พระเครื่อง

พระร่วงยืน กรุถ้ำมหาเถร 
พระหูยาน กรุวัดปืน จ.ลพบุรี

พระร่วงยืน กรุถ้ำมหาเถร พระหูยาน กรุวัดปืน จ.ลพบุรี

22 เม.ย. 2552

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดที่มีความสำคัญและเก่าแก่มากที่สุดวัดหนึ่งของ จ.ลพบุรี ทั้งทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ จากโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ คือ พระปรางค์องค์ใหญ่ และพระปรางค์นอกระเบียงคดชั้นใน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ช่ว

   กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี มีพระเครื่องที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น สุดยอดจักรพรรดิของพระเนื้อชิน ถึง ๒ องค์ คือ

 ๑.พระร่วงยืนประทานพร หลังลายผ้า สุดยอดของพระเนื้อชินสนิมแดง ของประเภท พระยืน และ ๒.พระหูยาน สุดยอดของพระเนื้อชินเงิน ของประเภท พระนั่ง พระทั้ง ๒ พิมพ์นี้ นับว่าโด่งดังที่สุดของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี

 ขณะเดียวกัน วงการพระเครื่องเมืองไทย ยังได้ยอมรับพระเครื่องประเภท พระยืน และ พระนั่ง ที่ขุดพบจากกรุอื่นๆ (นอกกรุวัดพระศรีฯ) ของเมืองลพบุรี อีกด้วย ซึ่งสามารถใช้แทนพระเครื่อง ๒ พิมพ์ จากกรุวัดพระศรีฯ ดังกล่าว ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มว่า เป็นพระเครื่องที่สร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน และมีพุทธคุณที่เหมือนกันทุกอย่าง

 จักรพรรดิพระยืน เนื้อชินเงิน นอกกรุวัดพระศรีฯ องค์แรก คือ พระร่วงยืน กรุถ้ำมหาเถร มีการขุดพบเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๑๖ ณ บริเวณถ้ำมหาเถร จ.ลพบุรี มีขนาดและพิมพ์ต่างกับ พระร่วงยืน หลังลายผ้า กรุวัดพระศรี เนื้อสนิมแดง รวมทั้ง พระร่วงยืน หลังลายผ้า ที่ขุดพบจากกรุโรงเรียนช่างกล เนื้อชินสนิมแดง (นอกกรุวัดพระศรีเช่นกัน)

 วงกาพระเชื่อว่า เป็นพระที่สร้างยุคเดียวกัน เป็นพระพิมพ์เดียวกัน และมีพุทธศิลป์เหมือนกันกับ พระร่วงยืน หลังลายผ้า วัดพระศรีฯ ทุกประการ

 ที่น่าสังเกต คือ พระกรุถ้ำมหาเถร ทุกพิมพ์ เมื่อครั้งแตกกรุส่วนใหญ่เป็นพระที่ชำรุดแตกหัก ที่มีสภาพสมบูรณ์มีน้อย และมักจะปรากฏคราบปรอทสีขาวอยู่ทั่วองค์พระ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บางองค์มีคราบปรอทสวยงามสมบูรณ์ทั้งองค์ เนื่องจากพระชุดนี้บรรจุอยู่ในไห จึงสามารถป้องกันสภาพอากาศที่ไม่ชื้นมาก และคงสภาพเดิมได้ดีกว่าพระอีกหลายกรุ ที่ฝังลงในพื้นดิน

 พุทธลักษณะ พระร่วงยืน กรุถ้ำมหาเถร เป็นศิลปะลพบุรีโดยแท้ องค์พระประทับยืนในอิริยาบถประทานพร ภายในซุ้มเรือนแก้ว ยกพระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ พระกรซ้ายทอดลงสู่เบื้องล่าง พระพักตร์แลดูเคร่งขรึม และดุดัน ตามแบบฉบับยุคลพบุรี   

 พระร่วงยืน กรุถ้ำมหาเถร มี ๒ พิมพ์ คือ  ๑.พิมพ์ใหญ่ แบ่งออกเป็นพิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย และพิมพ์ใหญ่ฐานสูง โดยลักษณะต่างๆ ที่เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะที่ฐานขององค์พระ หากตัดเหลือฐานไว้มาก จะเป็นฐานสูง หากตัดชิดฐานเข้ามา ก็จะเป็นพิมพ์ฐานเตี้ย ขนาดความสูงประมาณ ๗ ซม. กว้าง ๒ ซม.

 ๒.พิมพ์เล็ก มีขนาดย่อมกว่าพิมพ์ใหญ่เล็กน้อย และมีธรรมชาติที่รอยปริระเบิดของเนื้อ มักจะปรากฏร่องรอยที่ระเบิดในเนื้อพระทุกองค์ โดยเฉพาะบริเวณขอบพระ เป็นการปริจากในเนื้อพระออกสู่พื้นผิวด้านนอก  นอกจากนี้ ด้านหลังองค์พระจะเป็นลักษณะหลังกาบหมาก และแอ่นเว้าเข้าเล็กน้อย

 พระร่วงยืน กรุถ้ำมหาเถร ราคาเช่าหาอยู่ที่หลักหลายแสน ถือว่ายังถูกกว่า พระร่วงยืน หลังลายผ้า กรุวัดพระศรีฯ ที่มีราคาทะลุหลักล้าน  ส่วนในด้านพุทธคุณ คงเหมือนกัน ครบถ้วนด้วยประสบการณ์ด้านคงกระพัน เมตตามหานิยม และโชคลาภ มาจนถึงทุกวันนี้

 สำหรับองค์ที่ ๒ จักรพรรดิพระนั่ง คือ พระหูยาน กรุวัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี แตกกรุออกมาครั้งแรก ที่องค์พระปรางค์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๕๐ เรียกว่า พระกรุเก่า ผิวองค์พระมีวรรณะดำ

 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ มี พระหูยาน แตกกรุ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ที่บริเวณเจดีย์องค์เล็ก หน้าองค์พระปรางค์ วัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี เรียกว่า พระกรุใหม่ พระทั้ง ๒ กรุนี้ เป็นที่ยอมรันกว่า สร้างในยุคเดียวกัน

 พระหูยาน กรุวัดพระศรีฯ เป็นปฏิมากรรมศิลปะลพบุรียุคต้น นับมาถึงทุกวันนี้ มีอายุกว่า ๘๐๐ ปีแล้ว การออกแบบเป็นฝีมือช่างหลวง ที่ได้ถ่ายทอดจินตนาการลงบนองค์พระอย่างละเอียดประณีต วิจิตรบรรจง และสวยงามยิ่ง  

 หลายท่านเชื่อกันว่า พระพักตร์ของ พระหูยาน ได้รับอิทธิพลมาจากเค้าพระพักตร์ของ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ ปราสาทบายน ในเมืองเขมร ที่ปรากฏรอยยิ้มเล็กน้อย ซึ่งเรียกกันว่า ยิ้มแบบบายน

 ส่วน พระหูยาน นอกกรุวัดพระศรีฯ คือ พระหูยาน กรุวัดปืน วัดนี้ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี ด้านทิศตะวันออก ในเขต ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี (พระกรุนี้ที่นิยมกันมากอีกพิมพ์หนึ่ง คือ พระพิมพ์นาคปรก)

 การขุดพบพระพิมพ์ต่างๆ ของกรุนี้ ส่วนใหญ่ได้จากเจดีย์รายรอบพระอุโบสถ และภายในอุโบสถ

 จากซากถาวรวัตถุที่ยังหลงเหลืออยู่ในทุกวันนี้ สันนิษฐานว่า วัดปืน น่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในอดีต เพราะอุโบสถที่ยังปรากฏเค้าโครงอยู่บ้าง ก็ยังแสดงถึงความยิ่งใหญ่กว่าวัดอื่นๆ อีกหลายวัด จะเป็นรองก็เฉพาะวัดพระศรีฯ เท่านั้น

 พุทธลักษณะทั่วๆ ไปของ พระหูยาน กรุวัดปืน มีความคล้ายคลึงกับ พระหูยาน พิมพ์ใหญ่ กรุวัดพระศรีฯ แต่ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ กรุวัดปืน คือ พระพักตร์จะก้มต่ำเล็กน้อย และสำคัญ บริเวณริมพระศอ ปลายพระกรรณขวา ด้านล่างจะปรากฏรอยแตกในแม่พิมพ์ คล้ายขีดหนาตุ่มนูน ซึ่งจุดนี้นับเป็นเอกลักษณ์ ที่เป็นจุดเด่นของ พระหูยาน กรุวัดปืน โดยเฉพาะ

 พุทธลักษณะ เป็นพระพิมพ์นั่งปางมารวิชัย บนฐานบัวเล็บช้าง ๕ กลีบ เหนือดอกบัวมีเม็ดไข่ปลาเรียงจุดเป็นแถวยาว เป็นพระที่สร้างในยุคหลัง พระหูยาน กรุวัดพระศรีฯ คือสร้างล้อพิมพ์เดิม โดยฝีมือช่างชาวบ้าน ความสวยงามจึงด้อยกว่า พระหูยาน กรุวัดพระศรีฯ อย่างเห็นได้ชัด

 พระหูยาน กรุวัดปืน มีเฉพาะ เนื้อชินเงิน เพียงเนื้อเดียว ลักษณะคราบผิว สนิมกรุ เหมือนกับ พระหูยาน กรุเก่า วัดพระศรีฯ คือ ผิวสีดำ มีคราบปรอทจับตามซอกส่วนลึกขององค์พระ และเมื่อผ่านการใช้แล้ว คราบกรุจะหายไป

 ขนาดองค์พระ กว้าง ๒.๕ ซม. สูง ๕.๐ ซม.
 พุทธคุณ ของพระกรุวัดปืน ขึ้นชื่อด้านคงกระพันชาตรี แบบเดียวกับพระวัดพระศรีฯ แต่ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวลพบุรี ผู้ผ่านประสบการณ์ด้านนักสู้ แบบอาวุธครบเครื่อง ต่างร่ำลือกันว่า พระกรุวัดปืนยอดเยี่ยมทางด้านมหาอุด (หยุดได้) เหนือกว่าพระกรุวัดพระศรีฯ ด้วยซ้ำไป

 ราคาเช่าหา ส่วนมากสภาพไม่ค่อยสวยสมบูรณ์ ยังเช่ากันหลักหลายแสนบาท แม้ว่าจะมีราคาสูงขนาดนี้ แต่ก็ยังหาของไม่ค่อยได้กันเลย  นับเป็นพระที่มีน้อยมาก ในวงการพระแทบจะนับองค์ได้ ต่างกับ พระหูยาน กรุวัดพระศรีฯ ที่มีพระหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันมากกว่า

 พระหูยาน กรุวัดปืน ที่มีสภาพสวยสมบูรณ์คมชัด จึงเป็นพระในฝันของนักสะสมพระเนื้อชินยอดนิยม อย่างแท้จริง
 
"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"