ข่าว

"ดร.โคทม" ชี้กฏหมายไม่ได้ยุติธรรมเสมอไป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จัดงานสัมมนา"รัฐสภากับการพัฒนาระบบกฎหมาย อำนวยความยุติธรรม และพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" ด้าน "โคทม" ยัน กม.ไม่ได้ยุติธรรมเสมอไป ดังนั้น กม.ต้องอยู่ใต้หลักยุติธรรม

         วันที่ 27 กันยายน 2563 ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏรจัดงานสัมมนา “รัฐสภากับการพัฒนาระบบกฎหมาย อำนวยความยุติธรรม และพิทักษ์สิทธิมนุษยชน”

 

         ทั้งนี้มีการบรรยายพิเศษ “คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ กับความหวังในการอำนวยความยุติธรรม และพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” โดย รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ

 

         จากนั้นมีการเสวนา “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย ความก้าวหน้าครั้งใหม่ของสิทธิมนุษยชนไทย” โดย นางสาวสิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ญาติของคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย  นางสาวอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายรังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการฯ

 

         อีกทั้งยังมีการบรรยายพิเศษ “พรรคการเมืองกับการแก้รัฐธรรมนูญ” โดย นายรังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการฯ

 

       นอกจากนี้ในช่วงบ่ายมีการเสวนา“บทบาทของรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ”โดยนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล  นางสาวพรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ  นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข สื่อมวลชนอิสระ       

        ทั้งนี้ รศ.ดร.โคทม   อารียา บรรยายพิเศษ “กมธ.กฎหมายกับความหวังในการอำนวยความยุติธรรมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” ว่า เมื่อปี 2550 รัฐให้สัตยาบรรณรับรองกติกาสากล ว่าด้วย การป้องกันการทรมาน ต่อมาอีก 5 ปีรัฐไทยก็ลงนามกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วย การป้องกันการอุ้มหาย ซึ่งรัฐไทย จะต้องมาออกกฎหมายภายในให้สอดคล้อง จึงเป็นร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายดังกล่าว ผ่าน สนช.ในยุค คสช.

 

         กระทั่ง กมธ.กฎหมายปัจจุบัน นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นและนำเข้าสู่สภาพิจารณาต่อไป มีการกำหนดการเยียวเหยื่อ, การกำหนดหรือลงโทษผู้กระทำผิดโยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการระบุถึงหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบของเจ้าพนักงาน ไม่ถือเป็นหลักฐานทางคดีได้ด้วยนั้น อยากขอให้ประชาชนตื่นตัว ติดตามความคืบหน้า เพื่อการมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดไว้

 

       รศ.ดร.โคทม กล่าวถึงกรณีทรมานและอุ้มหายในประเทศ รวมถึงการผลักดันกฎหมายป้องกันเรื่องนี้นั้น คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกหรือตระหนัก เพราะคิดว่าไม่ถึงตัวเขา แต่วันใดที่โดนกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมรังแกแล้วจะรู้สึก ดังนั้น การปกป้องสิทธิ์ของคนๆเดียวไม่ให้ถูกรังแก ถือเป็นการปกป้องหลักยุติธรรมและคนในสังคมไม่ให้ถูกรังแกหรือเลือกปฏิบัติด้วย    

       รศ.ดร.โคทม ยืนยันด้วยว่า กฎหมายไม่ได้ยุติธรรมเสมอไป ดังนั้น กฎหมายต้องอยู่ใต้หลักยุติธรรม โดยยกหลักคิดของ “จอห์น รอลว์ส” นักปรัชญาการเมืองและทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรม ชาวอเมริกัน ที่นิยามความยุติธรรมว่า

 

     1.) คือ โอกาสเท่าเทียมกันของคนทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย 2.) ความยุติธรรม ต้องช่วยผู้ด้อยโอกาสในจำนวนที่มากที่สุดให้ได้โอกาสมากขึ้น และ 3.)​ยังต้องมีหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

 

     ดังนั้น อำนาจรัฐจะอ้างคุณค่านามธรรม ทั้งความมั่นคง ความสงบต่างๆ มาลิดรอนสิทธิ์ปัจเจกบุคคลไม่ได้ รวมทั้งจะอ้างว่า หากเป็นคนดี ไม่ได้ทำผิด ไม่ต้องกลัวนั้น ก็ฟังไม่ขึ้น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ