คอลัมนิสต์

วงวิชาการเสาะหาภูมิคุ้มกันเชื้อร้ายความเกลียดชัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... จิตตราภรณ์ เสนวงศ์

 

 

 

          เป็นเรื่องน่าตกใจที่สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาการสร้างความเกลียดชังที่นำไปสู่การสร้างความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางความคิดทางการเมืองในห้วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณี นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกกระทำถึง 9 ครั้งในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่สามารถดำเนินการกับผู้ที่กระทำความผิดได้ และล่าสุด นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

 

 

          หากมองย้อนในอดีตสาเหตุการสร้างความเกลียดชังถูกฝังลึกในสังคมไทย และเพิ่มดีกรีความเข้มข้นในช่วง 10 กว่าปี นับแต่วิกฤติทางการชุมนุมทางการเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหารถึง 2 ครั้ง


          ปัญหาความเกลียดชังจนนำไปสู่คสามรุนแรงจึงเป็นที่มาของการเปิด เวทีจุฬา เสวนา ครั้งที่ 21 เรื่อง “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย” เพื่อชี้ให้เห็นถึงสาเหตุและผลกระทบจากการเมืองในปัจจุบันที่แบ่งเป็นแบบขั้ว ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทั้งทางตรงต่อร่างกาย มีการคุกคามทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง การตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายเห็นต่างจากรัฐบาล การสื่อสารตอบโต้กันทางสื่อสังคมออนไลน์ การใช้คำพูดในลักษณะ Hate Speech โดยมองข้ามเรื่องการเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

 

 

 

วงวิชาการเสาะหาภูมิคุ้มกันเชื้อร้ายความเกลียดชัง

 


          ทั้งนี้เวทีเสวนาเริ่มต้นฉายภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการสร้างความเกลียดชังผ่าน Hate Speech อย่าง ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าว่า ที่ผ่านมาแอมเนสตี้เคยรณรงค์เรื่องคัดค้านการโทษประหารชีวิต หรือการช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงยา คืออยากให้เป็นแรงบันดาลใจให้คนเห็นถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ต้องมาตั้งคำถามว่า สังคมไทยเกิดอะไรขึ้น  ซึ่งมีประชาชนหลายภาคส่วนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และนำไปสู่การด่าทอ ด้วยการใช้ Hate Speech ผ่านโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก ทั้งการสร้างข่าวและเพจโจมตี หรือแม้แต่การข่มขู่ต่างๆ นานา และลามไปถึงบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมสนับสนุน หรือทำกิจกรรมกับแอมเนสตี้ก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากโซเชียลมีเดีย สามารถเผยแพร่และรับข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อยากจะสะท้อน 




          “กรณีของนายสิรวิชญ์ แอมแนสตี้เข้าไปแสดงบทบาทเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ โดยให้ใส่เสื้อปรากฏข้อความ “ทุกคนคือจ่านิว” เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า นายสิรวิชญ์ คือมนุษย์คนนึง แม้จะไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขา แต่เขาก็ไม่ควรโดนทำร้ายเช่นนี้ และนายสิรวิชญ์ไม่ได้ถูกทำร้ายทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังถูกทำร้ายทางโลกออนไลน์ที่กระทบไปถึงนักปกป้องสิทธิและนักกิจกรรมที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงก็โดนไปด้วย โดยเกิดจากปกติความไม่เชื่อใจและข่าวลือต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น”


          นอกจากนี้ปิยนุชยังเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจให้สิทธิเสรีภาพใการแสดงออกให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากในปัจจุบันพื้นที่ในการแสดงออกถูกจำกัดสิทธิ์ไปมาก นับวันมีแต่จะแคบลงและบีบตัวเล็กลงเรื่อยๆ ถือเป็นความเป็นห่วงใยว่าต่อไปจะเหลือพื้นที่ให้หาคำตอบในเรื่องความรุนแรงจะสามารถทุเลาได้หรือไม่

 

 

 

วงวิชาการเสาะหาภูมิคุ้มกันเชื้อร้ายความเกลียดชัง

 


          ทั้งนี้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เป็นสื่อหลักก็มีบทบาทที่สามารถเป็นได้ทั้ง ‘ลม’ คอยพัด ความเกลียดชังให้กระพือไปไกล และเป็นได้ทั้ง ‘น้ำ’ ช่วยดับไฟให้มอดลง ผ่านมุมมองของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ที่เห็นว่าท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะวิกฤติทางการเมือง ‘สื่อมวลชน’ หรือ ‘นักข่าว’ มีทางเลือก 2 ทาง คือ ฆ่าความจริง และพูดความจริง แต่หากมองในบทบาทหน้าที่ของ ‘สื่อมวลชน’ คือพูดความจริงและทำให้ความจริงให้เปิดเผยแต่วิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ และทุกครั้งที่เกิดวิกฤติก็จะมีสื่อที่รายงานความจริงและสื่อที่พยายามจะฆ่าความจริง โดยการสร้างเรื่องหรือ ‘สตอรี่’ เนื่องจากคนไทยชอบดราม่าหรือเรื่องเล่า ทำให้ข่าวที่เป็นวิกฤติถูกลดทอนเป็นแค่เรื่องดราม่า ก็จะดูง่าย แทนที่จะค้นหาความจริง สื่อประเภทนี้มีหน้าที่แค่ส่งต่อข้อมูล หรือฟอร์เวิร์ดเมล และสาเหตุหนึ่งของความเกลียดชังเกิดจากวัฒนธรรมและความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ โดยปราศจากข้อซักถาม แต่ปัจจุบันสิ่งที่น่าสลดใจไปกว่านั้นเพราะไม่ทันฟังก็เชื่อแล้ว ซึ่งความเป็นจริงเราควรจะฟังความคิดเห็นของทุกๆ คนส่วนความเชื่อเป็นเรื่องของเรา 


          วันชัย ยังเชื่อว่ามีสื่อจำนวนมากที่ยังมีจรรยาบรรณแม้ว่าจะเป็นสื่อเลือกข้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วโลก แต่ต้องมีความเป็นมืออาชีพคือให้พื้นที่ในการเผยแพร่ข่าว ให้คนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง สุดท้ายแล้วการสร้างความน่าเชื่อถือของสื่อคือภูมิคุ้มกันของสื่อเองและหัวใจสำคัญไม่ใช่เรื่องของความเป็นกลางแต่คือความน่าเชื่อถือ การแสวงหาข้อเท็จจริง จะทำให้สื่อปลอมค่อยๆหายไป ก็จะบรรเทาความรุนแรงในสังคมได้


          "เรื่องของนายสิรวิชญ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีแม้ว่าจะมี Hate Speech แต่ก็ยังมีคนทั้งสองฝ่ายที่มีสติพอที่ออกมาพูดประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าเหตุการณ์นี้หากมองในแง่บวก คนกลางๆ มองว่าเป็นการล้ำเส้น ซึ่งขณะนี้เราอยู่ในยุคของสงครามข่าวสาร ทุกฝ่ายต้องการยึดมวลชนขยายฐานมวลชน แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วในระยะยาว การพูดความจริงจะชนะการฆ่าความจริง แต่ในระยะสั้นการฆ่าความจริงจะขยายวงเร็วมาก คนที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบอยู่ร่วมกันได้กับทุกฝ่ายยังมีมาก อยู่ที่ว่าสื่อที่น่าเชื่อถือขยายผลขึ้นหรือไม่ โดยสำนึกของคนทำสื่อคือความน่าเชื่อถือ สุดท้ายคือมีศักดิ์ศรีของตัวเอง

 

 

 

วงวิชาการเสาะหาภูมิคุ้มกันเชื้อร้ายความเกลียดชัง

 


          ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนเราเห็นหน้ากันจะรู้สึก ได้เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่าความเกลียดชังจะทำงานได้รวดเร็วและทรงพลังมาก โดยไม่เกี่ยวข้องกับเหตุและผลหรือการศึกษา ขณะนี้สังคมไทยกำลังไปเชิญกับสถานการณ์และปรากฏการณ์ที่ถูกสงสัยว่าไม่ใช่เรื่องขององค์ความรู้ เหตุการณ์ทำร้ายนายสิรวิชญ์ ไม่ควรพูดถึงเฉพาะกรณีนี้เพราะไม่เป็นธรรม ยังมีอีกหลายคนที่ถูกทำร้าย 


          “แต่เราเห็นเหตุการณ์สิรวิชญ์ถูกทำร้าย เราเห็นอะไรบ้าง คนกลุ่มหนึ่งก็จะเห็นว่าสิรวิชญ์เป็นนักต่อสู้ทางระบอบประชาธิปไตย ควรเป็นฮีโร่เพราะเสียสละ แต่อีกฝ่ายมองว่าพวกนี้รับเงิน ถูกกล่าวหาว่าทำตัวเอง แต่สำหรับผมในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสิรวิชญ์เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นนักศึกษาในชั้นเรียนของผม ผมเห็นสิรวิชญ์ไม่ได้มองเป็นนักต่อสู้ประชาธิปไตยแต่เห็นเป็นหมูตัวหนึ่งน่ารักตัวอ้วนๆ ที่นั่งอยู่ในห้องเรียน และมักจะมีคำถามที่น่าสนใจ แต่ตลอดเวลาที่สิรวิชญ์อยู่ในชั้นเรียนเขาสุภาพเรียบร้อยและเขามีความอ่อนโยนมากเมื่อพูดถึงมารดา นี่คือสิ่งที่ผมเห็น สิ่งที่เกิดขึ้นคือความป่าเถื่อนในสังคมไทยที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร ที่มีความคิด ความเชื่อเป็นของตัวเอง”

 

 

 

วงวิชาการเสาะหาภูมิคุ้มกันเชื้อร้ายความเกลียดชัง

 


          ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ย้ำว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยอยู่ในจุดที่เรียกว่าเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อที่มีบริบทของอำนาจที่เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทำให้เกิดการรังแกกันง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้หาทางออกไม่ได้และติดกับดักอยู่ในนั้น ผลที่ตามมาคือการระบายความทุกข์ ด้วยการด่าทอ หยาบคาย แสดงความป่าเถื่อนปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์ สำหรับทางแก้ไข การคุ้มครองป้องกันโดยพลเรือนในสถานการณ์ลำบากที่มีความรุนแรงในที่ต่างๆ โดยไม่ใช้อาวุธและความรุนแรง ให้ประชาชนคุ้มครองด้วยกันเอง อย่างเช่น ศรีลังกา


          หรืออีกทางคือรัฐสภา ควรจะมีโครงการต่างๆ ที่นำคนมาทะเลาะกัน หาจุดที่เห็นพ้องต้องกัน หาแนวทางแก้ไข โดยเห็นผู้ถูกกระทำเป็นลูกหลานไม่ใช่ผู้เห็นต่าง เพื่อปกป้องสังคมไม่เกิดเหตุอย่างนี้ หรือสิงคโปร์ ออกกฎหมายควบคุมข่าวลวงและออนไลน์ เนื่องจาก Hate Speech มีคุณสมบัติพิเศษส่งต่อผ่านกันได้เหมือนเชื้อโรค และต้องใช้แนวทางสาธารณสุขเข้าไปแก้ปัญหา ดูแลป้องกันการแพร่ระบาดอย่างไร


          ขณะที่ รศ.ดร.ฉันทนา บรรพสิริโชติ หวันแก้ว กรรมการก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนในสังคมไทยขาดเรื่องความทนกันได้ คือความอดทนอดกลั้นต่ำกับบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่าง โดยเฉพาะคนที่มีความคิดสุดโต่งนำไปสู่ความรุนแรง หากเป็นการกระทำอย่างมีแบบแผน อย่างเช่นกรณีนายสิรวิชญ์ สะท้อนว่าความเกลียดชังเป็นเรื่องอยู่นานและร้าวลึก คนมีอำนาจต้องให้ความสนใจ เราอยู่บนความขัดแย้งมา 10 ปี มีรัฐประหารแต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ ทำได้เพียงแค่ชะลอ และเมื่อโดนสะกิดก็แสดงออกมา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ