
อย่าให้ใครว่าเด็กสุโขทัย ‘ฟุ้งเฟ้อ-ไร้วินัย’
สถาบันการพลศึกษาสุโขทัย เร่งปลูกฝัง ‘นักกีฬาไทย’ ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีวินัยการเงิน
เครือข่ายอนาคตไทยเป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ระดับประเทศ Thailand Campaign ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย" ซึ่งเป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติลดเลิกพฤติกรรมเชิงลบ (ขี้โกง ฟุ้งเฟ้อ มักง่าย ไร้สติ) โดย 6 องค์กรหลักผู้ริเริ่ม ได้แก่ มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและสภาหอการค้าไทย ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายทั้งสิ้นจำนวน 109 องค์กร
เรามักได้ยินกันบ่อยว่า นักกีฬาแชมป์ระดับโลกในเวทีสากล ที่รับเงินรางวัลหลายร้อยล้านดอลลาร์ แต่ต้องกลับกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะมีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะเขาซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า และไม่รู้จักวิธีบริหารเงินที่ถูกต้อง หรือแม้แต่นักกีฬาไทยเองหลายคนที่ได้เงินรางวัลก้อนใหญ่มา แต่ก็ใช้หมดภายในเวลาไม่กี่ปี ด้วยขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการเงินเช่นกัน
“สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย” ถือเป็นหนึ่งสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิตบุคลากรด้านการกีฬาให้แก่ประเทศ ได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายอนาคตไทย จ.สุโขทัย กับอีก 36 องค์กรในจังหวัด ซึ่งได้ร่วมลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ “อย่าให้ใครว่าไทย” เพื่อร่วมรณรงค์ ลด ละ เลิก 4 พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ขี้โกง ฟุ้งเฟ้อ มักง่าย และไร้สติ ในระดับจังหวัดและเป็นต้นแบบให้กับภูมิภาคในเขตภาคเหนือตอนล่าง พร้อมกันนี้ชาวสุโขทัยยังได้แสดงศักยภาพความพร้อมด้วยการร่วมใจรวมพลังเดินรณรงค์ และปฏิญาณตน “อย่าให้ใครว่าคนสุโขทัย ไร้วินัย”
โดยมีนักเรียน นักศึกษาและประชาชน เข้าร่วมกว่า 600 คน ณ ลานกิจกรรมโรงเรียนอุดมดรุณี จ.สุโขทัย รวมทั้งจัดเวทีเสวนาและเวิร์กช็อป “คิดดี มี..ตังค์” เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน ให้มีหลักคิด หลักปฏิบัติ ในการใช้จ่ายเงินอย่างพอดี ไม่เกินตัวให้แก่คนรุ่นใหม่ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย
ว่าที่ร้อยเอก ดร.เทียนชัย ทองวินิชศิลป รองอธิการบดีสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย กล่าวว่า สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย เป็นสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านการกีฬาโดยตรง ที่ได้เข้าร่วมเครือข่ายอนาคตไทยและรณรงค์แคมเปญโครงการ “อย่าให้ใครว่าไทย” เพราะเป็นการสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของสถาบันการพลศึกษาอยู่แล้ว จึงได้ตอบรับเข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายอนาคตไทย จ.สุโขทัย ทันที เพราะทั้ง 4 มิติที่เครือข่ายรณรงค์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังบ่มเพาะให้เยาวชนของชาติเป็นคนดีของสังคม ซึ่งสถาบันฯ พร้อมที่จะรณรงค์และขยายผล เพราะเห็นความสำคัญของการปลูกฝังให้เยาวชนนักกีฬาไทยเป็นคนดีของสังคม มีวินัยทางการเงินและไม่ฟุ้งเฟ้อ โดยเน้นรณรงค์ในกลุ่มนักศึกษาให้ลด ละ เลิก เรื่องความไร้วินัย และความฟุ้งเฟ้อ”
“ปัญหาของนักกีฬาหลายคนที่พบมาตลอดก็คือ เมื่อประสบความสำเร็จในการแข่งขันได้รับรางวัลเป็นเงินก้อนโต แต่ด้วยขาดวินัยทางการเงิน ใช้เงินไม่เป็น ฟุ้งเฟ้อ จนสุดท้ายต้องประสบความล้มเหลวในชีวิต ผมจึงเห็นว่าการที่นักกีฬาจะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีวินัยทางการเงิน รู้จักการใช้เงิน ไม่ฟุ้งเฟ้อ สามารถบริหารจัดการเงินของตัวเองได้ หรือควรมีคน/ระบบในการช่วยดูแลบริหารจัดการเงินให้ โดยตัวอย่างนักกีฬาโอลิมปิกที่รู้จักการจัดการเงินที่ดีก็มีอยู่ เช่น สมจิตร จงจอหอ ,วิจารณ์ พลฤทธิ์ เป็นต้น”
ดร.เทียนชัย บอกว่า สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาสังกัดสถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน 3 คณะ คือ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาพลศึกษา คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการกีฬา และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และสุขภาพ ปัจจุบันมีนักศึกษาประมาณ 1,300 คน ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย มีผลงานการแข่งขันกีฬาสถาบันการพลศึกษาแห่งประเทศไทยโดยได้รับเหรียญทองมากที่สุด 17 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2541
ภายหลังจากที่สถาบันฯ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายอนาคตไทย ก็ได้นำแคมเปญอย่าให้ใครว่าไทยมารณรงค์ในสถาบันฯ ในประเด็นการสร้างวินัยและลดความฟุ้งเฟ้อ โดยมีการประชาสัมพันธ์และออกกฎระเบียบปฏิบัติภายในสถาบัน เช่น การมีวินัยในการขับขี่พาหนะของนักศึกษาภายในสถาบัน โดยการจัดระเบียบที่จอดรถจักรยานยนต์ให้เป็นที่เป็นทางตามจุดต่างๆ และเน้นให้เดินไปเรียนตามตึกเรียน เพื่อประหยัดพลังงาน ลดค่าน้ำมัน ลดควันพิษ และรณรงค์ให้เคารพกฎจราจร การใส่หมวกกันน็อค ห้ามซ้อนจักรยานยนต์ 3 คน เป็นต้น
สำหรับแผนการรณรงค์โครงการอย่าให้ใครว่าไทยต่อจากนี้ ดร.เทียนชัย บอกว่า นอกเหนือจากการเพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารหลักคิดลดการใช้จ่ายที่ฟุ้งเฟ้อโดยการติดข้อความชวนคิด ให้เป็นคติเตือนใจแก่นักศึกษาในสถาบัน เช่น ข้อความที่ว่า “หมดตังค์แต่ได้โชว์ อดโชว์ แต่เหลือตังค์” และอื่นๆ แล้วยังมุ่งให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดแบบอย่างชีวิตของอาจารย์ผู้สอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการเงินให้เป็น อีกด้วย
“เราพยายามให้ ครู-อาจารย์ เป็นแบบอย่างที่ดีเรื่องการบริหารจัดการเงินให้แก่นักศึกษาและถ่ายทอดแบบอย่างแก่นักศึกษา โดยในช่วง 15 นาที สุดท้ายของชั่วโมงเรียน ขอให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่านได้พูดคุยสอดแทรกเรื่องการใช้เงิน การไม่ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ การมีเหตุมีผลในการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้แต่เรื่องการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูและเด็กด้วย”
นอกจากนั้น สถาบันฯ ยังมีแผนการจัดอบรมเชิงลึกในหัวข้อที่เกี่ยวกับการสร้างวินัยด้านการเงิน การเก็บออมเงิน การใช้จ่ายอย่างพอเพียง โดยเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้มาให้ความรู้แก่นักศึกษา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนกันยายนนี้
“ผมอยากเชิญชวนสถาบันการพลศึกษาทั่วประเทศอีก 16 แห่งเข้าร่วมกับเครือข่ายอนาคตไทย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างมาก เพราะจะเป็นการช่วยปรับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมรวมถึงวินัยทางการเงินให้แก่นักศึกษา ซึ่งจะทำให้เติบโตเป็นคนที่รับผิดชอบต่อสังคมในอนาคต รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อวิทยาเขต และประชาชนในท้องถิ่นที่วิทยาเขตนั้นๆ ตั้งอยู่อย่างมาก” ดร.เทียนชัย กล่าว