คอลัมนิสต์

'ณรงค์ชัย' ชี้ รัฐบาลแก้เศรษฐกิจวิกฤติ' โควิด'ตรงจุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ณรงค์ชัย' ชี้ มาตรการแก้ไขผลกระทบเศรษฐกิจของรัฐบาลจากวิกฤติ'โควิด' ตรงจุด ระบุ จำเป็นต้องกู้เพื่อรักษาโครงสร้างไม่ให้พัง ช่วยคนที่ไม่มีรายได้ ต้องหยุดทำงาน  แนะรัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้เร็ว เร่งดูแลสภาพคล่องก่อนพังเพราะ วิกฤติ'โควิด' หนักกว่า'ต้มยำกุ้งปี 40'

   ดร. ณรงค์ชัย   อัครเศรณี อดีต รมว. พาณิชย์ และ อดีต รมว.พลังงาน อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์  ได้ให้สัมภาษณ์  ในประเด็นที่รัฐบาลกู้ยืมเงิน จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท กู้มากเกินไปหรือไม่ สามารถตอบโจทก์ แก้ปัญหาในขณะนี้ได้ตรงจุดหรือไม่ ว่า ต้องมองภาพรวมก่อนว่าภาวะวิกฤติ 'โควิด' สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง แล้วจึงค่อยมามองมาตรการของรัฐบาล  ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ ก็คือปัญหาสภาพคล่องของประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ประชาชนที่หาเงินเดือนชนเดือนแต่มีรายจ่ายประจำเดือน บริษัทที่ต้องปิดกิจการ ไม่มีรายได้แต่รายจ่ายยังมีอยู่ 

   "ดังนั้นที่เขาพยายามทำกันอยู่ก็คือแก้ไขสภาพคล่องทั้งระบบของทุกคน  ที่กู้มาก็คือพยายามช่วยคนที่ไม่มีรายได้เพราะหยุดทำงาน ส่วนมากจะเป็นลูกจ้างรายวันและลูกจ้างอิสระมีการจัดให้  5,000 บาท รวม 3 เดือน ก็เป็นเรื่องของสภาพคล่อง ส่วนมากจะเอามาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่คนหาเช้ากินค่ำและคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมแล้วถึง 9ล้านคน จึงต้องมีการกู้เงิน ซึ่งมาช่วยคนและระบบสาธารณสุข " 

                    

    ณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า  ประเด็นต่อมา คือ ทำอย่างไรไม่ให้ระบบของประเทศพัง ซึ่งก็คือเรื่องของสภาพคล่องของทุกคน ทุกระดับ ถ้าโรคนี้ลามไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ช๊อตวันนี้ ก็ต้องช๊อตในที่สุด ก็เหมือนปี 2540  ในเรื่องปัญหาสภาพคล่อง แต่ครั้งนั้นระดับบน ระดับบริษัท แต่ครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ระดับล่างไปเลยไล่ไปจนถึงระดับบน ซึ่งต่างจากปี 2540 

     ดร.ณรงค์ชัย บอกว่า ตอนนี้มีทั้งกู้และจัด คือ การที่รัฐบาลจัดเงินให้กับคนที่ไม่มีรายได้ เช่น 5,OOO บาท 3 เดือน  ส่วนมากจะเอามาจากงบประมาณ คนหาเช้ากินค่ำ มีมากกว่า 3ล้านคน และที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาเกี่ยวกับการช่วยสถาบันการเงินข้างบน ถูกต้อง เพราะเป็นการช่วย ไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องและการตื่นตระหนกถอนเงิน บทเรียนที่เราได้จากปี 2540 เราจึงมาแก้เรื่องสภาพคล่อง

  " ผลกระทบต่อคนทั่วไป กรณี'โควิด' รุนแรงกว่า เหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ปี 2540 เพราะถูกให้หยุดทำงาน สังคมไทยมีคนที่อยู่ในวัยทำงานเกือบ 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ หาเช้ากินค่ำอยู่ในภาคบริการรวมทั้งเกษตรกร ไม่ได้เป็นลูกจ้างเงินเดือน  คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบเกือบหมดเลย ดังนั้นที่ประคองกันอยู่นี้ถูกต้องที่สุดกระทบต่อตัวคนทุกคนมากกว่าปี 2540 โดยเฉพาะการฟื้นและมาตรการที่ออกมาทำได้เร็วกว่าปี 2540 โดยเฉพาะระดับบน ดังนั้นจึงหวังว่ามาตรการทั้งหลายที่รัฐบาลออกมาจะปฏิบัติได้เร็ว สภาพคล่องก็เหมือนอ๊อกซิเจน คนหาเช้ากินค่ำ ถ้าไม่มีเงินตายแน่นอน  ส่วนบริษัทขนาดเล็ก ก็ไม่มีสภาพคล่อง เหมือนกัน เพราะไม่มีรายได้  การผ่อนผันชำระเงินอย่างที่ธนาคารออมสิน ทำดีมาก บางประเทศใช้วิธีจ่ายเงินเดือนพนักงานบริษัทแทนส่วนหนึ่ง และรัฐบาลต้องช่วยลดรายจ่ายของประชาชน" 

   ณรงค์ชัย กล่าวว่า  กลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด ก็คือ กลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระหาเช้ากินค่ำที่ช่วย 5,000บาท  ต่อมาก็คือบริษัทขนาดเล็ก กลางทั้งหลาย เพื่อให้ค่าใช้จ่ายเขาน้อย ผ่อนปรนเรื่องเงินต้น ดอกเบี้ย  และเรื่อง พันธบัตร เงินกู้ทั้งหลายต้องทำให้ดี มิเช่นนั้นจะมีปัญหาสภาพคล่อง 

   "มาตรการครั้งนี้คิดละเอียด ขอเชียร์ให้ทำให้ได้ ส่วนที่โจมตีรัฐบาลว่าดีแต่กู้นั้น กระทรวงการการคลังคงตั้งวงเงินไว้อย่างนั้นเอง แต่คงกู้เงินจริงไม่ถึงจำนวนดังกล่าว แต่ตอนนี้ต้องกู้อยู่แล้ว เพื่อมารักษาโครงสร้างซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าโครงสร้างพังแล้วสร้างใหม่ไม่ได้ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการกลับมา รัฐบาลต้องกู้เงิน เพื่อเติมให้ประชาชนที่ไม่มีพลัง อยู่ได้ ส่วนการที่ธนาคารประเทศไทย อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็เป็นการช่วยและทำได้  ธนาคารกลางสามาถบริหารทรัพย์สินทีมีได้อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง " 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ