คอลัมนิสต์

รถไฟด่วนล้านช้าง "รถไฟจีน-ลาว" ดันท่าบกท่านาแล้งเชื่อมรถไฟไทยฟจีน-ลาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยไม่ตกขบวน "รถไฟจีน-ลาว" เปิดตัวรถไฟสินค้าชื่อด่วนล้านช้าง จากคุนหมิงถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เชื่อมต่อรถไฟไทย ผ่านท่าบกท่านาแล้งริมฝั่งโขง คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

เปิดตัวขบวนแรก “รถไฟจีน-ลาว” ชื่อด่วนล้านช้าง วิ่งความเร็ว 120 ก.ม.ต่อชั่วโมง ขนส่งสินค้าสากล จากคุนหมิงถึงนครหลวงเวียงจันทน์

 

ไทยเตรียมเชื่อม “รถไฟจีน-ลาว” ส่งสินค้าออก ผ่านท่าบก-ท่านาแล้ง และสถานีเวียงจันทน์ใต้ ดีเดย์เดือน ก.พ.2565

 

ครบ 1 เดือน “รถไฟจีน-ลาว” ศุลกากรคุนหมิงแจงมีรถไฟขนส่งสินค้าทั้งสิ้น 116 ขบวน และมีปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้ามากถึง 49,800 ตัน

 

วันที่ 10 ม.ค.2565 สำนักข่าว CRI วิทยุสากลจีน รายงานว่า รถไฟขนส่งสินค้าชื่อขบวนด่วนล้านช้าง จากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มุ่งหน้านครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เป็นขบวนขนส่งสินค้าสากลขบวนแรกที่วิ่งด้วยความเร็ว 120 ก.ม.ต่อชั่วโมง บนเส้นทางรถไฟลาว-จีน โดยระยะแรก จะวิ่งวันละ 2 เที่ยว ใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง

 

วันเดียวกัน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีพาณิชย์ ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดน บริเวณด่านศุลกากรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย พร้อมเตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนหอการค้าภาคอีสาน เข้าร่วมประชุมหารือ ในประชุม กรอ.พาณิชย์อีสาน เพื่อร่วมหาแนวทางร่วมกันในการใช้โอกาสเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ในการส่งออกสินค้าไทย

ปัจจุบัน ทางรถไฟจีน-ลาว มาถึงสถานีเวียงจันทน์ใต้ ซึ่งจะมีการจัดตั้งท่าเรือบก (Dry Port)ขึ้นมา เป็นท่าทำการบริหารจัดการทุกอย่างทั้งวิธีการศุลกากร การขนถ่ายตู้สินค้าต่างๆ เพื่อขึ้นรถไฟลาว-จีน คาดว่าเดือน ก.พ.2565 จะแล้วเสร็จ

 

ไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยการขนสินค้าข้ามผ่านสะพานหนองคายและไปลงที่ฝั่งลาว ผ่านจุดท่าเรือบก (Dry Port) เปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าขึ้นรถไฟไปจีนได้ต่อไป

 

‘ท่าเรือบก’

หลายคนอาจคิดว่าไทยตกขบวน “รถไฟจีน-ลาว” แต่การเปิดใช้ท่าบก-ท่านาแล้ง เป็นท่าเรือบก(Dry Port) ก็สามารถขนส่งสินค้า ด้วยตู้คอนเทนเนอร์จากไทย-ลาว-จีน และจากจีน-ลาว-ไทย ได้ รวมถึงการส่งต่อไปยังประเทศที่สี่ผ่านประเทศไทยด้วย

 

โครงการท่าบก-ท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ที่บ้านดงโพสี เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลลาว เพื่อเปลี่ยน สปป.ลาว จากประเทศไม่มีทางออกทะเลสู่ประเทศเชื่อมโยงภูมิภาค

ท่าบก-ท่านาแล้ง มีที่ตั้งติดกับสถานีรถไฟลาว-ไทย และสะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 1 ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อไปยังเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จุดนี้แหละที่จะเอื้อต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน

 

เมื่อเร็วๆนี้ จันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัทเวียงจันทร์โลจิสติกส์ กล่าวว่า เดิมทีการขนส่งสินค้าจากลาวไปยังจีนนั้น ต้องผ่านท่าเรือไทยก่อนจะส่งไปจีน ซึ่งใช้ระยะเวลาเกือบ 30 วัน ทว่านับตั้งแต่เปิดรถไฟจีน-ลาว ทำให้ใช้เวลาขนส่งเพียง 1 วันเท่านั้น

 

‘สินค้าจีนทะลัก’

ครบ 1 เดือน การเปิดใช้เส้นทาง “รถไฟจีน-ลาว” สำนักข่าวยูนนานเดลี่ ได้อ้างข้อมูลจากศุลกากรคุนหมิงว่า นับตั้งแต่รถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการมาแล้วเป็นเวลา 1 เดือน ได้มีการตรวจเช็คและอนุมัติให้รถไฟขนส่งสินค้าผ่านแล้วทั้งสิ้น 116 ขบวน โดยมีปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้ามากถึง 49,800 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 676 ล้านหยวน (ราว 3,380 ล้านบาท)

รถไฟไทยขนส่งสินค้าผ่านท่าบก-ท่านาแล้ง เชื่อมรถไฟจีน-ลาว

กรมศุลกากรคุนหมิงระบุว่า สินค้านำเข้าส่งออกผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวมีมากถึงร้อยกว่าชนิด แบ่งเป็นสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ยางพารา แร่เหล็ก ถ่านหิน เป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ผักสด ของใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์เครื่องกลไฟฟ้า เป็นต้น

 

สินค้าเหล่านี้มาจาก 7 มณฑลในจีน เช่น เหอเป่ย,ซานตง,เจียงซู,เจ้อเจียง,กว่างตง,เสฉวน, ฉงชิ่ง ฯลฯ และขนส่งไปยังประเทศลาวผ่านรถไฟจีน-ลาว โดยสินค้าบางส่วนได้ส่งต่อไปยังประเทศต่างๆ เช่นเมียนมา, ไทย และสิงคโปร์

 

ทั้งหมดนี้เป็นประมวลภาพรวมของ “รถไฟจีน-ลาว” ที่ไม่เพียง สปป.ลาว ได้ประโยชน์เท่านั้น ไทยและประเทศในอาเซียน ก็ได้อานิสงส์จากการขนส่งทางรางเช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ