ขังรอระบาย...รอไม่ได้แล้ว
ขังรอระบาย...รอไม่ได้แล้ว : บทบรรณาธิการประจำวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2559
การพบปะสนทนาระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กับนายกาเรล โจฮันเนส ฮาร์โตค เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ได้หารือกันถึงเหตุการณ์
"น้ำท่วมมหานคร” ของสองประเทศ โดยเนเธอร์แลนด์เองก็ยอมรับว่าประสบปัญหาน้ำท่วมด้วยเช่นกัน พร้อมให้คำแนะนำว่า ความคาดหวังของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาเป็นความยากของหน่วยงานภาครัฐ สิ่งสำคัญคือการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบว่าหน่วยงานกำลังทำอะไร และพยายามพัฒนาการดำเนินงานให้ดีขึ้น ขณะที่ผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า ความท้าทายในปัจจุบันมาจากความคาดหวังของประชาชนต่อการดำเนินงานของกทม.ที่มีสูงมากขึ้น ปัญหาจึงไม่ใช่ด้านกายภาพเท่านั้น แต่เป็นด้านจิตวิทยาด้วย ทั้งนี้กทม.จะขอความร่วมมือจากเนเธอร์แลนด์เพื่อวางแผนแก้ปัญหาต่อไป
ความคาดหวังของคนกทม.ที่สูงขึ้นนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และคณะทำงานน่าจะจับ "อารมณ์คนเมือง” ได้นานแล้ว เพราะสภาพปัญหาอย่างที่ผู้ว่าฯ กทม. เรียกว่า "น้ำขังรอระบาย” ได้สร้างความทุกข์ยากให้แก่พวกเขาอย่างแสนสาหัส ทั้งการเดินทางไปในสภาพการจราจรที่เป็นอัมพาต ซ้ำร้ายบางรายยังถูกน้ำท่วมบ้านเรือน ทรัพย์สินเสียหายอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จำต้องตกเป็นจำเลยทุกๆ ครั้งที่เกิดน้ำท่วม หรือน้ำขัง เรื่องของเรื่องจึงอยู่ที่ว่า คนเมืองคาดหวังสูงเกินไปเพื่อให้กทม.แก้ปัญหาให้พวกเขาตามอารมณ์ หรือเป็นเพราะว่า การบริหารจัดการ "น้ำขังรอระบาย” ของกทม.อยู่ในภาวะล้มเหลว ตกเมื่อไร ท่วมเมื่อนั้น กรณีนี้สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดวง อารมณ์หรือความคาดหวังที่สูงขึ้นแต่อย่างใด
คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เป็นปัญหาทั้งในเชิงกายภาพของพื้นที่ และการบริหารจัดการของกทม. ซึ่งผู้ตรวจเงินแผ่นดินได้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน กทม.ได้รับงบประมาณสำหรับแผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำปีละหลายพันล้านบาท แต่กลับไม่เห็นผลการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม หลายโครงการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การขุดลอกคูคลอง การติดตั้งปั๊มน้ำ ได้ใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนมาก แต่กลับไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ของการระบายน้ำในพื้นที่ หลายโครงการส่อว่ามีปัญหา สะท้อนการปฏิบัติงานของกทม.เอง ซึ่งหากมองย้อนกลับไปถึงมหาอุทกภัยปี 2554 ยิ่งเห็นความไม่เป็นมืออาชีพของกทม.ที่แก้ปัญหาเป็นจุดๆ ขาดการบูรณาการ
คงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่า โชคช่วยผู้ว่าฯ กทม. อยู่ไม่น้อย เพราะในห้วงเวลาการอยู่ในตำแหน่งสองสมัย รวม 7 ปีที่ผ่านมา หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จนมาถึงปี 2559 รวม 5 ปีเต็ม ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพความแห้งแล้งมาอย่างต่อเนื่อง การพร่องน้ำออกจากเขื่อนขนาดใหญ่เหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปีถัดมา ก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งให้กรุงเทพฯ “แห้งเหือด” มาหลายปี ครั้นพอเกิดฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมอย่างทันตาเห็น ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่สังคมจะตั้งคำถามกับกทม.ว่า 4-5 ปีที่ฝนน้อย น้ำไม่ท่วม แล้วกทม.มัวไปทำอะไรอยู่ที่ไหน เงินงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีก็ไม่ใช่น้อย เหล่านี้ย่อมเป็นโจทย์ที่ผู้ว่าฯ กทม.และคณะผู้บริหารต้องเร่งแก้ไขโดยด่วนที่สุด โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีฝนมากกว่าปกติ หรือโดยสรุปก็คือ นับจากนี้จะต้องไม่เกิดเหตุ ”น้ำท่วมรอระบาย” ขึ้นอีก เพราะไม่เช่นนั้นเสียงเรียกร้องให้นายกฯ เข้ามาจัดการด้วยอำนาจพิเศษก็จะดังขึ้นเรื่อยๆ