พระเครื่อง

คำวัด - สาธุ - สาธุการ

คำวัด - สาธุ - สาธุการ

01 ก.ค. 2554

การลงมติในทางโลกนั้นมีหลายวิธีการ ซึ่งที่จะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ คือ การไปลงคะแนนเสียงเลืกตั้ง ส่วนการยกมือแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอาจจะเป็นการลงมติในระดับต้นๆ ของประชาธิปไตย เช่น เลือกหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าห้องเรียน

     ส่วนในทางธรรมนั้นก็มีการลงมติเช่นกัน กล่าวคือ การยืนยัน หรือรับรองการทำสังฆกรรมนั้นๆ ว่า “ถูกต้องเหมาะสม” หรือเพื่อลงมติว่า “เห็นด้วยกับข้อเสนอ” พระสงฆ์จะใช้คำว่า "สาธุ"
 

     "สาธุ" มาจากรากศัพท์ว่า สาธฺ หรือ สธฺ ในความหมายว่า สำเร็จ และประกอบด้วย รู ปัจจัย (สาธ + รู = สาธุ) หมายถึง ผู้ใดยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ย่อมให้สำเร็จ ดังนั้น ผู้นั้น เชื่อว่า สาธุ (ยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่นให้สำเร็จ) ดังเช่น ทายกที่ไปทำบุญมา เมื่อเจอญาติมิตรเพื่อนฝูง หลังจากเล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วมักจะตามด้วยการให้ส่วนบุญว่า รับส่วนบุญด้วยนะ และโดยมากมักจะรับกันว่า สาธุ
 

     ทั้งพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า “สาธุ” แปลว่า ดี งาม ชอบ ถูกต้อง
 

     สาธุ ในคำวัดใช้เป็นคำที่พระสงฆ์เปล่งวาจาเพื่อยืนยัน หรือรับรองการทำสังฆกรรมนั้นๆ ว่า “ถูกต้องเหมาะสม” หรือเพื่อลงมติว่า “เห็นด้วยกับข้อเสนอ”เป็นกิริยาที่พระสงฆ์ใช้แทนการยกมือแบบคฤหัสถ์ในเวลาลงมติ

    สาธุ ในคำไทยใช้เป็นคำอนุโมทนาแสดงความชื่นชมยินดีในบุญกุศล หรือความดีที่คนอื่นทำ โดยประนมมือยกขึ้นเสมอศีรษะพร้อมเปล่งว่าจากว่า “สาธุ”
 

     นอกจากนนี้ยังใช้ในความหมายว่า “ไหว้” เช่นบอกให้เด็กๆ แสดงความเคารพพระ หรือผู้ใหญ่ด้วยการไหว้ ทั้งนี้ใช้กร่อนไปเหลือเพียง “ธุ” ก็มี เช่นใช้ว่า
 “ขออนุโมทนาสาธุด้วนะ”
 “ธุพระเสียลูก”
 

     ส่วนคำว่า “สาธุการ” เจ้าคุทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า การเปล่งวาจาสาธุ การแสดงความเห็นว่าดีแล้ว ชอบแล้ว
 

     สาธุการ ใช้เรียกการแสดงความเห็นด้วยการเปล่งวาจาว่า ชอบแล้ว เหมาะสมแล้ว เห็นชอบด้วย หรือแสดงความชื่นชมยินดี ยกย่องสรรเสริญ เช่นว่า
 

     “เขาได้รับการแซ่ซ้องสาธุการเป็นอย่างมากที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ครั้งนี้”
 “เมื่อเห็นสมควรแล้วก็ขอให้เปล่งวาจาว่า สาธุการให้พร้อมกันเทอญ”
 

     สาธุการ ในคำไทยเป็นชื่อเรียกเพลงหน้าพาทย์ที่สำคัญยิ่ง ใช้บรรเลงในพิธีกรรมเมื่อบูชาหรืออัญเชิญพระรัตนตรัย เทพดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และใช้เพื่อแสดงกิริยาน้อมไหว้ เป็นเพลงอันดับแรกของชุดโหมโรงเช้า โหมโรงเย็น เรียกว่า เพลงสาธุการ

"พระธรรมกิตติวงศ์ "