คอลัมนิสต์

แนะใช้ข้อมูล 'คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ' ในการการบริหารจัดการน้ำสู้วิกฤตน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การใช้ข้อมูล 'คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ' ประกอบการตัดสินใจจะทำให้ สทนช. หรือผู้บัญชาการเหตุการณ์ในภาวะวิกฤตสามารถแก้ปัญหา 'การบริหารจัดการน้ำ' ได้ในทุกลุ่มน้ำ อีกทั้งช่วยลดระดับความรุนแรงของ 'ภัยแล้ง' และ 'น้ำท่วม' ได้มากขึ้น


[ตอนที่ 2]

หากใช้ข้อมูล 'คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ' ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สสน.จะสามารถวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ทิศทางการไหลของน้ำท่า และแนวโน้มการเกิดน้ำท่วม ซึ่งจะทำให้ สทนช. หรือผู้บัญชาการเหตุการณ์ในภาวะวิกฤตแก้ปัญหา 'การบริหารจัดการน้ำ' ได้ในทุกลุ่มน้ำ และจะช่วยลดระดับความรุนแรงของ 'ภัยแล้ง' และ 'อุทุกภัย' ลงได้

 

วิกฤตภัยแล้งช่วงที่ผ่านมา

 

 

ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำอันเกิดจากการบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ปัญหาด้านนโยบายและการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปัญหาด้านการจัดการองค์กร ปัญหาด้านงบประมาณ ปัญหาด้านกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งล้วนเป็นปัญหาการบริหารจัดการน้ำ และเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตน้ำซ้ำซาก

 

สภาพความแห้งแล้งพื้นที่ภาคการเกษตร

 

นอกจากนี้ ปัญหาด้านข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ปัญหาด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขในระดับนโยบาย แม้จะต้องใช้ความพยายาม ความร่วมมือร่วมใจของหลายฝ่าย และไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นักการเมืองที่อาสามารับใช้ประชาชนและบริหารประเทศก็ต้องคิดและหาทางแก้ปัญหาวิกฤตน้ำให้คลี่คลายลุล่วง เพื่อที่จะได้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล ลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

 

 

ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มีข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำอันเกิดจากการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้

 

ประเด็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกำกับการแก้ปัญหาด้านน้ำของประเทศ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับการแก้ปัญหาน้ำของประเทศควรทำความเข้าใจในเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และทำหน้าที่ในการกำกับหน่วยงานปฏิบัติเพื่อกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาน้ำของประเทศให้ชัดเจน กล่าวคือ
    

  1. กำหนดกรอบพันธกิจของหน่วยงานปฏิบัติด้านน้ำให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนกัน
  2. ริเริ่มให้มีระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System) ภายใต้ภาวะวิกฤตสำหรับทุกลุ่มน้ำ และบูรณาการระหว่างลุ่มน้ำไปสู่ระดับประเทศ โดยอาจมอบหมายให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ซึ่งมีหน้าที่บูรณาการข้อมูลด้านน้ำตามที่มีการประกาศในพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 และปัจจุบันเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ 'คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ' ทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ทิศทางการไหลของน้ำท่า และแนวโน้มการเกิดน้ำท่วม รวมทั้ง วิเคราะห์ scenario หรือ ฉากทัศน์เปรียบเทียบผลที่จะเกิดขึ้นจากแต่ละ alternative ในการบริหารจัดการน้ำ ครอบคลุมทั้งผลกระทบด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ เพื่อให้ สทนช. ใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจและสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการภายใต้ภาวะวิกฤตน้ำตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ บูรณาการร่วมกับ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่ชัดเจนในการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และการป้องกันและบรรเทาผลจากภัยพิบัติ เมื่อเกิดวิกฤตด้านน้ำ พร้อมทั้งสั่งการไปยังหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการในทิศทางที่จะตอบโจทย์เรื่องนี้ โดยมี สสน. เป็น operator หลักในฐานะผู้ดูแลคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ
  3. เร่งดำเนินการในขั้นตอนการจัดทำแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำ ทั้งในภาวะปกติและภายใต้วิกฤตให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเร่งเสนอมายังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณา เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำที่จัดตั้งขึ้นมาแล้ว ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ มีความเข้มแข็งและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. พิจารณาลดขั้นตอนการแก้ปัญหาด้านน้ำที่ซับซ้อน แต่ให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เข้มงวด มีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์การดำเนินโครงการที่เน้นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่เน้น 'การได้ใช้งบประมาณ' ปัจจุบันขั้นตอนการของบประมาณโครงการแก้วิกฤตน้ำที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ทุกหน่วยงาน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องกรอกข้อมูลโครงการผ่านระบบ Thai Water Plan ที่มีขั้นตอนการอนุมัติถึง 4 ขั้นตอน ก่อนจะผ่านมาถึงสำนักงบประมาณ 
  5. แต่กระนั้นโครงการของท้องถิ่นที่แม้จะผ่านการอนุมัติ 4 ขั้นตอนมาแล้วก็ยังมีโอกาสจะถูกตัดด้วยการคัดสรรอันคลุมเครือภายในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย หาก สทนช. แก้ปัญหาคอขวดตรงนี้ได้จะทำให้ภาครัฐขับเคลื่อนโครงการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ในระดับลุ่มน้ำได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  6. ควรพิจารณาทบทวนประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งด้านน้ำอุปโภคบริโภค การจัดหาแหล่งน้ำ การก่อสร้างระบบกระจายน้ำ การจัดการน้ำเสีย ตามที่มีการถ่ายโอนพันธกิจไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดแนวทางเสริมศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาและดำเนินการด้านน้ำหรือมีการบริหารจัดการน้ำได้ในยะยาวอย่างยั่งยืน
  7. เร่งออกกฎระเบียบ และอนุกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 อาทิ ขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน เกณฑ์และระเบียบการจ่ายค่าชดเชยที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านน้ำ 
  8. ในภาวะวิกฤต สทนช. ต้องทำหน้าที่เป็นผู้สั่งการหน่วยงานปฏิบัติในรูปแบบ Single Command โดยใช้ข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย สทนช. ควรกำหนดบทบาทของตัวเองในฐานะผู้กำกับหน่วยปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ว่าจะในระดับประเทศ ระดับภาค ระดับกลุ่มลุ่มน้ำ หรือในคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และไม่ควรเป็นผู้ศึกษาหรือจัดรายงานในระดับโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการในระดับลุ่มน้ำหรือโครงการข้ามลุ่มน้ำ เนื่องจากเป็นพันธกิจโดยตรงของหน่วยงานปฏิบัติ

 

 

ประเด็นการถ่ายโอนภารกิจก่อสร้าง ดูแลและบำรุงรักษาแหล่งน้ำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

  1. หน่วยงานระดับนโยบายควรมีการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการน้ำว่า การถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำในการก่อสร้าง ดูแล และบำรุงรักษาแหล่งน้ำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง และมีภารกิจใดที่ไม่ควรดำเนินการถ่ายโอนไปหรือไม่ เช่น ฝาย ประตูระบายน้ำ เป็นต้น
  2. หน่วยงานระดับนโยบายควรมีการพิจารณาเพื่อแบ่งกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนถิ่นตามศักยภาพในการดำเนินงานเพื่อแก้วิกฤตน้ำ โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา เนื่องจากองค์กรปกครองท้องถิ่นแต่ละแห่งมีศักยภาพในการดำเนินงานด้านน้ำต่างกัน อาทิ ความรู้ความเข้าใจในการเขียนโครงการเพื่อเสนอของบประมาณในการซ่อมบำรุงโครงสร้างทางชลศาสตร์ หรือ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ได้รับการถ่ายโอนมาแล้ว ความพร้อมของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นด้านน้ำอุปโภคบริโภค ระบบประปาท้องถิ่น ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การก่อสร้างระบบกระจายน้ำ รวมทั้งวิศวกรที่มีใบประกอบวิชาชีพควบคุม เป็นต้น 
  3. รัฐควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและสนับสนุนแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพน้อยกว่า หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่ไม่มีความพร้อม ควรมีหน่วยงานหลัก อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยงไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานระดับนโยบายควรมีการมอบหมายแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างชัดเจน เพื่อจะได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างครอบคลุม เป็นการเสริมศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งในระยะยาว
  4. ใน (ร่าง) แผนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) ควรปรับขอบเขตการดำเนินการและความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามศักยภาพที่ทำได้จริง กล่าวคือ ควรกำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลรับการถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำในการก่อสร้าง ดูแล และบำรุงรักษาแหล่งน้ำปริมาตรการเก็บกักน้ำขนาดไม่เกิน 1 แสนลูกบาศก์เมตร กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้นไปกำหนดให้รับการถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำในการก่อสร้าง ดูแล และบำรุงรักษาแหล่งน้ำปริมาตรการเก็บกักน้ำขนาดตั้งแต่ 1 แสนลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ หากองค์การบริหารส่วนตำบลใดที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าการก่อสร้าง ดูแล และบำรุงรักษาแหล่งน้ำได้ ให้สามารถร้องขอให้สามารถรับการถ่ายโอนภารกิจด้านแหล่งน้ำในการก่อสร้าง ดูแล และบำรุงรักษาแหล่งน้ำปริมาตรการเก็บกักน้ำขนาดเกินกว่า 1 แสนลูกบาศก์เมตรได้
  5. การกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวได้ ในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่มีศักยภาพและร้องขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดช่วยเหลือ และเมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดดำเนินการแล้วเสร็จให้ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีการบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาต่อไป เช่น อ่างเก็บน้ำที่มีการใช้ประโยชน์และตั้งอยู่ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียว คลองส่งน้ำ ที่มีการใช้ประโยชน์และครอบคลุมพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียว ฝายน้ำล้นที่กั้นลำน้ำไหลผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียว และบ่อน้ำบาดาล เป็นต้น ในกรณีนี้จะต้องมีการจัดสรรเงินงบประมาณและบุคลากรให้อย่างเพียงพอ
  6. ควรมีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านความรู้ความสามารถของบุคลากร ซึ่งการอบรมหรือการจัดทำคู่มือนั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะการก่อสร้างดูแล บำรุงรักษาแหล่งน้ำเป็นเทคนิควิชาการทางวิศวกรรมค่อนข้างสูง
  7. การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติในการเก็บค่าใช้น้ำและมีหน้าที่ดูแลรักษา บริหารจัดการแหล่งน้ำนั้น ในทางปฏิบัติมีความเป็นไปได้ยาก
  8. ควรกำหนดให้การโอนภารกิจ ก่อสร้าง ดูแล และบำรุงรักษาแหล่งน้ำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่เกินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวสามารถโอนภารกิจ ก่อสร้าง ดูแล และบำรุงรักษาแหล่งน้ำคืนกลับมาที่ส่วนราชการ หรือกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านทรัพยากรน้ำได้โดยความสมัครใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง และควรกำหนดขั้นตอนการโอนภารกิจกลับคืนมาให้สามารถดำเนินการได้โดยง่าย ซึ่งจะเอื้อต่อการบริหารจัดการน้ำ

(อ่านบทความตอนที่ 1 : https://www.komchadluek.net/scoop/new-world/552261) 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ