
'การสะสมพระควรเริ่มจากพระท้องถิ่นก่อน'สุริยา รัตนแสงทอง (โกชุ้น กันตัง)
"ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี" คือ คำขวัญของจังหวัดตรัง อันเป็นเมืองเก่าแก่แต่โบราณอีกเมืองหนึ่งของภาคใต้ โดยมีหลักฐานจากการขุดพบโบราณวัตถุมากมาย อาทิ เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือสะเก็ดหิน ขวานหินขัด ภาชนะดินเผา ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ ตลอดจนโครงกระดูกมน
ทุกวันนี้ เมืองตรัง มีทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยวมากมาย จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจของเมืองตรังที่ดีอยู่แล้ว ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก ส่งผลให้ ชาวตรัง เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยไมตรีอันดีงาม มีความจริงใจกับพรรคพวกเพื่อนฝูงเสมอ โดยเฉพาะคนต่างถิ่นที่ไปเยือนเมืองตรัง
ในส่วนของวงการพระ เมืองตรัง แม้จะไม่มีพระกรุมากนัก แต่ก็ได้มีการขุดพบ พระพิมพ์เนื้อดินดิบ ในถ้ำวัดคีรีวิหาร ถ้ำเขาขาว ถ้ำเขาสาย ศิลปะสมัยศรีวิชัย อายุนับพันปี เพราะที่นี่คือส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย เป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช หรือเมือง ๑๒ นักษัตร โดยมี ม้า (ปีมะเมีย) เป็นตราประจำเมืองตรัง
ด้านศาสนา เมืองตรัง มีวัดเก่าแก่มากมาย และมีพระเถราจารย์ชื่อดังหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อลบ วัดตรังคภูมิ หลวงพ่อช่วง วัดมัชฌิมภูมิ หลวงพ่อวัน มะนะโส วัดประสิทธิชัย หลวงพ่อช้วน วัดตันนยาภิรม หลวงพ่อแสง วัดคลองน้ำเจ็ด หลวงพ่อเอียด วัดหนองช้างแล่น หลวงพ่อด้วน วัดควนธานี หลวงพ่อรุ่ง วัดตรังคภูมิ หลวงพ่ออินทร์ วัดย่านซื่อ ฯลฯ และที่น่าสนใจคือ ที่วัดควนวิเศษได้มีพิธีปลุกเสก พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน โดย พระอาจารยทิม วัดช้างให้ เมื่อปี ๒๕๐๖ อีกด้วย
จากการที่มีพระเกจิอาจารย์มากมายหลายท่าน ทำให้ เมืองตรัง มีผู้สนใจสะสมพระเครื่องพระบูชากันอย่างกว้างขวาง และหนึ่งในนั้นก็คือ สุริยา รัตนแสงทอง หรือที่วงการพระรู้จักกันในนาม โกชุ้น กันตัง ประธานกรรมการบริหาร ภาคใต้ เขต ๑ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
โกชุ้น กล่าวว่า "ผมเกิดที่ อ.ห้วยยอด สมัยเด็กๆ เห็นผู้ใหญ่แขวนเหรียญพระพุทธชินราช วัดห้วยยอด ปี ๒๔๙๕ และ เหรียญยันต์ ปี ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นเหรียญแปลกที่มีแต่รูปยันต์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่มีรูปพระแต่อย่างใด เหรียญนี้ความจริงแล้ว หลวงพ่อแดง เจ้าอาวาส ท่านสร้างขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านทำบุญเอาไปหลอมเป็นทองชนวนหล่อพระประธานในโบสถ์ แต่ปรากฏว่ามีอยู่เหรียญหนึ่งที่ใส่เตาหลอมแล้วไม่ละลาย ชาวบ้านจึงพากันเก็บเหรียญนี้เอาไว้สักการบูชา แทนที่จะใส่เตาหลอมตามความประสงค์ของวัด ทุกวันนี้ถือเป็นเหรียญยอดนิยมเหรียญหนึ่งของเมืองตรัง นอกจากนี้ อ.ห้วยยอด ยังมีหลวงพ่อเอียด วัดหนองช้างแล่น ผู้มีวาจาสิทธิ์ เป็นศิษย์สายเขาอ้อ มีผู้ให้ความเคารพนับถือกันมาก ต่อมาเมื่อผมเรียนหนังสือจบชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ก็ไปทำงานแพปลาที่ อ.กันตัง จนไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้จัดการ ช่วงที่ทำงานนั้นก็มีเพื่อนฝูงมากมาย หลายคนสนใจพระ และมีพระแขวนกันคนละหลายๆ องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระในท้องถิ่น รวมทั้งพระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน หลวงพ่อรุ่ง วัดตรังคภูมิพุทธาวาส ฯลฯ ทำให้ผมสนใจสะสมพระกับเขาด้วย จึงหาหนังสือพระมาอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ ลานโพธิ์ ซึ่งลงเรื่องพระทางภาคใต้เป็นเสมอๆ จำได้ว่า อาจารย์สมพร สวัสดิรักษ์ ได้เขียนถึงพระเกจิอาจารย์เมืองตรังบ่อยๆ ทำให้ผมรู้สึกชื่นชอบ และภูมิใจที่บ้านเกิดของผมมีพระเกจิอาจารย์ชื่อโด่งดังไปทั่วประเทศ จึงได้ตั้งใจสะสมพระเมืองตรังมากขึ้นเรื่อยๆ จนขยายแวดวงออกไปสู่พระเกจิอาจารย์จังหวัดอื่นๆ ต่อไป ผมคิดว่า การสะสมพระเครื่องที่ถูกต้อง ควรจะเริ่มจากพระในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ตัวเราก่อน เพราะเป็นพระแท้แน่นอน เมื่อจดจำได้แล้ว ชำนาญดีแล้ว จึงค่อยไปเก็บพระที่กว้างออกไปกว่านี้"
สมัยนั้น โกชุ้น ได้สะสมพระท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเพลิดเพลินกับงานอดิเรกนี้มาก เพราะบางครั้งพระที่มีอยู่หลายๆ องค์ มีเพื่อนมาขอเช่าช่อ จะปล่อยออกไปในราคาที่ได้กำไรพอสมควร รวมกันแล้วเดือนหนึ่งๆ มีรายได้มากกว่าเงินเดือนประจำเสียอีก โกชุ้น จึงลาออกจากงานแพปลา เมื่อปี ๒๕๒๓ หันหน้าเข้าสู่วงการพระอย่างเต็มตัว
"เมื่อผมได้ก้าวเข้ามาสู่วงการพระแล้ว สิ่งแรกที่ตั้งใจไว้คือ ต้องเข้าสนามพระในกรุงเทพฯ ให้บ่อยครั้ง เพื่อการเรียนรู้การดูพระที่กว้างขวางขึ้น อาศัยที่มีพื้นฐานการดูพระสายใต้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว การซื้อพระสายอื่นๆ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะพื้นฐานการดูพระทุกประเภทย่อมเหมือนกัน คือ จำพิมพ์ จำเนื้อ และธรรมชาติความเก่าขององค์พระ จากการที่ได้ซื้อพระของคนในวงการด้วยกัน ทำให้มั่นใจได้ว่าเป็นพระแท้แน่นอน เพราะก่อนอื่นเราต้องเรียนรู้ดูคนให้เป็นก่อน ว่าเป็นคนดีมีความจริงใจกับลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยากนัก หากเราได้คลุกคลีอยู่ในวงการอย่างใกล้ชิด ตรงจุดนี้ทำให้ผมได้ทั้งพระแท้ และเพื่อนแท้ ไปพร้อมๆ กัน เมื่อได้พระจากสนามใหญ่ใน กรุงเทพฯ มากพอแล้วก็จะนำลงไปขายที่บ้านเมืองตรัง พรรคพวกเพื่อนฝูงที่นั่นก็ได้รับความรู้จากการดูพระแท้ที่ผมเอาไปให้ เป็นการขยายแวดวงการสะสมจากพระท้องถิ่นกว้างออกไปสู่พระยอดนิยมของเมืองอื่นๆ การสะสมพระก็ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น" โกชุ้น กล่าวถึงเส้นทางของตัวเองที่ผ่านมา
โกชุ้น ยังกล่าวอีกว่า "ผมอ่านหนังสือพระเป็นประจำ ได้พบข้อความให้เช่าพระของ อาจารย์นิพัทธ์ จิตรประสงค์ อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้มีเกียรติสูง ที่คนในวงการพระให้ความเคารพนับถือท่านมาก จึงส่งจดหมายติดต่อกับท่าน ท่านก็ใจดีเหลือเกิน และไว้วางใจพวกผมมาก โดยท่านได้ส่งพระไปให้ก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินให้ทีหลัง ท่านจะส่งพระไปครั้งละหลายๆ องค์ พวกผมที่เมืองตรังจะเอาพระออกแบ่งกัน ใครสนใจองค์ไหนก็เอาองค์นั้นไป แล้วรวบรวมเงินส่งไปให้ท่านพร้อมๆ กัน ทำให้สมัยนั้นพวกผมได้พระแท้ในราคาไม่แพงนัก บ่อยๆ อย่างเช่น พระชัยวัฒน์ หลวงปู่บุญ องค์ละไม่กี่ร้อยบาท มาถึงทุกวันนี้องค์ละหลายหมื่นบาทขึ้นไป พระส่วนใหญ่ที่ อ.นิพัทธ์ ส่งไปนั้น ราคาอยู่ที่หลักร้อยพันเท่านั้น ตอนนี้เป็นพระหลักหมื่นขึ้นไปแล้วทุกองค์"
จากการที่ได้คลุกคลีกับคนในวงการพระส่วนกลางหลายคน เมื่อถึงวันที่มีงานประกวดพระ โกชุ้น จะได้รับการเชิญชวนให้เป็นกรรมการตัดสินพระสายใต้เป็นประจำ จนกลายเป็นกรรมการอย่างเต็มตัว จนถึงทุกวันนี้ โกชุ้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ประธานกรรมการบริหาร ภาคใต้ เขต ๑ (ระนอง กระบี่ พังงา ตรัง ภูเก็ต สตูล) ของ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
ที่ผ่านมา โกชุ้น ได้ร่วมจัดงานประกวดพระที่เมืองตรัง ครั้งแรก ต่อมาอีก ๒ ครั้งเป็นผู้ดำเนินการเองกับเพื่อนๆ และครั้งที่ ๔ ได้ร่วมกับ แมว ทุ่งสง และติ่ง ทุ่งสง จัดงานประกวดพระที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นงานใหญ่ สำหรับที่เมืองตรัง หากสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ จะได้จัดงานประกวดพระกันอีก
ทุกวันนี้ โกชุ้น ได้ร่วมกับเพื่อนชาวใต้ด้วยกัน ๖ คน เปิดร้านพระขึ้นที่ ชมรมพระเครื่องมรดกไทย ชื่อร้าน วิจิตรบรรจง (ชื่อนี้มาจากประตูทางเข้าพระบรมมหาราชวัง ชั้นนอก ด้านทิศใต้) นอกจากนี้ โกชุ้น ยังมีร้าน รัตนพระเครื่อง ของตัวเองอีกแห่งหนึ่งที่ อ.กันตัง จ.ตรัง โทร.๐๘-๑๙๗๙-๒๘๙๘
0 ตาล ตันหยง 0