยังมีตัวอะ อีกตัวหนึ่งเขียนไว้ในรูปสามเหลี่ยม เป็นตัวย่อของคำว่า อะระหัง ซึ่งเป็นคาถาหัวใจยอดพระนิพพาน การเขียนในลักษณะนี้ต้องการเน้นพุทธคุณมหาอุด
ด้านหน้า เป็นคาถาหัวใจพุทธคุณที่ว่า “พุท ธะ สัง มิ” หรือ คาถาหัวใจยอดศีล แต่เหรียญนำมาลงเพียง ๓ ตัว คือ “พุท ธะ สัง” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เท่ากับว่าเป็นการย่อคาถาที่ทอดหนึ่ง คาถาหัวใจยอดศีล บริกรรมเต็มๆ ว่า "พุทธัง สรณังคัจฉามิ ธัมมัง สรณังคัจฉามิ สังฆัง สรณังคัจฉามิ"
ส่วนการใช้คำว่า “พ่อ แม่” นั้น เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งความจริงแล้วคำว่า พ่อแม่ ถือว่าเป็นพระในบ้าน เป็นพระของลูกๆ ทุกคน การบริกรรมเขียนจะบริกรรมว่า “พระมาตาปิตุ กาโรโหติสัมพโว” ใช้ในด้านคุมครองป้องกันภัย
รูปหล่อปั๊ม พิมพ์เตารีด เนื้อทองคำ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ค่านิยมออกจากวัด ๔๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันอยู่ที่หลักแสนกลางๆ เพราะสร้างออกมาเพียง ๒๙ ชุดเท่านั้น ยันต์ที่ปรากฏด้านหลัง คือ นิสิเห ส่วนยันต์ที่เป็นลายมือจารนั้นเป็นตัวเฑาะว์
อาจารย์เทพ เคยกล่าวเกี่ยวกับความหมายของคาถาตัวเดียวกัน แต่เรียกต่างกัน ได้สรุปว่า ถูกทุกแบบ สุดแท้ใครจะยึด หรือนำไปใช้ เช่น เฑาะว์หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม ใช้ว่า “ท้อรันโต ศีละสมาธิ ท้อรันตันติ นะมัตถุโน ท้อรันโตนะกมมัฐานัง ท้อพุทธา นะมะมิหัง ท้ออุณาโลม สัมปะนะชายะเต”
สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณ นายวิเชียร อินทะพันธ์ เจ้าของร้านพระเครื่อง "พรหลวงปู่สี" จาก "WWW:ThaPraChan.com" ผู้เช่าบูชาสะสมเหรียญ พระพระครูนิยุตธรรมสุนทร หรือหลวงพ่อยิด แห่งวัดหนองจอก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งเหรียญพระคณาจารย์อีกหลายสำนัก ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่าย
คาถาพระเจ้า ๑๖ พระองค์
ในจำนวนยันต์ที่ปรากฏบนพระเครื่องหลวงพ่อยิด มีอยู่เพียงไม่กี่รุ่นที่มียันต์มาก เช่น เต่ารุ่นแรก และ เหรียญอุดมโภทรัพย์
เต่ารุ่นแรกหลัง ใช้คาถาพระเจ้า ๑๖ พระองค์ ซึ่งเป็นราชาแห่งคาถา หรือ เป็นคาถาที่ใหญ่กว่าคาถาทั้งปวง ที่ว่า "นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอนออออะ นะอะกะอัง"
พุทธคุณของคาถาบทนี้ดีทุกด้าน แต่ถ้าจะเน้นพุทธคุณด้านมหาอุด เพิ่ม “อุมิอะมิ มะหิสุตัง นะพุทธัง สุอะนะอะ” ซึ่งเป็นคาถาหนุนให้เกิดความเป็นคงกระพัน
ส่วนเหรียญอุดมโภทรัพย์ ด้านหน้าเป็น คาถามคล ๙ ที่ว่า "อะ สัง วิ โล ปุ สะ พุ ภะ” นอกจากมียันต์ชุดเดียวกับ เหรียญ พ่อ แม่ แล้วยังมีการเขียน ยันต์นิสิเห โดยใช้ตัวเลขแทน ซึ่งมีพุทธ หลายด้าน โดยเฉพาะด้านคุ้มครองป้อกันภัย
๑ แทน เอกะอะมิ หมายถึง พระพุทธเจ้า หรือ อาจหมายถึงคุณอันยิ่งใหญ่ก็พระพุทธเจ้าได้เช่นกัน
๒ แทน ทะเวจันทังสุริยันต์สักคังพุทโธ หมายถึง นามพระพุทธเจ้า
๓ แทน มะ อะ อุ หมายถึง หัวใจพระตรัยปิฎก
๔ แทน นะ มะ พะ ทะ หมายถึง ธาตุ ๔
๕ แทน ปัจจะพุทธานะมามิหัง แทน พระเจ้า ๕ พระองค์
๖ แทน ฉวัชชราชา อิสวาสุ สุสวาอิ หมายถึง หัวใจพระรัตนตรัย
๗ แทน สัตตนาเค สัตธะวิปิปะสะอุ หมายถึง หัวใจโภชชงค์
๘ แทน อัตถะอะระหันตรา เสพุ เสวะ เสตะ อัตเส หมายถึง หัวใจเสภฏฐัน
๙ แทน นวะเทวา หมายถึง มงคลเก้า