คอลัมนิสต์

บทเรียนคดีแพรวา...ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ล่าความจริง..พิกัดข่าว   โดย...  ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

          บทเรียนสำคัญจาก “คดีแพรวา” มีอยู่ 2 อย่าง คือ ในคดีแพ่ง การได้คำพิพากษาว่าเราชนะ ไม่ได้แปลว่าเราจะได้เงิน ภาษาที่ใช้พูดกันในหมู่ทนายก็คือ “ได้คำพิพากษา แต่ไม่ได้เงิน” เพราะกระบวนการบังคับตามคำพิพากษาเป็นขั้นตอนที่แยกต่างหากอีกส่วนหนึ่งกับการต่อสู้คดี และเป็นขั้นตอนที่ไม่ง่าย

 

 

          อีกหนึ่งบทเรียนที่ได้เรียนรู้ก็คือกระบวนการยุติธรรมไทยมีช่องโหว่ และมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เหยื่อที่เป็นคนยากจน หรือคนหาเช้ากินค่ำ เข้าถึงความยุติธรรมได้ยาก


          เรามาดูขั้นตอนของการบังคับคดีแพ่ง โดยยึดโยงจากคดีแพรวา จะสรุปเป็นขั้นตอนได้แบบนี้


          1.เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ผู้แพ้คดีจะมีสถานะเป็น “ลูกหนี้ตามคำพิพากษา” (ผู้ชนะคดีเป็นเจ้าหนี้) ถ้าผู้แพ้คดีไม่มาศาล และไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ศาลจะออก “คำบังคับ” ให้ปฏิบัติตาม โดย “คำบังคับ” นั้น ศาลจะกำหนดระยะเวลาให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วย กฎหมายกำหนดให้ไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยทั่วไปจะราวๆ 30 วัน นี่เป็นกรณีปกติแบบที่ผ่านๆ มา


          แต่ปัญหาก็คือจะมีกระบวนการส่งหมาย “คำบังคับ” ไปยังแหล่งที่อยู่ของผู้แพ้คดี ซึ่งขั้นตอนนี้จะกินเวลายาวที่สุดราวๆ 45 วัน ทำให้เสียเวลาและทำให้ผู้เสียหายที่ชนะคดีเสียโอกาส เพราะหลังได้รับ “คำบังคับ” แล้ว ก็ยังมีเวลาอีกราวๆ 30 วันในการปฏิบัติตาม รวมแล้วก็ 75 วัน


          ภายหลังจึงมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในส่วนของการบังคับคดี กรณีผู้แพ้คดีไม่มาศาล ให้ถือว่ารับทราบคำพิพากษาแล้ว ศาลจะออก “คำบังคับ” หรือไม่ก็ได้ แต่ถือว่าระยะเวลาที่ศาลให้ผู้แพ้คดีปฏิบัติตามคำพิพากษาจะเดินหน้าทันที เมื่อพ้นกำหนด หากผู้แพ้คดียังไม่ปฏิบัติตามก็จะถึงขั้นตอนที่ฝ่ายผู้เสียหายที่ชนะคดี ซึ่งเรียกว่า “เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา” ไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออก “หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี” เพื่อบังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา (หลังจากแก้กฎหมายแล้ว กระบวนการนี้ก็รวดเร็วขึ้นระดับหนึ่ง)




          2.เมื่อศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วก็จะต้องมีกระบวนการสืบทรัพย์ของ “ลูกหนี้ตามคำพิพากษา” ว่ามีอยูที่ไหนบ้าง เพื่อยึดอายัดมาขายทอดตลาด โดยฝ่ายผู้เสียหายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองถือเป็นภาระของฝ่ายผู้เสียหาย บาดเจ็บล้มตายแล้วยังต้องจ่ายเงินจ้างทนายสืบทรัพย์


          3.อายุความของการบังคับคดีคือ 10 ปี นี่คือขั้นตอนปกติตามกระบวนการ จะเห็นได้ว่าแม้ศาลจะพิพากษาให้เป็นฝ่ายชนะ ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้รับเงินชดเชยเยียวยาทันที แต่ยังมีกระบวนการขั้นตอนอีกมาก ยิ่งถ้าไปเจอพวกหัวหมอ ตั้งใจจะไม่จ่ายอยู่แล้ว จะทำให้การเรียกร้องยิ่งยากขึ้นไปอีก


          เทคนิคของพวกหัวหมอจะเริ่มที่...
          1.การไม่ยอมไปศาล ไม่ไปฟังคำพิพากษา เพื่อหวังยืดเวลาการบังคับตามคำพิพากษา (ฉะนั้นพวกที่ไม่ไปฟังคำพิพากษาทั้งตระกูล ทนายยังชิ่ง ไม่ยอมไป แบบนี้บอกได้เลยว่าส่อเบี้ยว)


          2.เมื่อผ่านกระบวนการที่ศาลออก “คำบังคับ” ให้ปฏิบัติตามแล้ว ฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็จะอ้างว่าไม่มีเงิน ให้ไปฟ้องเอา ซึ่งการฟ้องก็เท่ากับเปิดคดีใหม่ ต้องสู้กันอีกรอบ


          3.ผู้แพ้คดีบางรายเตรียมการไว้ล่วงหน้า ยักย้ายถ่ายโอนและขายทรัพย์สินไปหมดก่อนแล้ว เหลือแต่ตัวเปล่าๆ แบบนี้ฟ้องไปก็ไม่ได้อะไร สุดท้ายต้องฟ้องล้มละลาย ซึ่งก็จะไม่ได้อะไรอีกเช่นเดิม (เดี๋ยวนี้ถูกศาลสั่งล้มละลาย แค่ 3 ปีก็หลุดได้แล้ว)


          ที่ผ่านมาในวงการศาล วงการทนาย รับรู้กันดีว่า คดีแบบนี้มีเยอะมาก และกลายเป็นช่องทางให้พวกหัวหมอเบี้ยวจ่าย หรืออย่างน้อยก็ยืดเวลาจ่ายออกไปเรื่อยๆ หนีไม่พ้นก็เจรจาลดยอดจ่ายชดใช้ลงมาอีก ฝ่ายที่ชนะคดีต้องการเงิน ต่อสู้มานาน ขอลดลงเท่าไหร่ก็มักจะยอม


          ผู้รู้บางคนเสนอว่า ถ้ามีการยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์สิน ให้ยื่นฟ้องเพิ่มฐาน “ฉ้อโกงเจ้าหนี้” ฟังดูก็ขึงขังดี แต่การฟ้องจริงๆ ก็ยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการ เช่น ต้องดูว่าเป็นการยักย้ายถ่ายโอนโดยทุจริต หรือเจตนาหนีหนี้หรือไม่ ยกตัวอย่างถ้าผู้แพ้คดีมีทรัพย์สินราคาสูงๆ อยู่ไม่มาก แล้วโอนให้ญาติพี่น้องโดยเสน่หา แบบนี้น่าจะเข้าข่ายโกงเจ้าหนี้ หรือมีการขายอย่างเร่งรีบในราคาถูกให้ญาติ แบบนี้ก็เข้าข่าย แต่ถ้าผู้แพ้คดีมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนมากและขายออกไปบางส่วนอาจเป็นการขายตามปกติ หรือหาเงินมาสู้คดี และผู้รับโอนหรือผู้ซื้อ ก็ซื้อโดยสุจริต อย่างนี้ก็ฟ้องเพื่อบังคับเอาคืนมาชำระหนี้ได้ยาก


          ยิ่งไปกว่านั้นทั้งกระบวนการสืบทรัพย์เพื่อบังคับคดี เพื่อยึดอายัดทรัพย์สิน รวมไปถึงการฟ้องเพิ่ม เช่น ฟ้องฉ้อโกงเจ้าหนี้ ทั้งหมดนี้ถ้าเราจ้างทนายก็ต้องจ้างเพิ่ม เพราะทนายที่สู้คดีมาแต่ต้นจะรับผิดชอบแค่มีคำพิพากษาเท่านั้น ส่วนกระบวนการหลังจากนั้นถ้าจะใช้ทนายอีกต้องจ้างเพิ่ม แยกเป็นอีก 1 สัญญา หลายคดีผู้เสียหายหรือคู่ความไม่เข้าใจ ทะเลาะผิดใจกันก็เยอะ กลายเป็นเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้นไปอีก


          ที่สำคัญการสืบทรัพย์เป็น “ศาสตร์พิเศษ” อย่างหนึ่ง ต้องใช้ทนายที่เก่งและมีประสบการณ์ เวลาเขาคิดค่าจ้าง เขาจะให้ตกลงขอส่วนแบ่งทรัพย์ที่ยึดได้มากถึง 20-30% เลยทีเดียว


          ทั้งหมดนี้คือ “กรรม” ของคนที่ต้องมีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยมีค่าใช้จ่ายสูง และหลายๆ คดีก็บังคับตามคำพิพากษาไม่ได้ ทำให้คนจน ผู้ด้อยโอกาส หรือแม้แต่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วๆ ไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้...เสียเปรียบอยู่ร่ำไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ