คอลัมนิสต์

เราไม่ได้บอกว่าจะ"แก้" หรือ"ไม่แก้" รัฐธรรมนูญ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" "เราไม่ได้บอกว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ คอลัมน์... Exclusive Talk

 



          การเมืองว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ได้เป็นกระแสใหญ่ของสังคม แต่ในมุมหนึ่งการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการนั้นมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจพอสมควรเลยทีเดียว

 

อ่านข่าว...   แก้รัฐธรรมนูญ  เสริมแกร่งบัลลังก์ บิ๊กตู่

 

 

          ทั้งนี้ เป็นเพราะการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ใกล้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายนนี้ ตามเวลาที่สภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดเอาไว้ จึงเป็นจังหวะดีที่จะได้มีโอกาสสนทนากับประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นหรือไม่


          พีระพันธุ์ เริ่มต้นอธิบายว่า “การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีความคืบหน้าไปถึง 60% และมีคณะอนุกรรมาธิการอีกสองชุดที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป โดยคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่มีท่านวัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากประชาชนในกลุ่มต่างๆ ด้วยว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และอีกคณะคือ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ที่มีท่านไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ซึ่งจะไปวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญและนำมาเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในแต่ละสัปดาห์”


          กับคำถามที่ถามว่าเป้าประสงค์ต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “ไม่ใช่ครับ เราต้องการให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่มีบทบัญญัติไหนที่ดีอยู่แล้ว หรือว่าถ้าจะดีกว่านี้หากมีการเพิ่มตรงนั้นตรงนี้เข้าไปหรือปรับปรุงแก้ไข หรือพิจารณาว่ามีบทบัญญัติอะไรบ้างที่ควรมีแต่ไม่มี เราจะสรุปเป็นรายงานและข้อเสนอแนะไปว่ารัฐธรรมนูญควรปรับปรุงแก้ไขส่วนไหนบ้างเป็นเรื่องๆ แต่เราจะไม่ได้บอกว่าจะแก้มาตรานั้นมาตรานี้ เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้”

 



          "พยายามชี้แจงมาตลอดตั้งแต่ต้นว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ไม่ได้จะมาบอกว่าต้องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่เราจะเสนอให้เห็นว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ส่วนจะมีการแก้ไขหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง"


          ขณะเดียวกัน ในมุมหนึ่งพีระพันธุ์ ยอมรับว่าได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาพอสมควร และคิดว่าไม่ได้มีความแตกต่างกับฉบับอื่นๆ ในภาพรวมมากนัก เว้นแต่ในเรื่องการเลือกตั้งและอำนาจหน้าที่ของส.ว.


          “ผมอ่านแล้วจริงๆ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ มากมายเท่าใดนัก แต่ที่ต่างมากๆ คือ ระบบและวิธีการเลือกตั้ง โครงสร้างอำนาจหน้าที่ของส.ว.”


          “ที่แตกต่างที่ผมเรียน เช่น รัฐธรรมนูญในอดีตไม่เคยมีการใช้เสียงของ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และวิธีการเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ ส่งผลเรื่องการนับคะแนน ซึ่งนี่เป็นรูปแบบใหม่ แต่ในส่วนของสิทธิเสรีภาพก็คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ว่าอาจต้องเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจ หรือการให้ประชาชนใช้สิทธิของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น”


          “รูปแบบการเขียนรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา จะมีการล้อวิธีการเขียนแบบเดียวกัน คือ การเขียนที่เมื่ออ่านแล้วต้องโยงไปโยงมา เช่น คุณสมบัติของส.ส.ได้กำหนดไว้อย่างหนึ่ง แต่พอถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีก็ไปโยงเอาคุณสมบัติของส.ส.แต่ยกเว้นข้อนั้นข้อนี้ เวลาเราอ่านไม่สามารถทำความเข้าใจได้ พอถึงตรงนี้ต้องกลับไปดูที่ผ่านมาอีก ใครมันจะจำได้หมด มันไม่ควรเป็นแบบนี้ ควรจะเขียนลงไปเลย ไม่ต้องโยนหน้าโยนหลัง”


          สำหรับการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจมีวุฒิสภาเป็นอุปสรรคสำคัญนั้น พีระพันธุ์ มองว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธการวิสามัญชุดนี้โดยตรง เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีหน้าที่เพียงแค่ศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ


          “ผมมองคนละรูปแบบนะครับ ผมมองว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญแค่ทำหน้าที่ศึกษาเท่านั้น ยังไม่ได้มีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อเราทำรายงานเสร็จก็จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและจะลงมติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็ส่งรัฐบาล ยังไม่ไปเกี่ยวข้องกับส.ว. การจะไปเกี่ยวข้องกับส.ว. คือ ขั้นตอนที่จะมีการแก้ไขจริง”


          "อย่างในเรื่องบทเฉพาะกาลก็แล้วแต่มุมมองนะครับ มุมมองของคนร่างรัฐธรรมนูญก็คงคิดว่าในสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่สามารถที่จะยืนยันเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศและประชาชน ก็ต้องมีมาตรการอย่างไรเพื่อให้รัฐบาลทำงานเดินหน้าให้เกิดความสงบตามขั้นตอน จึงคิดว่าควรจะให้ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วม แต่คนที่มองอีกด้านหนึ่งอาจมองว่าอย่างนี้พวกคุณเตรียมการไว้ให้เฉพาะคุณเท่านั้น เอาอำนาจส.ว.มาบวก ทั้งหมดก็แล้วแต่คนจะมอง แต่สิ่งสำคัญผมคิดว่าไม่ว่าจะมองอย่างไร ขอให้มองเหมือนกันว่าประเทศชาติได้หรือไม่ประโยชน์ในเรื่องตรงนี้"


          ช่วงท้ายของการสนทนา แม้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯที่ออกตัวมาตลอดว่ามีหน้าที่แค่ศึกษาเท่านั้นโดยไม่เกี่ยวกับการแก้ไข แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้มีเสนอว่ารัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนได้ประโยชน์และประเทศชาติมั่นคง


          “รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนได้ประโยชน์และประเทศชาติมีความมั่นคง สังคมมีความสงบ มีความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม เวลาเกิดความไม่ถูกต้องและเกิดความไม่ยุติธรรม ประชาชนสามารถได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งนี่จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ในมุมมองผมไม่ใช่เรื่องเลือกตั้ง ไม่ใช่กระบวนการใช้อำนาจ นั่นเป็นแค่รูปแบบการบริหารราชการ แต่รัฐธรรมนูญจะดีที่สุดต่อเมื่อประชาชนใช้เป็นประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้” พีระพันธุ์ ทิ้งท้าย


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ