คอลัมนิสต์

โค้งสุดท้าย 'เพื่อไทย' ฮึด แลนด์สไลด์ 'ก้าวไกล' กระแสแรงไม่ตก สองลุงยังลุ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำรวจ 6 พรรคการเมืองใหญ่ช่วงหาเสียงโค้งสุดท้าย 'เพื่อไทย' มุ่ง 'แลนด์สไลด์' พื้นที่อีสาน 'ก้าวไกล' กระแสยังแรงไม่ตก 'ประยุทธ์' 'ประวิตร' ลุ้นไปต่อหรือปิดฉากการเมืองกลับบ้าน

เหลือเวลาอีกประมาณสองสัปดาห์ก็จะถึงวันพิพากษาชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย ในการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่ง ณ เวลานี้ถือเป็นการห้ำหั่นกันระหว่าง "เพื่อไทย" กับ "ก้าวไกล" ที่มาแรงทั้งคู่และตัดคะแนนกันในแทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายแลนด์สไลด์ของเพื่อไทย

 

ประชาชนเข้าร่วมฟังเวทีดีเบตอนาคตประเทศไทย จัดโดยเครือเนชั่นที่ จ.นครสวรรค์

 

หากนับจากวันหาเสียงก่อนเปิดรับสมัคร สส.ของแต่ละพรรค จนถึงวันนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองทยอย “ปล่อยของ” ที่หวังใช้เป็นหมัดเด็ดหวังน็อคคู่แข่งในสนามชิงเก้าอี้สภาผู้แทนราษฎร 

สำรวจสถานการณ์ของ 6 พรรคการเมืองใหญ่ ณ เวลานี้ ใครเป็นอย่างไรกันบ้าง

 

 

‘รทสช.’ หวังเสียงแฟนคลับ ‘ลุงตู่’ 
เริ่มกันที่ตัวพ่อขั้วอนุรักษ์นิยม พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งมีฐานเสียงส่วนใหญ่จากฐานแฟนคลับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก โดยเฉพาะคะแนนจากกลุ่ม กปปส.เดิมในพื้นที่ภาคใต้ที่ไม่เอา “ทักษิณ” และสนับสนุนการโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ

 

ช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ พยายามสร้างภาพจำใหม่ให้ประชาชนสลัดภาพลักษณ์ความ “ถมึงทึง” ออกไป โดยเลือกทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อแสดงออกถึงการเข้าถึงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ย่านถนนข้าวสาร การยอมเปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อมวลชนไทยหลายสำนัก

 

 

รวมทั้งพยายามส่งสารไปถึงประชาชนในทำนองว่า สังคมการเมืองยังจำเป็นต้องให้โอกาสตนเองเข้ามาทำงานอีกสมัย ด้วยการเปรียบตนเองเป็น “กัปตันเครื่องบิน” ที่ต้องนำพาประเทศเดินหน้าต่อไป

คำเปรียบเทียบที่ว่าเป็นการนำวาทกรรม “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 มาตอกย้ำเพื่อเป็นจุดขายของ รทสช. ซึ่งเมื่อ 4 ปีก่อนช่วยทำให้พรรคพลังประชารัฐได้จำนวนเสียงมากพอ จนเป็นแกนนำตัดตั้งรัฐบาลได้ แต่สถานการณ์ในปี 2566 แตกต่างกับปี 2566 โดยสิ้นเชิง นั่นเพราะปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจในนามหัวหน้า คสช. แต่ปีนี้นอกจากไม่มีอำนาจพิเศษแล้ว ยังมีประเด็นให้ต้องออกมาแก้ต่างอีกหลายเรื่อง เช่น ค่าไฟแพง ราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งบรรดาขุนพลรอบกาย “ลุงตู่” ยังแก้ปมเหล่านี้ม่ไออก แถมยังโบ้ยปัญหาไปให้รัฐบาลก่อนเกิดรัฐประหารอีกต่างหาก

 

 


ด้วยเหตุนี้ หากช่วงโค้งสุดท้าย รทสช.ยังไม่สามารถงัดไม้เด็ดออกมาได้ อาจถึงเวลานับถอยหลัง “รูดม่าน” ปิดฉากการเมืองของลุงคนแรกอย่างสิ้นเชิง 

 

 

 

‘บิ๊กป้อม’ จาก ‘ลุงไม่รู้’ เป็น ‘ผู้นำสมานฉันท์’        
พลังประชารัฐ ขั้วอนุรักษ์นิยมอีกพรรคที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แม้ในทางกายภาพจะดูไม่คล่องแคล่วเหมือนนักการเมืองหนุ่มพรรคอื่น แต่ชั้นเชิงของ “ลุงป้อม” ก็ลายครามพอสมควร ทำให้ช่วงที่ผ่านมาได้เห็นเกมบ้านใหญ่วิ่งไปซบพลังประชารัฐจำนวนไม่น้อย 

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแกนนำพรรค


ทว่า บุคลิกความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประวิตร นั้นไม่โดดเด่น และตกเป็นรองคู่ชิงแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอื่น อีกทั้งถูกปรามาทการสื่อสารที่มักใช้คำว่า “ไม่รู้” กับประชาชนจนกลายเป็นภาพจำในเชิงลบในความไม่ชัดเจนในการอธิบายความกับประชาชน แม้ท้ายที่สุดจะยอมไปเปิดอกเคลียร์ประเด็นในรายการสรยุทธ์ทางช่อง 3 ร่วมชั่วโมง เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพผู้นำพรรคที่ชูจุดขาย “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”

 

 


มองในภาพรวมของพรรคพลังประชารัฐแล้วแม้จะไม่เก๋ามาก แต่ก็มีนักการเมืองจากบ้านใหญ่ที่หลากหลาย มีแบ่งบทบาทฝ่ายบู๊ฝ่ายบุ๋นค่อนข้างชัด ระหว่างทีมเศรษฐกิจที่จะเล่นบทบุ๋นชูก้าวข้ามความขัดแย้งและแก้ปัญหาปากท้อง ขณะที่ฝ่ายบู๊นำโดย “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” เดินหน้าปะฉะดะตอบโต้ทุกประเด็นโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามในทุกเวทีดีเบต    

 

 


ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐที่มีส่วนผสมลงตัวระหว่าง “นายทหารนักเลือกตั้ง” ย่อมไม่อาจถูกมองข้ามไปได้แม้ว่าผลโพลจะสวนทางกับเป้าที่วางไว้ก็ตาม

 

 


‘เพื่อไทย’ จุดยืนไม่ชัดสะเทือนแลนด์สไลด์ 
เพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่คะแนนความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่งจากการสำรวจของโพลหลายสำนัก และนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยมาจนถึงปัจจุบัน สถิติตอกย้ำชัดเจนว่า ได้ สส.มาเป็นอันดับหนึ่งและได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้ง ยกเว้นการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ถูกพลังประชาชนเล่นเกมชิงชัยชนะไปต่อหน้า ทั้งที่ได้ สส.เข้าสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 136 คน

 

แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยปราศรัยหาเสียง


สำหรับ การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยยังได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นพรรคที่ได้ สส.มากที่สุดอีกครั้ง แม้ด่าน สว.อีก 250 คนคอยขวางก็ตาม โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคเพื่อไทยพยายามหาเสียงภายใต้สโลแกน “เลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์” พร้อมกับตั้งเป้ากวาด สส.ให้ได้ 300 คนขึ้นไป

 

 


อย่างไรก็ตาม เข้มมุ่งแลนด์สไลด์เริ่มสะดุดออกอาการแลนด์ไถลในช่วงหลัง เนื่องจากสร้างความคลุมเครือต่อจุดยืนทางการเมืองในบางประเด็น เช่น ท่าทีการจับขั้วตั้งรัฐบาลที่ยังเปิดทางจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะพลังประชารัฐ ซึ่งไม่เป็นที่ถูกใจของคนรุ่นใหม่และกลุ่มเฟิร์สโหวตเวอร์

 

 


จากความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้เอง แม้จะไม่ทำให้พรรคเพื่อไทยร่วงลงมาจากการสำรวจของโพลหลายสำนัก แต่มองในเชิงตัวเลขแล้วมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้สองแคนดิเดตนายกฯ ทั้ง “อุ๊งอิ๊ง" - แพรทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน ต้องออกมาย้ำจุดยืนว่าไม่อาจร่วมรัฐบาลกับพรรคที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร แต่ในความชัดเจนที่ประกาศออกมานั้นก็ยังไม่แจ่มชัดแบบฟันธงเท่าที่ควร ทำให้แกนนำพรรคต้องออกแรงให้ผู้สมัครเขตในทุกพื้นที่ขยันเดินขอคะแนนประชาชนให้มากขึ้น 

 

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย


ตัวอย่างกรณีของ “แพรทองธาร” นั้นแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวในนามส่วนตัวเสียมากกว่า เช่นคำพูดที่ว่า “อยากให้ทุกคนดูหน้าดิฉันไว้ ก็คงไม่ได้ชอบการรัฐประหาร...”  ส่วน “เศรษฐา” ประกาศชัดเจนว่าไม่ทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ก็ต้องเข้าใจว่า เศรษฐาเองไม่ได้มีอิทธิพลในพรรค หากหลังการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา “เศรษฐา” ก็แค่รับผิดชอบด้วยการลาออกจากพรรค และปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

 

 

 

กา ‘ก้าวไกล’ ทั้งแผ่นดิน
ใครจะคาดคิดว่าพรรคก้าวไกลที่ช่วงแรกเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในค่อนข้างรุนแรงกับ “คณะก้าวหน้า” แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลับพบว่า พรรคก้าวไกล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีคะแนนความนิยมเป็นรองแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น และช่วงโค้งสุดท้ายกระแสยิ่งมาแรงมากขึ้น
 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หาเสียงสามย่านมิตรทาวน์ 22 เม.ย. 2566

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกลมีความโดดเด่น คือ จุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน เนื่องจากไม่ว่าหัวหน้าพรรคหรือแกนนำพรรคจะไปหาเสียงหรือขึ้นเวทีดีเบตที่ไหน ต่างแสดงจุดยืนทางการเมืองในนามมติของพรรคทุกครั้ง โดยเฉพาะการประกาศจุดยืน “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” เพื่อเป็นการย้ำว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเด็ดขาด และพร้อมจะเป็นฝ่ายค้านเพื่อรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตย

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ


ไม่เพียงเท่านี้การได้อดีตผู้นำพรรคอนาคตใหม่เดิม “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงและเป็นตัวแทนของพรรคขึ้นเวทีดีเบต ยิ่งเกิดกระแสที่ทำให้หลายฝ่ายพูดถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการแชร์คอนเทนต์ของพรรคก้าวไกลจนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์หลายครั้ง 

 

 


อย่างไรก็ตาม จุดยืนที่ชัดและทรงที่ดีวันดีคืนของพรรคก้าวไกลก็มีอุปสรรค โดยเฉพาะการจุดพลุประเด็น “ไม่มีพรรคไหนเอาด้วย” ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็จ้องจะดิสเครดิตในทุกย่างก้าว อย่างเช่นการโจมตี “ทิม พิธา” ประเด็นเดินทางกลับจากต่างประเทศมาร่วมงานศพพ่อ ทำให้เจ้าตัวต้องออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจกับแฟนคลับ
   

 

 


‘ประชาธิปัตย์’ ระดมขุนพลฮึดสู้โค้งสุดท้าย
พรรคประชาธิปัตย์ ณ ปัจจุบัน เป็นอีกครั้งที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะจากพรรคการเมืองใหญ่ที่เคยมี สส.มากกว่าร้อยคน จนกลายเป็นพรรคขนาดกลางที่มี สส.แค่ครึ่งร้อย และจากพรรคที่เคยครองใจคนกรุงเทพฯ ในปี 2562 กลับสอบตกจนสูญพันธุ์ในพื้นที่เมืองหลวง 

 

พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอนโยบายหาเสียงที่ทาวน์ฮอลล์ตึกเนชั่น


มาถึงการเลือกตั้งคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังเผชิญความยากลำบากไม่ต่างกัน เพราะไม่ถูกจัดอันดับให้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเหมือนในอดีต มิหนำซ้ำคะแนนความนิยมของหลายสำนักระบุชัดหัวหน้าพรรคสไตล์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” คะแนนนิยมในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ยังห่างจากคู่แข่งพอสมควร 

 

 

 

พรรคประชาธิปัตย์รู้ถึงปัญหานี้ดี จึงพยายามเดินหน้าหาเสียงด้วยกลยุทธ์รักษาฐานเดิมและยึดคืนพื้นที่ที่เคยเสียไปกลับมา โดยเฉพาะหลายเขตในพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร จึงได้เห็น “ชวน หลีกภัย” ต้องลงมานำทัพลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครหาเสียงมากขึ้น ถึงขึ้นที่ต้องบอกประชาชนว่านี่อาจเป็นการลงเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของตัวเอง พร้อมกับชักชวนอดีตหัวหน้าพรรคทั้ง “อภิสิทธิ์” และ “บัญญัติ” มาช่วยลูกพรรคหาเสียง เรียกได้ว่าหวังใช้ “รุ่นใหญ่” มาช่วยกอบกู้พรรค

 

 


ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์พยายามเน้นการสื่อสารนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก พร้อมกับสงวนท่าทีต่อการจับขั้วร่วมรัฐบาลมาตลอด และชี้นำให้รอหลังการเลือกตั้งจบลงก่อน โดยที่ “จุรินทร์” ย้ำหลักการว่า ต้องให้พรรคที่ได้ สส.มากที่สุดมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าทำไม่ได้ถึงจะเป็นโอกาสของพรรคที่มีจำนวน สส.ลำดับรองลงมา 

 

 


ณ นาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังมีการบ้านที่ต้องทำอีกมากในช่วงปลายของการหาเสียง เพื่อให้ตัวเลขทั้งคะแนนเขตและคะแนนพรรคใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

 

 


‘ภูมิใจไทย’ ประคองตัวรอร่วมรัฐบาล
ก่อนจะมีการยุบสภาฯ พรรคภูมิใจไทยถูกกล่าวถึงในฐานะพรรคที่มีฐานะมั่นคง ทำให้มี สส.บ้านเล็กบ้านใหญ่วิ่งไปซบจำนวนมาก ถึงกับถูกจับตาว่าอาจจะกลายเป็นพรรคการเมืองม้ามืดที่กลายเป็นขั้วที่สามหรือไม่ 

 

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย


แม้หลายครั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคจะแสดงถึงความมุ่งมั่นว่าด้วยนโยบายและผลงานของพรรคที่ผ่านมาโดดเด่น โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข และคมนาคม ที่จะสร้างความเซอร์ไพรส์ในทางการเมืองได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความพยายามในการวางตำแหน่งทางการเมืองของของพรรคภูมิใจไทย ทำได้แค่พรรคภูมิภาคนิยมเท่านั้น

 

 

 

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ที่มีบุรีรัมย์เป็นศูนย์กลาง และหวังกวาดคะแนนจังหวัดรอบๆ เพื่อให้มี สส.มากพอที่จะเข้าร่วมได้กับทุกขั้วการเมืองภายใต้สายสัมพันธ์ที่อยู่เดิม ซึ่งจะว่าก็คล้ายกับโมเดลของพรรคชาติไทยในอดีตที่พยายามรักษาฐานจังหวัดภาคกลางโดยมีสุพรรณบุรีเป็นเมืองหลวงของพรรค และรักษาจำนวน สส.ของพรรคให้อยู่ระดับกลางๆ ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการต่อรองเข้าร่วมรัฐบาล 

 

 


จุดแข็งของพรรคภูมิใจไทย คือ การรักษาพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรค เพราะสามารถนับหัวได้เลยจะมี สส.ระบบแบ่งเขตเดินเข้าสภากี่คน แต่ยังมีจุดอ่อนตรงคะแนนนิยมของพรรคที่จะดันคะแนน สส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ แม้การเลือกตั้งปี 2562 จะได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์มากถึง 12 คน แต่นั่นก็มาจากการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวที่บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะเลือก สส.บัญชีรายชื่อไปในตัว ต่างกับปัจจุบันที่เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบแยกกันระหว่าง สส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ 

 

 

 

พายุต่อต้านนโยบายกัญชาเสรีที่โถมเข้าใส่ และความไม่เด็ดขาดในการควบคุมการเข้าถึงกัญชาในสมัยเป็นรัฐบาล ผนวกกับพิษที่ดินเข้ากระโดง และกลิ่นการทุจริตที่ถูกแฉในกระทรวงคมนาคม อาจกลายเป็นปัจจัยลบฉุดกระแสนิยมของภูมิใจไทยให้ดิ่งลง ช่วงโค้งสุดท้ายของสนามเลือกตั้งใหญ่เที่ยวนี้ จึงอาจแค่ประคองตัวเพื่อหาทางสวิงตัวเองไปซ้ายหรือขวาของสมการการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งจบลง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ