พระเครื่อง

"วัดบ้านบน"วัดในตำนานวงดนตรีลูกทุ่ง

"วัดบ้านบน"วัดในตำนานวงดนตรีลูกทุ่ง

29 ก.ค. 2554

"วัดบ้านบน"วัดในตำนานวงดนตรีลูกทุ่ง : ท่องแดนธรรม โดย ไตรเทพ ไกรงู

           ในอดีตหากอยากจะดู "หนัง ลิเก และวงดนตรี" ต้องรอให้ถึงเทศกาลงานวัดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นงานปิดทองประจำปี กฐิน ผ้าป่า งานลอยกระทง และงานปิดทองฝังลูกนิมิต ทั้งนี้หากวัดใดจะหานักร้องหญิงชายที่อยู่ในความนิยมไปจัดแสดง ต้องจองคิวจ่ายเงินล่วงหน้าข้ามปีเลยทีเดียว

            แต่มีวัดอยู่แห่งหนึ่งที่ไม่ต้องไปจองคิว รวมทั้งไม่ต้องจ่ายค่ามัดจำล่วงหน้า แต่วงตรีลูกทุ่งทุกวงต้องวิ่งเข้าไปหา ชนิดที่เรียกว่า มากันทุกวง ถึงขนาดที่ว่าจะดึกดื่นเพียงใดหลวงพ่อก็ต้องลุกจากที่นอนมาเปิดประตูวัด และเปิดศาลาต้อนรับนักร้อง นักดนตรี และหางเครื่อง ที่สำคัญคือ บางวงมาอยู่เป็นอาทิตย์ บางวงก็มาอยู่เป็นเดือน วัดที่ว่า คือ วัดบ้านบน ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ซึ่งปัจจุบันมี พระครูนิรันดร์กิตติวงศ์ สุจิตโต หรือ หลวงพ่อเฉลิม เป็นเจ้าอาวาส

            "พระครูนิวิฐขันติคุณ หรือ หลวงพ่อถนอม ขันติพโล อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๗ ท่านเป็นพระที่ชอบดนตรีลูกทุ่งมาก หลังจากช่วงเทศกาลออกพรรษายาวถึงตรุษจีนที่วัดจะเต็มไปด้วยนักร้อง นักดนตรี และหางเครื่องนับร้อยคน บางคืนมาพักพร้อมๆ กันถึง ๒-๓ วง ราวกับว่าที่วัดมีงาน แต่ไม่ใช่ เพราะในสมัยนั้นการเดินทางและที่พักไม่สะดวกเหมือนเช่นปัจจุบัน หลวงพ่อถนอมจึงเปิดวัดให้เป็นที่พักของวงดนตรีลูกทุ่ง” นี่เป็นภาพเหตุการณ์เกิดขึ้นในวัดบ้านบน เมื่อกว่า ๒๐ ปี ก่อนจากคำบอกเล่าของหลวงพ่อเฉลิม

            พร้อมกันนี้ หลวงพ่อเฉลิม ยังบอกด้วยว่า หลวงพ่อถนอมท่านมีเมตตาต่อวงดนตรีลูกทุ่งมาก ไม่ว่าจะเป็นนักร้องลูกทุ่งวงใดท่านก็จะเปิดรับหมด เมื่อรู้ว่าวงดนตรีใดจะขอมานอนวัด ท่านจะให้พระเณรทำความสะอาดศาลา ห้องน้ำ ไว้คอยต้อนรับ โดยให้นักร้องนอนหน้ากุฏิ ไม่ว่าจะเป็นนักร้องผู้หญิง หรือนักร้องผู้ชาย ส่วนนักดนตรี และหางเครื่องก็จะให้นอนศาลา พร้อมกับอำนวยความสะดวกเรื่องห้องน้ำ ที่นอน ชนิดที่เรียกว่า นักร้อง นักดนตรี และหางเครื่อง คิดว่าเป็นบ้านของตนเองไม่ผิดนัก วงนี้เข้า วงนั้นออก วนเวียนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะหมดงานแสดง

              อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยุบวงดนตรีลูกทุ่ง ขณะเดียวกันก็มีระบบค่ายเทปเพลงมาจับธุรกิจเรื่องเพลงลูกทุ่งทั้งหมด วงดนตรีลูกทุ่งก็เริ่มหมดไป ประมาณ พ.ศ.๒๕๓๔ หรือ เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว วงดนตรีลูกวงท้ายๆ ที่เข้ามาพักที่วัด ถ้าจำไม่ผิดมีอยู่ ๒ วง คือ ตลกคณะเอ็ดดี้ ผีน่ารัก และวงยิ่งยง ยอดบัวงาม จากนั้นเป็นต้นมา ประตูวัด และประตูศาลาไม่เคยเปิดต้อนรับนักดนตรีและหางเครื่องเลยสักครั้งเดียว ซึ่งเป็นสัจธรรมของทางโลกที่มีเกิด มีดับ มีรุ่งเรือง และมีตกต่ำ เป็นธรรมดาของโลก

            หลวงพ่อเฉลิม ยังบอกด้วยว่า ศาสนสถานภายในวัดส่วนใหญ่สร้างไว้เมื่อครั้งหลวงพ่อถนอมยังมีชีวิตอยู่  โดยวงดนตรีลูกทุ่งที่เคยมานอนวัดทุกๆ วง จะตอบแทนคุณหลวงพ่อถนอมด้วยการเปิดแสดงที่วัด โดยนำรายได้จากการแสดงถวายหลวงพ่อทั้งหมด บางวงจะเลือกแสดงที่วัดเป็นงานสุดท้ายก่อนแยกย้ายไปแสดงในภูมิภาคอื่นๆ บางวงจะมาแสดงในงานประจำปีของวัด โดยวัดไม่ต้องหาหรือจองคิวเหมือนงานวัดอื่นๆ


เพลงแทงใจคนหากินกับวัด

            "ครึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่ง วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง มีวัด มีวัด กลัวอัตคัดทำไมพวกเรา หลอกพระ หลอกเจ้า  กินไปวันวันหนึ่ง ให้วัดลงทุนจัดงานหลอกท่านให้ฝันคะนึง ได้กำไรจากงาน เข้ากรรมการครึ่งหนึ่ง พิมพ์เหรียญ พิมพ์พระ มานั่งจ๋าจ๊ะให้ญาติโยมเช่า ส่วนวัดหลงกลประกาศชวนญาติโยมให้เช่าซื้อกันตรึม กรรมการรอบจัด ให้เงินเข้าวัดครึ่งหนึ่ง หลอกวัดให้มีหนังใหญ่ดนตรีลิเกมากมาย บอกค่าใช้จ่าย วัดไม่ต้องพูดถึง เจอหนังดนตรีขอเงิน ทำเป็นทำว้ากปังปึง ทุนกำไรเก็บหาย ยังให้วัดจ่ายครึ่งหนึ่ง"

             นี่เป็นบทเพลง หากินกับวัด หรือคนส่วนใหญ่รู้จักกัน วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง ซึ่ง ครูลพ บุรีรัตน์ แต่งไว้ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ให้ ยอดรัก สลักใจ นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังเป็นผู้ขับร้อง ความโด่งดังของเพลงหากินกับวัด ที่มีความหมายในเชิงวัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง ในปี ๒๕๒๔ แม้จะเปิดออกอากาศทางวิทยุได้ไม่กี่ครั้ง ก็ถูกห้ามไม่ให้เปิดออกอากาศ สาเหตุก็มาจากนายทุนค่ายเพลงดังเข้าไปดูแลคลื่นวิทยุ เกรงว่าจะกระทบกับงานแสดง จึงสั่งห้ามไม่ให้เปิด พอถูกสั่งห้ามไม่ให้เปิดก็ยิ่งสร้างความโด่งดังให้บทเพลงเป็นเท่าตัว

              สำหรับแรงบันดาลใจ หรือที่มาของการแต่งเพลงนี้ ครูลพ บุรีรัตน์ บอกว่า วัดบางวัดไปถึงมีกรรมการวัดมาจ้างให้ไปร้อง ซึ่งมีบางวัดไม่ใช่กรรมการวัดจัดงาน คือเป็นคนข้างนอกมาเช่าที่ แล้วบอกว่าเป็นกรรมการวัด หลังจากแสดงเสร็จเรียบร้อยแล้วไปขอค่าจ้าง ผู้ว่าจ้างบอกว่าไม่ได้เป็นกรรมการวัด ทำให้ถูกเบี้ยวเงินค่าจ้างอยู่บ่อยครั้ง หรือแม้แต่บางวัดมีกรรมการวัดเป็นผู้ว่าจ้างให้มาแสดงที่วัดจริง พอนึกจะไม่จ่ายก็ไม่จ่าย จากประสบการณ์ตรงนั้น จึงนำมาเขียนเป็นเพลงให้ ยอดรัก สลักใจ ร้องจนโด่งดัง