คอลัมนิสต์

หลวงปู่จากไป "ติช นัท ฮันห์" ทิ้งคำสอน สติและสันติไว้ให้เรา โดย โคทม อารียา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงหลวงปู่ "ติช นัท ฮันห์" จะขอน้อมนำคำสอนของท่าน โดยเฉพาะในหัวข้อ สติ สันติภาพ และ การเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง (interbeing) มาแบ่งปัน ในเจาะประเด็นร้อน โดย โคทม อารียา

 

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565  หมู่บ้านพลัมได้แจ้งข่าวการมรณภาพของ พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ความว่า "สังฆะหมู่บ้านพลัมนานาชาติขอประกาศว่า หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์ที่รักยิ่งของเราได้ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 0.00 นาฬิกา ของวันที่ 22 มกราคม 2565 สิริอายุ 95 ปี"
    

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงหลวงปู่ จะขอน้อมนำคำสอนของท่าน โดยเฉพาะในหัวข้อ สติ สันติภาพ และ การเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง (interbeing) มาแบ่งปัน โดยคำสอนเหล่านี้สืบค้นได้ทางอินเตอร์เน็ต จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อในที่นี้ 
    

หลวงปู่สอนให้นำพุทธศาสนามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อการตื่นรู้ของเราและเพื่อรับใช้สังคม นี่เป็นแนวทางที่เรียกว่า engaged Buddhism กล่าวคือ ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับชีวิตประจำวัน และไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับการทำงานเพื่อสังคม 

 

หลวงปู่สอนเรื่องการตื่นรู้ผ่านการมีสติอยู่เสมอ ไม่เฉพาะเวลานั่งภาวนา แต่ในชีวิตประจำวันด้วย หมายความว่าทุก ๆ ขณะ คือของขวัญแห่งชีวิต เราสามารถภาวนาได้ในทุกขณะ ตัวอย่างเช่น
ตื่นนอนยามเช้า

 

เมื่อเธอตื่นนอน เธอสามารถยิ้มในทันที นั่นคือรอยยิ้มแห่งการตรัสรู้ เธอตระหนักรู้ว่าวันใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้น ชีวิตกำลังมอบ 24 ชั่วโมง ที่สดใหม่ให้ดำรงชีพ และนั่นคือของขวัญอันล้ำค่าที่สุด เธอสามารถภาวนา

 

ด้วยบทกลอนนี้กับตัวเอง จะสวดในใจหรือสวดออกเสียงก็ได้


ตื่นขึ้น รอยยิ้มผลิบาน
ยี่สิบสี่ชั่วโมงแห่งวันใหม่
ปณิธานใช้ชีวิตเต็มเปี่ยมทุกขณะ
มองสรรพชีวิตด้วยสายตาแห่งความรัก
เปิดก๊อกน้ำล้างใบหน้า

 

เธอสามารถเบิกบานกับการสัมผัสสายน้ำที่ไหลออกจากปลายก๊อกน้ำ และสถานที่ต่าง ๆ ที่น้ำได้เดินทางผ่านมาอีกด้วย เธอสามารถภาวนาด้วยบทกลอนต่อไปนี้

 

น้ำจากต้นธารแห่งยอดเขาสูง
น้ำจากใจกลางแผ่นดินอันลึกซึ้ง
น้ำไหลหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างมหัศจรรย์
สำนึกคุณด้วยใจอันเต็มเปี่ยม
แปรงฟัน

 

นี่คือบทกลอนที่เธอสามารถภาวนาด้วยความเบิกบานในขณะแปรงฟัน
แปรงฟันและบ้วนปาก
เพื่อชำระล้างกรรมแห่งวาจาให้สะอาด
ปากหอมด้วยถ้อยคำแห่งสติ
ดอกไม้บานในสวนแห่งใจ
    

หลวงปู่เป็นครูที่ดีของเด็กโดยมีวิธีสอนที่เรียบง่าย ดังตัวอย่างการสอนให้ภาวนากับก้อนกรวด ดังนี้      

   
ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส มีเด็กหลายคนจากหลายประเทศมาร่วมฝึกปฏิบัติด้วย วิธีการภาวนากับก้อนกรวดเริ่มจากการมีถุงเล็ก ๆ สำหรับเก็บก้อนกรวด 4 ก้อน เมื่อเราต้องการทำสมาธิภาวนา ให้หยิบถุงนี้ขึ้นมาและนั่งล้อมกันเป็นวงกลม เด็กคนหนึ่งเป็นผู้เชิญระฆัง 3 ครั้ง เพื่อเชื้อเชิญให้เรากลับมาสู่บ้านที่แท้จริง

 

เมื่อเริ่มภาวนา เราหยิบ ก้อนกรวดก้อนแรก ขึ้นมา ประสานไว้บนมือ พร้อมให้ก้อนกรวดก้อนนี้เป็นตัวแทนของ "ดอกไม้" 

 

หายใจเข้า
หายใจ ออก         ฉันเป็นดั่งดอกไม้
ฉันสดชื่น (ดอกไม้/สดชื่น)


เราเป็นดอกไม้แห่งมนุษยชาติ เด็ก ๆ ก็คือ ดอกไม้ พวกเขามีความสดชื่นอยู่เสมอ เราควรภาวนาดอกไม้อยู่เสมอ เพราะมันจะช่วยรักษาความสดชื่นให้แก่เรา และเราจะมีความสามารถหยิบยื่นดอกไม้ให้คนรอบข้างได้

 

หลังจากภาวนาก้อนกรวดก้อนแรกเสร็จ เราวางก้อนกรวดก้อนนี้ลง พร้อมหยิบ ก้อนกรวดก้อนที่สอง ขึ้นมา โดยให้มันเป็นตัวแทนของ "ภูเขา" คือความมั่นคงในตัวเรา
 
 
 
หายใจเข้า
หายใจออก         ฉันเป็นดั่งขุนเขา
ฉันมั่นคง (ขุนเขา/มั่นคง)


หากเราปราศจากความมั่นคงหนักแน่นแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะมีความสุขได้ เพราะเมื่อเราเป็นคนอ่อนไหว เราก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ใคร รวมถึงตัวเราเองได้

 

ก้อนกรวดก้อนที่ 3 คือตัวแทนของ "น้ำใส" เราจะภาวนาว่า 

 

หายใจเข้า

หายใจออก        ฉันเป็นดั่งน้ำใส

ฉันสะท้อนสิ่งต่าง ๆ ดั่งที่มันเป็น  (น้ำนิ่ง/สะท้อน)
 
         

เมื่อเราโกรธ อิจฉาหรืออยู่ในภาวะอารมณ์ที่รุนแรง เราไม่สามารถ ที่จะมองสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เราอาจมีความคิดเห็นที่ผิด และมีอคติต่อสิ่งนั้น การภาวนาเช่นนี้ช่วยบ่มเพาะความนิ่ง ใส ชัดเจน ไม่บิดเบือน ให้แก่ตัวเรา  

 

ก้อนกรวดก้อนสุดท้าย เป็นตัวแทนของ "ความว่าง"
 

หายใจเข้า

หายใจออก         ฉันเป็นดั่งความว่าง

ฉันเป็นอิสระ (ความว่าง/อิสระ)


ความว่างในที่นี้หมายถึงพื้นที่ว่างในหัวใจและพื้นที่ว่างรายล้อมเรา เมื่อเรารู้สึกเป็นอิสระ เราจะมีพื้นที่มากมายแบ่งปันแก่ผู้อื่น เราพร้อมที่จะให้พื้นที่แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่เรารัก หลายครั้งความรักของเรามักเป็นกรงขัง ฉะนั้นเมื่อเรารักใครสักคน เราต้องคอยดูอยู่เสมอว่า เราได้ให้ที่ว่างแก่เขามากพอหรือไม่ อย่าทำให้ความรักของเรากลายเป็นกรงขัง
    

ในด้านสันติภาพ หลวงปู่เน้นปฏิบัติการในเชิงรุก ปลุกจิตสานึกของคนในสังคมโลกให้เห็นภัยความรุนแรงของสงคราม ท่านได้เข้าพบผู้นำทางศาสนาและการเมืองในที่ต่าง ๆ เพื่อขอความสนับสนุนในการทำงานเพื่อสันติภาพ วิธีการในการทำงานเพื่อสันติภาพ คือ การสร้างสันติภาพขึ้นภายในตนเอง และแปลงเปลี่ยนเป็นสันติภาพภายนอกให้เกิดขึ้นแก่ผู้คน โดยการนำ "สติ"  สู่ "สันติ" 

 

ในยามที่บ้านเมืองมีศึกสงคราม หลวงปู่มีความเห็นว่าพระพุทธศาสนามิควรแบ่งฝ่ายหรือสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ทำลายล้างกัน สิ่งที่ต้องทำคือการนำเสนอทางออกของแต่ละฝ่ายด้วย

 

สันติวิธี มีความเมตตาต่อกันทุกฝ่าย เมื่อสงครามเกิดขึ้นในประะเทศของท่าน หลวงปู่ไม่ได้เลือกที่สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของเวียดนามเหนือหรือเวียดนามใต้ หรือของเวียดนามหลังจากที่ได้รวมประเทศแล้ว อาจเป็นด้วยเหตุนี้ ที่ท่านต้องลี้ภัยไปตั้งหมู่บ้านพลัมในประเทศฝรั่งเศส

 

หลวงปู่เห็นว่า ผู้คนกำลังเป็นทุกข์เดือดร้อนจากภัยความรุนแรง ภัยธรรมชาติ ความยากจน ฯลฯ จึงสอนว่าพุทธบริษัทอย่าเอาแต่นั่งแผ่เมตตาภาวนาในเคหะ ในอาศรม จำต้องออกไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเหล่านั้น ท่านจึงได้ก่อตั้งโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม (the School of Youth for Social Services หรือ SYSS) ขึ้น ซึ่งต่อมากลายเป็นสาขาหนึ่งของมหาวิทยาลัยแวนฮันห์ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการนำพุทธศาสนามาช่วยเหลือและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน

 

อาทิ การจัดตั้งศูนย์อนามัย ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เพิงสอนหนังสือ การสร้างอาชีพเสริมต่าง ๆ เป็นต้น ท่านเรียกการนำพุทธศาสนามาปฏิบัติในแนวทางนี้ว่า เป็นการฝึกปฏิบัติ “พุทธศาสนาเพื่อสังคม” ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ตรงการไม่แบ่งแยก ไม่มี “ฉัน” หรือ “เธอ” เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์ด้วยกัน นอกจากการนำศาสนามาสัมพันธ์กับสังคมแล้ว

 

ท่านยังกล่าวอีกว่า การปฏิบัติธรรมมิได้หมายถึงการปลีกตัวออกจากกิจวัตรประจำวันหากแต่ความต้องผสมผสานให้กลมกลืนกับทุกอิริยาบถ  ไม่ว่าการ นอน นั่ง ยืน เดิน การกิน การทำงาน ล้วนเป็นหนทางเจริญสติทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความตื่นรู้ซึ่งมิได้หมายถึงแค่การรู้กายและจิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเป็นไปของสภาวะโดยรอบ
หลวงปู่ ติซ นัท ฮันห์ ยังได้ก่อตั้งคณะเทียบหิน (Tiếp Hiện) ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นบุคลากรที่ทำงานเพื่อสังคม และประยุกต์พระพุทธศาสนาให้กลมกลืนกับการทำงานและการดำเนินชีวิต สมาชิกในคณะเทียบหินต้องปฏิบัติตามศีล 14 ข้อ อันเป็นวิถีทางที่จะพัฒนาตนเองให้เจริญงอกงามทั้งกายและใจ 

 

คำว่าเทียบหินมีสองพยางค์ พยางค์แรก "Tiếp" หมายความว่า "การเชื่อมโยงหรือสัมผัสกับ" (being in touch with) และ "การต่อเนื่อง" (continuing) พยางค์ที่สอง "Hiện" หมายความว่า "การทำให้เป็นจริง" (realizing) และ "การทำสิ่งนั้นที่นี่และเดี๋ยวนี้" (making it here and now) คำว่าเทียบหินนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Interbeing และภาษาฝรั่งเศสว่า Interêtre ในทางพุทธธรรมหลวงปู่ใช้คำคำนี้ในความหมายของ อนัตตา ปฏิจฺจสมุปบาท และสุญญตา (ตามที่อธิบายไว้ในพระคัมภีร์มาธยมิกา)
    

ศีล 14 ข้อของคณะเทียบหินประกอบด้วย 1) การเปิดกว้าง (openness) 2) การไม่ยึดมั่นกับความคิดเห็น (Non-Attachment to Views) 3) เสรีภาพทางความคิด (Freedom of Thought) 4) การตระหนักรู้ถึงความทุกข์ (Awareness of Suffering) 5) การดำเนินชีวิตด้วยกรุณาและอย่างมีสุขภาวะ (Compassionate, Healthy Living) 6) การจัดการความโกรธ (Taking Care of Anger) 7) การดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะอย่างมีสุข (Dwelling Happily in the Present Moment) 8) ชุมชนที่แท้และการสื่อสารถึงกัน (True Community and Communication) 9) วาจาที่เป็นสัจจะและอ่อนโยน (Truthful and Loving Speech) 10) การปกป้องและทำนุบำรุงสังฆะ (Protecting and Nourishing the Sangha) 11) สัมมาอาชีวะ (Right Livelihood) 12) การเคารพชีวิต (Reverence for Life) 13) ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (Generosity) 14) ความรักแท้ (True Love)
    

คณะเทียบหิน ประกอบด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ปัจจุบัน มีนักบวชกว่าห้าร้อยคน ในยี่สิบกว่าประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้านพลัม และที่อื่น ๆ ได้แก่ Green Mountain Dharma Center รัฐเวอร์มอนต์ และ Deer Park Monastery รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา และที่วัดบัทหงา เมืองบ๋าวหลอบ และ วัดตื่อฮิ้ว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม


หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ มาเยือนเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2518 เมื่อ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้นิมนต์ท่านมาประชุมอาศรมแปซิฟิกที่วัดผาลาด เชียงใหม่ ในครั้งนั้น สุลักษณ์ได้สนับสนุนให้มีการแปลงานเขียนของหลวงปู่เป็นภาษาไทยหลายเล่ม พระไพศาล วิสาโล เล่าว่า ตอนที่ได้พบหลวงปู่ครั้งแรกนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ และรู้สึกประทับใจขบวนการชาวพุทธต่อต้านสงครามของท่าน โดยชาวพุทธอุทิศตัวเพื่อสันติภาพโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ต่อสู้ด้วยเมตตา กรุณา ไม่ใช่ความเกลียด ความโลภ 


หลวงปู่ได้มาเยือนประเทศไทยอีกหลายครั้ง เช่น ท่านได้มาร่วมงานภาวนา “สู่ศานติสมานฉันท์” เมื่อวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2550 และได้มาพำนักที่หมู่บ้านพลัม ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง นครราชสีมา หลายครั้ง เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 หลวงปู่ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ที่เป็นบ้านเกิดของท่าน แต่คำสอนของท่านยังอยู่กับเราไปอีกแสนนาน 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ