พระเครื่อง

ท่องไปในแดนธรรม - วัดศรีภูมิ' วัดคู่เมืองด่านซ้าย กับ...งานบุญหลวงประเพณีแห่ผีตาโขน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู"

     "กล่าวมาข้างต้นเป็นคำขวัญของ จ.เลย เมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อนท่ามกลางสายหมอกปกคลุมเหนือยอดภู อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้นานาชนิดที่รู้จักกันดีคือ ภูกระดึง ภูหลวง และภูเรือ อากาศอันเย็นสบาย ภูมิประเทศที่งดงาม ประเพณีวัฒนธรรมอันแตกต่างไปจากถิ่นอื่น ซึ่งได้แก่การละเล่น "ผีตาโขน"
 

     ประเพณีแห่ผีตาโขนจัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่ หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน ๗ มีขึ้นที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวส หรือเทศน์มหาชาติประจำปี กับพระธาตุศรีสองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย สำหรับในปี ๒๕๕๔ นี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑-๓ กรกฎาคมนี้ ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งพอดี
 

     อ.อภิชาติ คำเกษม อดีตอาจารย์ ๒ โรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา หนึ่งในนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บอกว่า ประเพณีแห่ผีตาโขน เล่นกันอยู่เฉพาะ ๔ วัด คือ  ๑.วัดโพนชัย บ้านเดิ่น อันเป็นวัดประจำอำเภอด่านซ้าย ๒.วัดโพธิ์ศรี บ้านนาเวียง ๓.วัดศรีสะอาด บ้านหนามแท่ง และ ๔.วัดศรีภูมิ บ้านนาหอ ทั้ง ๔ วัดนี้อยู่ในอำเภอด่านซ้ายทั้งหมด     
 

     วัดศรีภูมิ หรือที่เรียกว่าวัดบ้านนาหอ เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในอำเภอด่านซ้าย ก็คืออันเนื่องจากบ้านนาหอนี้เป็นที่ตั้งของเมืองด่านซ้ายมาแต่เดิม เท่าที่สืบค้นได้ว่า มีพระมหาณรงค์ (ท้าวคำสม) เป็นเจ้าเมืองด่านซ้ายตั้งอยู่ที่บ้านนาหอนี้เอง ต่อมาได้มอบภาระให้ท้าวกองแสงบุตรชายคนโตขึ้นเป็นเจ้าเมืองด่านซ้าย แล้วพระมหาณรงค์ได้ไปรับตำแหน่งเจ้าเมืองภูครั่ง (บ้านหนองบัว ปัจจุบันคือ อำเภอภูเรือ)
 

     เนื่องจากท้าวกองแสงได้นำกำลังทหารเมืองด่านซ้ายไปปราบฮ่อ ร่วมกับ พระยาพิชัย (ดิศ) และ พระยาภูธราภัย (นุช บุญรัตพันธ์) ราว พ.ศ.๒๔๑๖ อันเนื่องด้วยฮ่อยกกองทัพมาตีเมืองเชียงขวางได้ และชุมนุมพลอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ จะยกพลเข้ายึดหลวงพระบาง และ พ.ศ.๒๔๒๖ ท้าวกองแสงได้นำกำลังทหารเมืองด่านซ้ายเข้าร่วมกับ พ.อ.เจ้าหมื่นวัยวรนารถ (เจิม แสงชูโต) ไปปราบฮ่อธงเหลือง ที่กลับมาที่ทุ่งเชียงคำ แขนงเมืองพวนอีก เมื่อฮ่อยอมจำนน และหัวพันทั้งห้าทั้งหก สงบลงแล้ว ท้าวกองแสงก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระแก้วอาสา และเครื่องหมายบำเหน็จความชอบ
 

     สิ่งที่สำคัญของวัด คือ มีมณฑปรอยพระพุทธบาทจำลองทองเหลือง อุโบสถที่เก่าแก่ ภายในอุโบสถ มีพระประธานที่ก่อด้วยอิฐถือปูน ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๕๐ เมตร สูง ๓.๓๐ เมตร ยังมีพระพุทธชินราชจำลอง สร้างด้วยทองเหลือง หน้าตักกว้าง ๒.๓๐ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อเหย่ย” (ภาษาลาว) หรือ “หลวงพ่อใหญ่” และยังมีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณ อยู่ภายในอุโบสถด้วย
 

     “พระประธานในอุโบสถของวัดศรีภูมิแห่งนี้ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา และเป็นที่นับถือของชาวบ้านและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ทุกวันจะมีประชาชนทั้งในท้องถิ่นและต่างจังหวัดที่มาเที่ยววัดศรีภูมิ เข้าไปกราบขอพรอยู่มิได้ขาด และทุกคนล้วนประสบความสำเร็จตามประสงค์ที่ตั้งใจหวัง”  อ.อภิชาติ กล่าว

งานบุญหลวงประเพณีแห่ 'ผีตาโขน'

     ประเพณีแห่ผีตาโขนจัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่ หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" มีการจัดงานกัน ๓ วัน
 

     วันแรก เริ่มพิธีตอนเช้า ๐๔.๐๐-๐๕.๐๐ น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขันแปด (พานดอกไม้ ๕ คู่ หรือ ๘ คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้เกิดความสุขสวัสดี
 

     วันที่สอง เป็นพิธีแห่พระเวส ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป ๑ องค์ พระสงฆ์ ๔ รูป นั่งบนแคร่หาม ตามด้วยเจ้าพ่อกวนนั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียม กับบริวาร ชาวบ้าน และเหล่าผีตาโขน เดินตามเสด็จไปรอบเมือง
 

     วันที่สาม เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆ ของปี มารวมกันจัดในงานบุญหลวง  ประชาชนจะมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิต
 

     อ.อภิชาติ บอกว่า จากการศึกษาการเล่นผีตาโขนอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ ตั้งข้อสังเกตและท้วงติงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ คือ การเปลี่ยนแปลงของการเล่นผีตาโขนทุกวันนี้ ให้ความสำคัญต่อร่างทรงมากกว่าการเป็นพิธีกรรมของพระ โดยเดิมทีนั้น พิธีกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นที่วัด และทำกันที่วัด ที่สำคัญ คือ เป็นเรื่องของพระกับชาวบ้าน เช่น การกำหนดวัน การหาเจ้าภาพของผู้ติดกัณฑ์เทศน์ต่างๆ ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ 
 

     ปัจจุบันเป็นเรื่องน่าเสียใจ เพราะไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพ แต่ไปจับเอาผู้ที่ฟังเทศน์มาเป็นเจ้าภาพ ความสำคัญของพิธีในส่วนนี้เกือบจะไม่หลงเหลือเลย มีอยู่แต่ไม่มีความสำคัญ พิธีกรรมนี้หายไปเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๓๐ เนื่องจากการกำหนดการจัดงานขึ้นอยู่กับเจ้าพ่อกวน (ร่างทรง) เป็นผู้กำหนด
 

     ขณะเดียวกัน พิธีกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานบุญหลวงก็ถูกนำเข้ามาผูกและยกระดับความสำคัญมากขึ้น  เช่น การสู่ขวัญซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงพ.ศ. ๒๕๒๔ แม้ว่าจะเป็นพิธีกรรมที่เกิดภายหลัง แต่กลับถูกยกให้ความสำคัญมากยิ่งกว่าพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกัน ก็มีการให้ความสำคัญกับเจ้าพ่อกวน มากกว่าวัด และพระอีกด้วย

     "การเล่นผีตาโขนทุกวันนี้ ให้ความสำคัญต่อร่างทรงมากกว่าการเป็นพิธีกรรมของพระ โดยเดิมทีนั้น พิธีกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นที่วัด และทำกันที่วัด"

เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ