คอลัมนิสต์

ธนาธิปไตยน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธนาธิปไตยน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า คอลัมน์...  ท่องยุทธภพ   โดย...  ขุนน้ำหมึก  

 


          ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ตอนหนึ่งระบุว่า สัปดาห์หน้าจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีไทย 20 คน "ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเรา ให้มากขึ้น ได้อย่างไรบ้าง"

 

อ่านข่าว...  นายกฯ ดึง 20 มหาเศรษฐีเมืองไทยช่วยเหลือประเทศ
 

 


          ปรากฏการณ์โซเชียลการเมือง มีการติดแฮทแท็ก #รัฐบาลขอทาน จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ และขาประจำดาหน้ากันออกมาเยาะเย้ยแนวคิดดังกล่าวมากมาย


          อันที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าจำกันได้ ปลายเดือน ธ.ค.2558 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้นำคณะนักธุรกิจเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการปฏิรูปประเทศ จึงคณะกรรมการภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในเวลาต่อมา


          มหาเศรษฐี 20 คนที่จะได้รับจดหมายจากนายกฯ ก็เป็นคนหน้าเดิมๆ ที่เคยเข้ามาถ่ายรูปร่วมกับนายกฯประยุทธ์ สมัยรัฐบาล คสช.


++


          ทุนลื่นไหล
++
          กว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ทุนธนาคาร ทุนโรงเหล้า ทุนโรงน้ำตาล ทุนโรงสีข้าว ต่างเติบโตบนเนื้อดินเผด็จการทหาร หรือพรรคข้าราชการ ที่ทรงพลังที่สุดในการเมืองไทย


          หลัง 14 ตุลา 2516 นักวิชาการไทยบอกเป็นการเปิดประตู “ทุนชาติ” เข้าสู่ถนนการเมือง แต่ผู้ก่อตั้งและผู้สนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ๆ ก็ยังเป็นทุนใหญ่ ผู้งอกงามจากเนื้อดินเผด็จการทหาร


          ปี 2544 เลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 “ทักษิณ ชินวัตร” นักธุรกิจโทรคมนาคม ไทคูนแสนล้าน เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนายทุนใหญ่คนแรกของเมืองไทยที่ได้เป็นผู้นำรัฐบาล


          นักวิชาการสมัยนั้น จึงเรียกรัฐบาลพรรคไทยรักไทยว่า รัฐบาลของนายทุน-โดยนายทุน-เพื่อนายทุนของทักษิณ ชินวัตร แม้แต่เกษียร เตชะพีระ ยังให้คำนิยามระบอบทักษิณว่า เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง (elected capitalist absolutism)


          จุดเด่นของกลุ่มทุนไทยคือ ลื่นไหลไปตามสถานการณ์การเมือง ไม่ว่าระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบเผด็จการ ทุนไทยได้แชร์อำนาจทุกครั้งไป


++

 

 

 

 

ธนาธิปไตยน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

"24 เจ้าสัว" พบ "นายกฯประยุทธ์" ปี 2558

 

          เจริญ 1 
++
          ในโซเชียลจะแชร์โพสต์ที่ว่า ประเทศไทยมีแต่ “เจริญ” และ “เจริญ”  เพราะไม่มีใครปฏิเสธว่า 2 กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ทรงอิทธิพล ที่มีบทบาทในแทบทุกแวดวงธุรกิจคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” และ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรไทยเบฟ, ทีซีซีกรุ๊ป และอื่น ๆ อีกมากมาย


          เวลาที่พูดถึงการเมือง เจ้าสัวเจริญกับเจ้าธนินท์ มีความต่างกัน เจ้าสัวเจริญจะไม่เล่นโฉ่งฉ่าง แต่วางผู้คนไว้ในแวดวงราชการ และมีคอนเนกชั่นกับทุกพรรคการเมืองใหญ่


          ส่วนเจ้าสัวธนินท์จะเล่นเอง ลุยเอง อย่างสมัยรัฐบาลทักษิณ เจ้าสัวซีพี เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง, คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง และที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.)


++


          เจริญ 2
++
          "สุขภาพ-เป็นของเราเอง เงินทอง-เป็นของคนอื่น อำนาจ-เป็นเรื่องชั่วคราว ชื่อเสียง-ติดตัวเราไปตลอดกาล" คำพูดของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี


          ด้วยเชื่อว่า “อำนาจเป็นเรื่องชั่วคราว” คนอย่างเจ้าสัวไทยเบฟ จึงไม่เอาตัวเองไปผูกติดกับพรรคการเมือง หรือรัฐบาลไหน


          สมัยรัฐบาลทักษิณ เจ้าสัวเจริญและและครอบครัว จะไม่มีตําแหน่งเป็นรัฐมนตรีหรือที่ปรึกษารัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ แต่โดยส่วนตัวก็เคยประกอบธุรกิจกับทักษิณ 


          ทุกการเลือกตั้งทั่วไป กลุ่มทุนหน้าเดิมๆ จะกระจายการสนับสนุนให้พรรคการเมือง ทุกสีทุกขั้ว ไม่มีหรอก ทุนก้าวหน้าหรือทุนล้าหลัง นั่นมันเป็นวาทกรรมหลอกพวกไร้เดียงสา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ